Author Topic: Top 8 สถานที่ก่อเครียด  (Read 1249 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Top 8 สถานที่ก่อเครียด
« on: October 07, 2011, 03:28:23 PM »

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai

           ชวนคุณผู้อ่านมาเช็กสถานที่ก่อเครียดอันดับต้นๆ ของยุคสมัย พร้อมเรียนรู้สาเหตุและข้อแนะนำดีๆ จาก นายแพทย์อดุลย์ บัณฑุกุล ผู้อำนวยการศูนย์อาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี

     1. บ้าน : ความเครียดของคน 3 วัย บ้านคือวิมานของเรา แต่ถ้าเมื่อไหร่บ้านกลับมีเมฆหมอกของความเครียดแฝงตัวอยู่ในอากาศ ทำให้อึดอัดใจ นั่นก็ได้เวลาที่ต้องหันหน้ากลับมานั่งทำความเข้าใจกันมากขึ้น
           หากจะแบ่งความเครียดที่เกิดในบ้านแบบไทยๆ กันแล้ว ต้องถือว่าเป็นความเครียดแบบ 3 ประสาน เพราะครอบครัวไทยมักอยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ อยู่รวมกันตั้งแต่คนรุ่นคุณปู่ คุณย่า คนรุ่นคุณพ่อ คุณแม่ และรุ่นลูกๆ หลานๆ ปัญหาของคนแต่ละช่วงวัยก็สามารถกลายเป็นปัญหาของบ้านขึ้นมาได้
           หนังสือ พฤติกรรมความเครียดและการตอบสนองต่อความเครียด โดย สำนักพัฒนาวิชาการแพทย์ กรมการแพทย์ อธิบายความเครียดของสมาชิกในบ้านทั้ง 3 วัย ไว้ว่า
         • วัยเด็ก
            ถูกเร่งรัดเรื่องการศึกษา หลายบ้านมีเด็กๆ ที่ต้องเผชิญความเครียดจากการถูกเร่งรัดในการศึกษาเล่าเรียน เช่น ถูกเคี่ยวเข็ญให้เรียนพิเศษตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่สนามแข่งขันในการสอบเข้าสถาบันการศึกษาต่างๆ รวมทั้งการเรียนเพื่อเพิ่มความสามารถพิเศษ
           เครียดจากสื่อ สื่อต่างๆ มีอิทธิพลในการสร้างความเครียดให้กับเด็กรุ่นใหม่มิใช่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูโทรทัศน์ จนทำให้เด็กเล่นน้อยลง มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ และผู้ใหญ่น้อยกว่าเด็กสมัยก่อน ทั้งๆ ที่การเล่นเป็นวิธีระบายความเครียดให้กับเด็กได้อย่างดียิ่ง แต่เมื่อทุ่มเทเวลาไปกับการดูโทรทัศน์เสียแล้ว จึงแย่งเวลาที่เขาควรจะเล่นเพื่อการผ่อนคลายความเครียดไปหมด
           ครอบครัวแตกแยก การที่ครอบครัวแตกแยก หรือมีพ่อหรือแม่เพียงคนเดียว สร้างความเครียดให้เด็กมากที่สุด ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมากกว่าแต่ก่อน ทำให้เด็กต้องผจญกับความเครียดจนกลายเป็นปัญหาทางจิตใจได้ง่าย และมักแสดงออกมาทางพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ เช่น เกเร ต่อต้าน หรือซึมเศร้า ไม่อยากเรียนหนังสือ หรือรังแกเพื่อนๆ เป็นต้น

