เจมี โรเซนเบิร์ก (Jamie Rosenberg) ประธานฝ่ายดิจิตอลคอนเทนต์กลุ่มธุรกิจแอนดรอยด์ ขณะกล่าวบนเวทีเปิดตัวบริการ Google Music ในลอสแองเจลิส
อุปกรณ์แอนดรอยด์กว่า 200 ล้านเครื่องทั่วโลกกำลังจะได้รับบริการเพลงออนไลน์เพิ่มจากพี่ใหญ่กูเกิลอย่างเป็นทางการ ล่าสุดกูเกิลเปิดตัว "กูเกิลมิวสิค (Google Music)" ตามกำหนดการเมื่อวันที่ 16 พ.ย. ที่ผ่านมา ถือเป็นการตามหลังบริการเพลงที่แอปเปิลเปิดมาให้บริการชาวไอโฟน ไอพ็อด และไอแพดอย่าง "ไอจูนส์ (iTunes)" มาเกือบ 10 ปี
"ในช่วงทดสอบ เราได้ส่งเพลงฟรีมากกว่า 100 ล้านเพลงสู่พื้นที่เก็บข้อมูลบนคลาวด์ของผู้ใช้หลายคน" เจมี โรเซนเบิร์ก (Jamie Rosenberg) ประธานฝ่ายดิจิตอลคอนเทนต์กลุ่มธุรกิจแอนดรอยด์กล่าวบนเวทีเปิดตัวบริการในลอสแองเจลิส "วันนี้ การทดสอบกลายเป็นบริการครบวงจรเต็มรูปแบบแล้วในชื่อกูเกิลมิวสิค"
บริการเพลงฟรีนั้นเปิดกว้างเฉพาะผู้ใช้ในสหรัฐอเมริกาที่ music.google.com ผู้ใช้สามารถอัปโหลดเพลงมากกว่า 20,000 เพลงเพื่อแบ่งปันให้เพื่อนฟังหรือแบ่งรายชื่อเพลงให้เพื่อนดู บริการนี้จะเปิดทางให้ผู้ใช้สามารถค้นหาเพลงใหม่ที่ชื่นชอบได้อย่างง่ายดาย
ผู้ใช้อุปกรณ์แอนดรอยด์ทุกคนสามารถฟังเพลงขณะเดินทางได้ทุกที่ทุกเวลาโดยไม่ต้องคัดลอกเพลงลงในเครื่อง เนื่องจากเพลงทั้งหมดที่ถูกเก็บไว้ในพื้นที่บนอินเทอร์เน็ตหรือ cloud storage สามารถส่งมาเล่นบนอุปกรณ์ได้ด้วยเทคโนโลยีสตรีมมิ่ง
กูเกิลระบุว่าได้พ่วงบริการกูเกิลมิวสิคเข้ากับบริการ Android Market อย่างเต็มตัว (market.android.com) ทำให้ร้านดาวน์โหลดคอนเทนต์สำหรับอุปกรณ์แอนดรอยด์มีบริการเพิ่มเติมจากเดิมคือการเช่าภาพยนตร์และหนังสือ มาเป็นร้านขายเพลงออนไลน์ด้วยในขณะนี้
หน้าเพจทดสอบบริการ Music Beta by Google วันนี้กลายเป็นบริการ Google Music เต็มรูปแบบแล้ว
จุดที่น่าสนใจคือ กูเกิลมิวสิคเปิดให้ผู้ใช้สามารถแบ่งปันเพลงบนเครือข่ายสังคมน้องใหม่ของกูเกิล "กูเกิลพลัส (Google+)" โดยผู้ใช้สามารถส่งเพลงให้เพื่อนฟังฟรีได้แต่จะมีการจำกัดจำนวนครั้ง ซึ่งจุดนี้ผู้บริหารกูเกิลการันตีว่าเป็นบริการที่ไม่ซ้ำใคร
อย่างไรก็ตาม การเปิดตัวกูเกิลมิวสิคถูกวิจารณ์ว่าแจ้งเกิดล่าช้าไปมากเหลือเกิน โดยถูกเปิดตัวหลังไอจูนส์ บริการเพลงลักษณะเดียวกันที่แอปเปิลทำตลาดมาตั้งแต่ปี 2003 แถมยังมีบริการเพลงออนไลน์ที่อเมซอน (Amazon) และสปอติฟาย (Spotify) ซึ่งสามารถครองใจชาวอเมริกันด้วยยอดสมาชิกเกือบ 2 ล้านรายในขณะนี้
เรื่องนี้เรย์ วาลเดส (Ray Valdes) นักวิเคราะห์การ์ทเนอร์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่าตลาดบริการเพลงออนไลน์ในขณะนี้กำลังอยู่ในภาวะอิ่มตัวแล้ว เพราะมีขนาดใหญ่ และมีผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดแล้ว แต่ผู้บริหารกูเกิลยังคงเชื่อว่ากูเกิลมีโอกาสที่ดีเพราะสามารถดึงค่ายเพลงน้อยใหญ่มาเป็นพันธมิตรได้มากกว่า 1,000 ราย แม้จะไม่มีค่ายใหญ่อย่างวอร์เนอร์ (Warner Music Group) แต่ก็ยังมียูนิเวอร์แซล (Universal Music), อีเอ็มไอ (EMI) และโซนี่ (Sony Music Entertainment) ร่วมด้วย ทำให้จำนวนรายการเพลงในกูเกิลมิวสิคทะลุหลัก 13 ล้านเพลง
อีกจุดอ่อนของกูเกิลมิวสิค คือการขาดคุณสมบัติ “scan and match” เทคโนโลยีที่แอปเปิลเพิ่งเพิ่มเข้าไปในบริการ iTunes Match ซึ่งทำให้ผู้ใช้สามารถสตรีมมิ่งเพลงจากอินเทอร์เน็ตโดยไม่ต้องอัปโหลด แต่ระบบจะสามารถตรวจสอบรายชื่อเพลงแล้วส่งสตรีมมิ่งเพลงดังกล่าวมาให้ผู้ใช้ได้เลย (เปิดให้บริการเฉพาะในสหรัฐฯ ค่าบริการ 25 เหรียญสหรัฐต่อปี) โดยแม้กูเกิลมิวสิคจะมีพื้นที่เก็บข้อมูลคลาวด์สตอเรจเหมือนกัน แต่ผู้ใช้จะต้องเสียเวลาคลิกโอนไฟล์เพลงขึ้นไปด้วยตัวเอง
สนนราคาเพลงของกูเกิลมิวสิคนั้นไม่ผิดระเบียบเมื่อเทียบกับบริการเพลงออนไลน์รายอื่น โดยมีระดับราคาตั้งแต่ 69 เซนต์, 99 เซนต์ และ 1.29 เหรียญ ขณะที่บางเพลงให้บริการฟรี
ผู้ใช้แอนดรอยด์ในประเทศไทยยังต้องร้องเพลงรอต่อไป เนื่องจากบริการเพลงออนไลน์นั้นมีกฏหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์เพลงจำกัดพื้นที่ให้บริการอยู่ ทำให้การให้บริการเพลงออนไลน์ครอบคลุมเฉพาะประเทศที่มีการทำข้อตกลงไว้เท่านั้น ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าบริการกูเกิลมิวสิคจะพร้อมให้บริการในไทยเมื่อใด
Company Related Link :
GoogleMusic
ที่มา: manager.co.th