ไอเอเอสขุมทรัพย์ใหม่สำหรับนักพัฒนา
ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับรายได้ของธุรกิจอุปกรณ์พกพา 2 บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิล และแอปเปิล ชี้ทางให้นักพัฒนาที่ต้องการรายได้เลือกพัฒนา iOS เนื่องจากมีอัตราการเติบโตสูงกว่าแอนดรอยด์ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา
จากการแถลงข่าวครั้งล่าสุดของกูเกิลเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เลรี่ เพจ ซีอีโอกูเกิล ระบุว่าปัจจุบันมีผู้ใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์กูเกิล พลัส มากกว่า 40 ล้านคน และมีรายได้จากธุรกิจอุปกรณ์พกพาแล้ว 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1 พันล้านเหรียญ
ก่อนหน้านี้ทาง แอปเปิล ได้เคยออกแถลงการณ์ในวันที่ 7 กรกฏาคม ระบุว่าได้จ่ายเงินให้นักพัฒนาไปมากกว่า 2.5 พันล้านเหรียญ และหลังจากนั้นในวันที่ 4 ตุลาคม ตัวเลขการจ่ายเงินให้นักพัฒนาเพิ่มสูงขึ้นเป็น 3 พันล้านเหรียญ ซึ่งรวมเป็นเงินราว 5 พันล้านเหรียญในช่วงระยะเวลา 89 วัน
แน่นอนว่ารายได้ตรงจุดนี้ของแอปเปิล จะนับรวมกับค่าโฆษราขาก iAd (ระบบโฆษณาของแอปเปิลบนอุปกรณ์พกพาทั้งหลาย) แต่ก็ยังมีข้อมูลอีกส่วนหนึ่ง ที่นักพัฒนาได้รับเงินโฆษณาจากผู้ซื้อโดยตรงผ่านบริการของ Admob, Millennial Media และผู้ให้บริการโฆษณาบนแอปพลิเคชันรายอื่นๆ ซึ่งคาดว่าจะมีเงินสะพัดในส่วนนี้มากกว่า 500 ล้านเหรียญต่อปี
ซึ่งจากอัตราการเติบโตดังกล่าว จึงเห็นได้ว่านักพัฒนาแอปฯ ของ iOS จะมีรายรับมากกว่านักพัฒนาแอปฯของกูเกิล โดยเหตุผลหลักอาจอยู่ที่ ผู้ใช้งานแอนดรอยด์ ของกูเกิล นิยมโหลดแอปฯเสียเงินแบบฟรีๆ ผ่านหน้าเว็บไซต์ที่หลากหลาย เพราะตัวระบบปฏิบัติการเป็นระบบเปิด ทำให้สามารถเลือกลงแอปฯได้ง่ายกว่าระบบปิดอย่าง iOS
นอกจากนี้ในแง่ของการพัฒนาแอปฯ ยังพบว่าการพัฒนาแอปฯ บน iOS ที่มีความละเอียดหน้าจอค่อนข้างมาตรฐานนั้น ส่งผลให้นักพัฒนาไม่จำเป็นต้องเสียเวลาในการปรับเปลี่ยนขนาดของหน้าจอให้เข้ากับตัวเครื่อง ขณะที่นักพัฒนาแอปฯ บนแอนดรอยด์นั้น เรื่องความเข้ากันได้ของแอปฯ บนฮาร์ดแวร์ที่หลากหลาย ถือเป็นส่วนวำคัญที่ทำให้พัฒนาได้ยากมากขึ้น
ขณะที่ผลสำรวจจำนวนแอปพลิเคชันล่าสุดของ Research2Guidance ซึ่งทำกันภายในพบว่าแอปฯบนแอนดรอยด์เริ่มแตะระดับ 500,000 แอปฯ แต่ในจำนวนดังกล่าวมีแอปพลิเคชันกว่า 37% ที่ถูกถอดออกจากมาร์เก็ตเนื่องจากผิดวัตถุประสงค์และนโยบายของกูเกิล หากเทียบกับแอปเปิล สโตร์ ที่มีอยู่กว่า 600,000 แอปฯ จำนวนของแอปพลิเคชันที่ถูกถอดออกจากสารบบเพียงแค่ 24% เท่านั้น
Company Related Link :
Apple
Google+
Android
ที่มา: manager.co.th