          • วัยทำงาน
           การสร้างครอบครัวในอนาคต ในยุคของการดิ้นรนต่อสู้เพื่อการดำเนินชีวิต ค่าครองชีพสูงขึ้น การมีครอบครัวกลายเป็นภาระหนัก คนวัยหนุ่มสาวต้องทำงานหนักเพื่อสร้างตัว และใช้เวลาในการตระเตรียมทรัพย์สินสำหรับครอบครัวในอนาคต
           ดังนั้น คนรุ่นใหม่จึงแต่งงานช้าลง และมีจำนวนคนโสดมากขึ้น ภาวะความเป็นโสดที่ต้องอยู่ตัวคนเดียวทำให้เกิดความอ้างว้างเงียบเหงา และการต้องเผชิญปัญหาต่างๆ นานาอย่างโดดเดี่ยวเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เครียดได้ สภาพของการตกงาน ค่าแรงต่ำ ก็เป็นเหตุของความเครียดได้เช่นเดียวกัน
           ความเครียดของคุณแม่เวิร์คกิ้งวูแมน ในยุคนี้ ผู้หญิงต้องทำงานนอกบ้านพร้อมกับการทำบทบาทแม่บ้าน ผู้หญิงเหล่านี้จะประสบกับภาวะเครียดสูงมาก จากการสวมบทบาทสองอย่างในเวลาเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะพยายามไม่ให้บทบาทใดบทบาทหนึ่งหย่อนยานหรือเสียไป

          • วัยสูงอายุ
            ความเครียดของผู้สูงอายุในบ้านทุกวันนี้มักมาจากความอ้างว้าง เปล่าเปลี่ยว การไม่ได้รับความเอาใจใส่เท่าที่ควร ขาดการมีลูกหลานล้อมหน้าล้อมหลังอย่างแต่ก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการอพยพย้ายถิ่น การเปลี่ยนแปลงลักษณะครอบครัวใหญ่มาเป็นครอบครัวเดี่ยว
           นอกจากนี้ วัฒนธรรมตะวันตกที่หลั่งไหลเข้ามาและวิถีชีวิตแบบใหม่ทำให้เด็กวัยรุ่นใหม่ขาดกิริยามารยาทอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ เป็นผลทำให้ผู้ใหญ่รู้สึกน้อยใจ ด้อยคุณค่า และรู้สึกกระทบกระเทือนทางใจประกอบกับเป็นวัยที่ต้องเกษียณอายุจากงานจึงทำให้รู้สึกว่าตนเองไม่มีค่า ยิ่งในรายที่ขาดเงิน ขาดทุนสำรอง ในขณะที่สภาพร่างกายทรุดโทรม เจ็บออดๆ แอดๆ ก็ยิ่งมีความเครียดสูงมากขึ้น

     2. ที่ทำงาน : เมื่องานไม่เอ็นจอย
            เมื่อพูดถึงสถานที่ก่อความเครียด หลายคนคิดถึงที่ทำงานเป็นอันดับแรก เพราะมีสารพัดปัจจัยที่ทำให้ความเครียดปะทุ
เครียดเพราะลักษณะงาน ลักษณะงานเป็นเรื่องที่ สถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดในการทำงาน คือ งานที่เป็นงานอันตราย เช่น งานของแพทย์หรือพยาบาล ที่ไม่รู้ว่าต้องเผชิญกับปัญหาฉุกเฉินอะไร เป็นงานที่ต้องตื่นตัวตลอดเวลา ทำให้เกิดความเครียด
           นอกจากนี้ ลักษณะงานที่ทำให้เครียด คือ การอยู่เวรเป็นกะ เช่น ต้องอยู่เวรกลางคืน เพราะเป็นงานที่ทำสวนเวลากับคนส่วนใหญ่ อาจทำให้มีปัญหาครอบครัวตามมา เพราะสามีภรรยาไม่เจอกัน
           การทำงานผิดกับนิสัย แม้การทำงานจะทำให้มีรายได้และความสำเร็จด้านอื่นๆ แต่ถ้าเลือกงานผิดกับนิสัยส่วนตัวและความเหมาะสมของตัวเอง ก็จะกลายเป็นอุปสรรคอันใหญ่หลวงและก่อให้เกิดความเครียดได้อย่างหนักหนาสากรรจ์ เพราะจะทำให้ขาดความพึงพอใจในการทำงาน ความคิดสร้างสรรค์ตกต่ำ มีพฤติกรรมที่ฉุนเฉียว นำไปสู่ความขัดแย้ง ปัญหานี้เกิดขึ้นได้ แม้จะมีความรอบรู้ต่องานก็ตาม
           อย่ามองข้ามความสำคัญของคำพูดที่ว่า “จงรู้จักตนเอง” จงพิจารณาดูความเข้มแข็งและความอ่อนแอเพื่อเลือกงานให้เหมาะสมกับความสามารถ และประเมินรูปแบบของงานที่เหมาะสมที่สุดต่อกำลังและความอ่อนแอของตนเอง
           อาชีพที่ต้องอยู่ในบรรยากาศที่ซ้ำซากจำเจ และมีอิสระในการทำงานน้อย เช่น ผู้ที่ทำงานในโรงงานประจำแผนกตัดเย็บ การเปลี่ยนแปลงอิริยาบถจะมีน้อย จึงทำให้ร่างกายเกิดความตึงเครียดจากการไม่ได้เคลื่อนไหว ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจได้
          การตั้งเป้าหมายที่เป็นไปไม่ได้ ความเครียดที่มีอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลมาจากการมีเป้าหมายที่เป็นไปไม่ได้ อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสามารถของคนเราที่จะต่อต้านกับความเครียด ทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ และกลายเป็นความเครียดซ้ำซ้อนเข้ามาอีก

