ซัมซุง (Samsung) เอชทีซี (HTC) และบริษัทพัฒนาแอปพลิเคชันสุดอื้อฉาวนามแคริเออร์ไอคิว (Carrier IQ : CIQ) กลายเป็นบริษัทกลุ่มแรกที่ถูกองค์กรรักษาสิทธิมนุษยชนในสหรัฐฯเปิดฉากฟ้องและเรียกร้องให้หน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมสหรัฐฯอย่างเอฟซีซี (FCC) ออกมาหาคำตอบโดยเร็วว่าทั้งหมดเป็นผู้ร่วมขบวนการสร้างแอปฯสอดแนมข้อมูลการใช้งานโทรศัพท์มือถือนับล้านเครื่องบนโลกเพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาเครื่องรุ่นใหม่จริงหรือไม่ ด้านแอปเปิลไหวตัวทัน ระบุว่าได้ยกเลิกการใช้แอปฯ ของ CIQ แล้วในไอโฟนและระบบปฏิบัติการเวอร์ชันล่าสุด
สตีฟ เบอร์แมน (Steve W. Berman) ทนายความจากบริษัทฮาเกนส์เบอร์แมน (Hagens Berman) ตัวแทนกลุ่มรักษาสิทธิมนุษยชนหลายแห่งในสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์หลังการยื่นเอกสารฟ้องร้องต่อศาลแคลิฟอร์เนียเหนือว่า การฟ้องร้องนี้เกิดขึ้นเพราะกลุ่มมีความเชื่อว่า CIQ นั้นลงมือเก็บข้อมูลและส่งต่อข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้สมาร์ทโฟนนับล้านคนบนเครื่องจริงตามที่มีการค้นพบและสื่อมวลชนรายงาน ซึ่งทั้งหมดเป็นการตรวจตราหรือมอนิเตอร์และเก็บบันทึกข้อมูลส่วนตัวที่ CIQ ไม่มีสิทธิ์ทำ
"การกระทำเหล่านี้ ซึ่งมีผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและโอเปอเรเตอร์ผู้ให้บริการเครือข่ายร่วมขบวนการด้วย อาจทำให้เกิดปัญหาความปลอดภัยด้านข้อมูลส่วนตัวขั้นร้ายแรงที่สุด"
คดีของซัมซุง เอชทีซี และ CIQ ถือเป็นคดีการฟ้องร้องชิ้นแรกนับตั้งแต่สื่อมวลชนสหรัฐฯเริ่มรายงานการค้นพบแอปฯสอดแนมการใช้งานในสมาร์ทโฟนหลายร้อยล้านเครื่องทั่วโลกช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (ปลายเดือนพฤศจิกายน 54) โดยก่อนหน้านี้ นักวิจัยนามเทรเวอร์ เอคฮาร์ต (Trevor Eckhart) เปิดเผยว่าพบแอปฯของบริษัท CIQ ฝังตัวในสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ (Android) หลายยี่ห้อ ที่ทำการส่งข้อมูลประวัติการใช้งานเครื่องกลับไปยังระบบคอมพิวเตอร์ของ CIQ ได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปวิเคราะห์เพื่อพัฒนาการทำงานของสมาร์ทโฟนรุ่นต่อไป
ไม่เพียงพูดเปล่า นักวิจัยรายนี้ยังยืนยันความจริงด้วยการเผยแพร่เอกสารภายในของ CIQ จนทำให้ CIQ ส่งจดหมายเตรียมฟ้องนักวิจัยฐานเผยแพร่เอกสารของบริษัทโดยไม่ได้รับอนุญาต จนทำให้เรื่องนี้กลายเป็นข่าวขึ้นมาใหญ่โต
