หน้าและหลังของ ET1
แท็บเล็ตรุ่นล่าสุดภายใต้การดูแลของหน่วยธุรกิจระบบงานสำหรับองค์กรธุรกิจของโมโตโรลาในนาม "โมโตโรลา โซลูชันส์ (Motorola Solutions)"
หน้าจอของ ET1
โมโตโรลา (Motorola) โชว์ตัว "อีทีวัน (ET1)" แท็บเล็ตแอนดรอยด์รุ่นใหม่ล่าสุดเพื่อตลาดองค์กรโดยเฉพาะ วางเป้าเป็นเครื่องมือประมวลผลออนไลน์ทุกประเภทเพื่อจุดประสงค์การทำงานเคลื่อนที่ของมืออาชีพ เตรียมขายผ่านตัวแทนจำหน่ายระบบเพื่อรุกลูกค้าองค์กรเต็มตัวในช่วงปลายปีนี้ สนนราคายังไม่เปิดเผยแต่คาดว่าจะสูงกว่าซูม (Xoom) แท็บเล็ตรุ่นปัจจุบันที่โมโตโรลาตั้งราคาขายไว้ที่ 799 เหรียญ (2.39 หมื่นบาท)
อีทีวันคือแท็บเล็ตรุ่นล่าสุดภายใต้การดูแลของหน่วยธุรกิจระบบงานสำหรับองค์กรธุรกิจของโมโตโรลาในนาม "โมโตโรลา โซลูชันส์ (Motorola Solutions)" มาพร้อมหน้าจอ 7 นิ้วความละเอียด 1024x600 พิกเซล จุดเด่นคือการมีระบบรักษาความปลอดภัยและทนทานกว่าแท็บเล็ตเพื่อผู้บริโภคทั่วไป
ความสามารถสำคัญหลักของอีทีวันอยู่ที่ระบบซอฟต์แวร์ภายใน เช่นการเปิดให้ผู้ใช้สามารถลงชื่อใช้งานหลายคนได้พร้อมกัน (multi-user login) ขณะเดียวกันก็สามารถรองรับแอปพลิเคชันสำหรับพนักงานในองค์กรได้ รวมถึงแอปพลิเคชันด้านการจัดการสินค้าคงคลัง
สำหรับมุมฮาร์ดแวร์ อีทีวันมีน้ำหนักเหมาะมือ 1.4 ปอนด์ ขนาด 130.5x25x224 มม. มีกล้องด้านหน้าสำหรับการทำวิดีโอแชต และกล้องด้านหลัง 8 ล้านพิกเซลพร้อมระบบโฟกัสอัตโนมัติ ใช้ระบบปฏิบัติการ Android 2.3 หรือ Gingerbread ซึ่งโมโตโรลาการันตีว่าปรับปรุงใหม่เพื่อการใช้งานในระดับองค์กรโดยเฉพาะ ใช้หน่วยประมวลผล 1GHz ดูอัลคอร์ หน่วยความจำในเครื่อง 4GB ซึ่งสามารถเพิ่มได้เป็น 4GB-32GB เมื่อเสียบเอสดีการ์ด
เช่นเดียวกับแท็บเล็ตแบรนด์อื่นที่ต้องการเพิ่มความทนทานให้หน้าจอ อีทีวันใช้หน้าจอทัชสกรีน Corning Gorilla Glass ซึ่งแข็งแกร่งกว่าหน้าจอของแท็บเล็ตทั่วไป 30% ตัวเครื่องสามารถกันได้ทั้งแรงกระแทกและความชื้น รวมถึงรองรับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิได้ดีกว่าแท็บเล็ตทั่วไป จุดนี้โมโตโรลาระบุว่าออกแบบมาเพื่อให้เหมาะกับการใช้งานสมบุกสมบันในหน่วยคลังสินค้าซึ่งมีความเสี่ยงตัวเครื่องตกหล่นได้ทุกวัน
เบื้องต้นคาดว่าอีทีวันจะจำหน่ายในรูปแบบค้าส่ง ซึ่งคาดว่าจะมีราคาจำหน่ายต่ำกว่าเครื่องละ 1,000 เหรียญ (ต่ำกว่า 30,000 บาท) สำหรับการสั่งซื้อจำนวนมาก บนความหวังว่าอีทีวันจะได้รับความนิยมในสำนักงานและคลังสินค้าของบริษัทในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า
กลุ่มธุรกิจอันดับต้นๆที่คาดว่าจะขานรับอีทีวัน นอกจากจะเป็นกลุ่มที่ต้องดูแลจัดการคลังสินค้าแล้ว ยังมีกลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่มีหน้าร้าน จุดนี้โมโตโรลาวางจุดยืนให้อีทีวันเป็นเครื่องมือช่วยขาย โดยพนักงานขายจะสามารถชักจูงลูกค้าให้เห็นความคุ้มค่าของสินค้าได้ด้วยการแสดงหน้าเปรียบเทียบกับสินค้าคู่แข่ง โดยจะเชื่อมโยงทั้งกับระบบจัดวางและตำแหน่งคลังสินค้า รวมถึงการรับชำระเงินผ่านทั้งบัตรเครดิตและเงินสดจากที่ใดก็ได้ของร้าน
สิ่งที่ทำให้อีทีวันสามารถรับชำระบัตรเครดิตได้เพราะโมโตโรลาโซลูชันฝังเครื่องอ่านแถบแม่เหล็กเข้าไปในตัวเครื่องด้วย นอกจากนี้ ภาพหน้าจอของอีทีวันสามารถตั้งค่าให้เป็นตราสินค้าขององค์กรบริษัทได้ตามต้องการ ที่สำคัญคือระบบแบตเตอรี่ที่มีสำรองไว้พอใช้งานอีก 15 นาที ขณะเดียวกันก็มีอุปกรณ์สแกนบาร์โค้ดฝังอยู่ในตัว (ใช้ได้ทั้งกับบาร์โค้ด 1 มิติและ 2 มิติ) รองรับบลูธูธซึ่งจะทำให้สามารถใช้งานกับเครื่องพิมพ์ที่อยู่ในบริเวณนั้นโดยไม่ต้องใช้สายเชื่อมต่อใดๆ รวมถึงจีพีเอส (GPS) เพื่อการติดตามตำแหน่งที่อยู่เครื่อง
ไม่ปรากฏข้อมูลว่าอีทีวันจะรองรับเครือข่าย 3G ตัวแบตเตอรี่จุใจ 4260mAh มีพอร์ต USB จำนวน 2 ช่องและช่องต่อ HDMI-out ทั้งหมดนี้ โมโตโรลาระบุว่าจะเริ่มเจรจากับองค์กรธุรกิจที่มีสาขาหลายแห่งทั่วโลกในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้
Company Related Link :
Motorola
ที่มา: manager.co.th