     3. ท้องถนนแห่งมลพิษ : ปัญหาคลาสิกสำหรับคนเมือง
          ความเครียดบนท้องถนน เป็นปัญหาคลาสิกสำหรับคนเมือง ที่ยังไม่มีใครแก้ตก คุณหมออดุลย์ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า
          “ความเครียดบนท้องถนน หรือจากการเดินทาง ปัจจุบันนี้มีมากขึ้น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ มีความเครียดสองประเภทด้วยกัน คือหนึ่ง ความเครียดที่เกิดจากความคิดของเราเอง เช่น อยากไปให้ถึงที่ทำงานเวลานั้นเวลานี้ แต่รถติด ทำไมเราทำงาน 8 โมงเช้า แต่ต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 บางทีเกิดความคิดขึ้นอย่างนี้ได้
         “สอง ความเครียดจากสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเรา เช่น สภาพรถติด เสียงดัง แสงแดด รังสีอุลตร้าไวโอเลต ซึ่งทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง นอกจากนี้ยังมีสารเคมีที่น่ากลัว อย่างซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) พวกนี้ทำให้เกิดภูมิแพ้ ระคายเคืองทางเดินหายใจ ทำให้ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ทำให้สมองไม่ปลอดโปร่ง ทำให้เกิดความเครียดได้ง่าย
           “การเดินทางที่ทำให้เครียดมากที่สุดคือ รถเมล์ โดยเฉพาะรถเมล์เก่าแล้วเอามาติดแอร์ เพราะท่อไอเสียรั่วเข้ารถได้มาก เคยมีคนทำวิจัยในคนขับรถ พบว่ามีคาร์บอนมอนอกไซด์ในเลือดสูงมาก ซึ่งคนนั่งก็ต้องคงมี คาร์บอนมอนอกไซด์นี้จะจับกับเม็ดเลือด ทำให้เม็ดเลือดปล่อยออกซิเจนออกมาไม่ได้ ทำให้มึนศีรษะ

     4. ห้างสรรพสินค้า : ความอยากทำจิตป่วย
           อันดับต่อไปคือห้างสรรพสินค้า แหล่งคลายเครียดขวัญใจคนเมือง น้อยคนนักจะรู้ว่าการอยู่ในสถานที่เหล่านี้เป็นประจำ ใช่ว่าจะช่วยคลายเครียดหรือดีต่อสุขภาพ ในทางกลับกัน กลับทำให้ดีกรีความเครียดพุ่งสูงขึ้นได้ คุณหมออดุลย์อธิบายว่า
          “การเดินห้างสรรพสินค้า ทำให้เกิดความอยาก ทางจิตวิทยา เรียกว่าเป็นการกระตุ้นอิด (id) ของเราเลยก็ว่าได้ คือทำให้อยากได้ อยากมี บางครั้งกลายเป็นความวิตกกังวล บางครั้งคิดไปถึงการแข่งขัน
          “โดยปกติคนเราชอบให้ และอยากได้กลับคืน เช่น ทำบุญหวังได้ขึ้นสวรรค์ การซื้อของคือ เราได้จ่ายเงิน และได้ของที่อยากได้กลับมาทันที จึงทำให้มีความสุข
          “แต่สำหรับคนที่ชอบช็อปปิ้ง ถ้ามีสติ จะเห็นว่า เวลาผ่านไปเป็นอาทิตย์ๆ บางครั้งของที่ซื้อมาก็ยังวางอยู่โดยไม่ได้แกะออกเลย”
           นอกจากนี้การเดินห้างสรรพสินค้ายังเพิ่มความเสี่ยงที่จะนำเงินในอนาคตมาใช้โดยไม่สมเหตุสมผล ทำให้ต้องกุมขมับตอนปลายเดือนได้อีก