แม้นักวิจัยรายนี้จะไม่ถูกฟ้องเพราะองค์กรรักษาสิทธิมนุษยชนยื่นมือเข้าช่วยเหลือ และ CIQ ได้ยอมยกเลิกแผนการฟ้องร้องไปพร้อมออกแถลงการณ์ปฏิเสธข้อหาเก็บข้อมูลของผู้ใช้สมาร์ทโฟนทุกกรณี แต่กรณีที่เกิดขึ้นสร้างแรงตื่นตัวให้หน่วยงานและองค์กรในสหรัฐฯชนิดไฟลามทุ่ง ซึ่งล้วนต้องการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่แน่นอนโดยเร็วที่สุดเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อไปมากกว่านี้
วุฒิสมาชิกจากพรรคเดโมแครตเริ่มส่งจดหมายถึง CIQ เพื่อให้บริษัทชี้แจงข้อเท็จเกี่ยวกับแอปฯ อื้อฉาวนี้โดยละเอียด พร้อมกับที่ FCC เตรียมตัวเข้ามาสอบสวนกรณีที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมเยอรมนีหลายแห่งออกมาขอให้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนยอดฮิตอย่างแอปเปิล (Apple) ชี้แจงรายละเอียดการใช้งานแอปฯ ของ CIQ ในไอโฟนให้ชัดเจน
ทั้งหมดนี้ CIQ แก้ต่างให้ตัวเองถึงข้อกล่าวหาที่ว่าข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้สมาร์ทโฟนจะถูกเก็บในซอฟต์แวร์ของ CIQ ว่าไม่เป็นความจริง
"ซอฟต์แวร์ของเราไม่มีการบันทึก จัดเก็บ หรือส่งออกคอนเทนต์ทั้ง SMS, อีเมล์, ภาพถ่าย, เสียง หรือวิดีโอของผู้ใช้ แต่ซอฟต์แวร์ของเราจะเข้าใจได้ว่า SMS ชิ้นนั้นถูกส่งได้อย่างราบรื่นหรือไม่ โดยจะไม่มีการส่งต่อข้อมูลเนื้อหาของ SMS นั้นๆ ซอฟต์แวร์นี้จะทำให้บริษัทรู้ว่าแอปฯใดผลาญแบตเตอรี่ แต่จะไม่มีการแคปเจอร์หน้าจอใดๆ"
แอปเปิลนั้นยอมรับกลายๆว่าเคยสนับสนุนแอปฯนี้ในไอโฟน โดยประชาสัมพันธ์ของแอปเปิลให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่าแอปเปิลได้ยกเลิกการใช้แอปฯ CIQ ในไอโฟนรุ่นล่าสุดแล้ว ซึ่งแอปเปิลนั้นออกแถลงการณ์ก่อนหน้าการเรียกชี้แจงของหน่วยงานเยอรมนีไปเพียง 1 วัน ว่าจะยุติการใช้แอปฯดังกล่าวอย่างเต็มรูปแบบในไอโฟนทุกเครื่องในอนาคต
เบื้องต้น ตัวเลขสมาร์ทโฟนที่คาดว่าจะติดตั้งแอปฯ CIQ นี้อยู่ที่ราว 140 ล้านเครื่อง ยังไม่มีรายงานรายละเอียดว่าเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นใด ระบบใดและเปิดใช้งานในพื้นที่ใดบ้าง ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ไม่แปลกหากบริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือจะใช้เป็นแหล่งข้อมูลศึกษาเรื่องความผิดพลาดของระบบ เพื่อจะนำไปวิจัยและพัฒนาต่อไป
นอกจากนี้ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 3 รายในสหรัฐฯอย่างเอทีแอนด์ที (AT&T), สปรินท์ (Sprint) และทีโมบายล์ (T-Mobile) รวมถึงผู้ผลิตมือถือ 4 รายทั้งแอปเปิล เอชทีซี ซัมซุง และโมโตโรลา (Motorola) ยังถูกฟ้องร้องในข้อหาละเมิดกฎหมายดักฟัง กฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ และกฎหมายด้านการสื่อสารระบบอิเล็กทรอนิกส์ของสหรัฐฯแล้ว ซึ่งยังไม่มีรายละเอียดกำหนดการพิจารณาคดีในขณะนี้
Company Related Link :
Carrier IQ
ที่มา: manager.co.th