     5. สภากาแฟ : รังนกกระจอก ส่งต่อความเครียด
           การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างออกรสออกชาติถึงข่าวสารในกระแส เป็นเรื่องที่อยู่คู่สังคมไทยมาตลอดทุกยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่ เรื่องร้าย เรื่องดี ก็คุยกันออกอรรถรสทุกเรื่องไป
           ทว่าการคุยกันในบางรูปแบบอาจก่อให้เกิดความเครียดได้ คุณหมออดุลย์ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า
           “ตามปกติ เป็นนิสัยของคนที่ชอบออกความเห็น มายุคนี้ ไม่เหมือนยุคก่อนๆ เพราะมีข่าวสารมาก แล้วทุกคนอยากนำมาถ่ายทอด แต่ละคนคิดเห็นไม่เหมือนกัน บางครั้งก็ยังไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง ไม่ได้กรองข่าวสาร ทำให้เราพูดมากกว่ารับฟัง ทำให้เกิดการผิดใจ หรือกระทบกระทั่งกันได้ การพูดแข่งกับคนอื่น
            “เรื่องที่คุยก็มีผล อย่างการนั่งคุยเรื่องที่เครียดหรือคุมเครือ แล้วนำมาคุยกันบ่อยๆ จากที่ไม่เชื่อ ทำให้เชื่อได้ เพราะเหมือนกับรับเอาความคิดเข้ามาเรื่อยๆ บางครั้งนำไปสู่การเถียงแทน จนเกิดความเครียด หรือทำให้จิตตกได้เหมือนกัน”

     6. โรงพยาบาล : ไม่ไป จิตไม่ตก
          แค่เห็นชื่อ “โรงพยาบาล” คุณผู้อ่านคงคิดตามได้ไม่ยากว่า ทำไมโรงพยาบาลจึงเป็นสถานที่ที่ติดอันดับก่อเครียด คุณหมออดุลย์อธิบายถึงความเครียดในโรงพยาบาลว่า
         “การที่เราไปโรงพยาบาล ไปเห็นผู้ป่วย เช่น เห็นคนไข้ใส่ท่อช่วยหายใจ เห็นคนที่หมดหวัง เห็นผู้ป่วยจำนวนมากๆ มีผลต่อสุขภาพจิตของเรา เพราะอารมณ์ด้านลบส่งต่อกันได้ หรือบางทีก็เกิดความหวาดระแวงว่า เราจะติดโรคอะไรจากผู้ป่วยเหล่านี้บ้างหรือเปล่า”
          คุณหมออดุลย์ยังเล่าถึงกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงจะได้รับความเครียดจากโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็นว่า
        “กลุ่มคนที่ชอบไปหาหมอโดยไม่จำเป็น อาจทำให้เครียดโดยไม่จำเป็น จนกระทบกับทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพกาย กล่าวคือ มีคนบางกลุ่มที่ชอบไปหาหมอ กลุ่มแรกคือคนที่คิดว่าตัวเองป่วยจริงๆ ต้องการการรักษา ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้ป่วยอะไร ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือต้องการสิทธิประโยชน์ เช่น ต้องการหยุดงาน ต้องการการชดเชย หรือกลุ่มคนที่มีอาการซึมเศร้าระดับปานกลาง ก็มักคิดว่าตัวเองป่วยเป็นโรคต่างๆ ซึ่งเป็นอาการของเขาที่ต้องการเรียกร้องความสนใจ เมื่อมาหาหมอแล้วจะรู้สึกมีความสุขที่มีคนเป็นห่วงเป็นใย ปัจจุบันพบมากขึ้น จริงๆ แล้ว ถ้าไม่เจ็บป่วยจริงๆ ไม่ควรไปโรงพยาบาล”

    7. โรงภาพยนตร์ : ที่ระบาย
          เคยไหมคะ ที่พอมีเรื่องมากระทบใจให้เครียดหน่อย ก็อยากไปดูหนังคลายเครียดสักเรื่องสองเรื่อง หลายคนบอกว่ายิ่งเครียดยิ่งต้องดูหนังแอ๊คชั่น บู๊ล้างผลาญ เพื่อให้ได้ปลดปล่อยอารมณ์ที่อัดอั้นตันใจ ความคิดเช่นนี้ไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะอาจทำให้เครียดหนักกว่าเดิม คุณหมออดุลย์อธิบายว่า
          “โรงภาพยนตร์ก็อาจทำให้เครียดได้เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับเนื้อหาของหนังที่เราไปดู อย่างบางครั้งที่เรารู้สึกว่าครียดแล้วอยากดูหนังแรงๆ อย่างหนังแอ๊คชั่น เพื่อระบาย เหมือนกับให้ตัวละครนั้นๆ ทำพฤติกรรมปลดปล่อยนั้นแทนเรา เป็นทางแก้ที่ไม่ถูกเพราะจะมีผลต่อจิตใจ ทำให้เกิดอารมณ์ด้านลบ กลายเป็นความเครียดมากขึ้นอีก
          “อย่างหนังผี ถ้าดูแล้วเข้าลึกซึ้งถึงอารมณ์ของหนังมากๆ ก็อาจเกิดความหวาดระแวงหรือความเศร้าตามหนังไปเลยก็มี
          “นอกจากนี้บางคนดูหนังสองสามเรื่องติดต่อกัน ทำเกิดความเครียดได้แน่นอน เพราะในโรงหนังมีทั้งเสียงดัง ถ้าฟังติดต่อกันสามถึงสี่ชั่วโมง เกิดความเครียดแน่นอน ยิ่งเป็นหนังที่มีเสียงที่ไม่เป็นระเบียบ เป็นเสียงที่เรียกว่า noise คือเสียงรบกวน เช่น หนังแอ๊คชั่นต่างๆ ไม่ใช่ sound ซึ่งเป็นเสียงที่มีคลื่นเสียงไพเราะ ทำให้ความดันโลหิตสูง นอนไม่หลับ และมีอาการวิตกกังวลได้”

     8. ร้านเกม ร้านอินเทอร์เน็ต
          บ้านไหนมีสมาชิกติดเกมออนไลน์งอมแงม จนว่างเมื่อไหร่เป็นต้องตรงเข้าร้านเกม แถมนั่งนานวันละหลายชั่วโมง คงสะกิดเตือนกันอย่างจริงจังเสียแล้ว เพราะส่งผลเสียต่อสุขภาพ คุณหมออดุลย์บอกสาเหตุแห่งความเครียดจากการอยู่ในร้านเกมว่า
         “เมื่อเล่นเกม ความเครียดจะมาจากการอยากเอาชนะ การสะสมแต้ม เอาไปอวดกัน นอกจากนี้การนั่งอยู่ในร้านเกมบางแห่งยังมีเสียงดัง แสงจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ก็มีผลทำให้เกิดความเครียด และหน้าจอของเกมจะวิ่งไปวิ่งมา เคลื่อนไหวเร็วมาก ทำให้ตาต้องปรับโฟกัสกลอกตาไปมาตลอดเวลา ทำให้กล้ามเนื้อของตาขาว กล้ามเนื้อเปลือกตา ทำงานหนัก และคนเล่นเกมจะกระพริบตาน้อยมาก ทำให้ตาแห้ง แสบตา
         “การท่านั่งหน้าจอนานๆ ในท่าเดียวก็ทำให้ปวดเมื่อย คอตั้งตรงตลอด กล้ามเนื้อแขน กล้ามเนื้อคอล้า เกิดความเหนื่อยล้าทั้งร่างกาย เมื่อร่างกายไม่สบาย จิตใจก็ไม่สบาย ออกจากร้านเกม จึงมักอิดโรย”


           แม้ 8 สถานที่ที่กล่าวมาจะเป็นสถานที่ที่ทำให้คุณๆ เครียดได้ง่าย แต่ใช่ว่า เราต้องรับเอาความเครียดนั้นมาแบกรับไว้ เพราะปัญหาทุกอย่างย่อมมีทางออก


ที่มา: ชีวจิต


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)