อัมพาตปากเบี้ยว/ เบลล์พัลซี (Facial Palsy/Bell's Palsy)รูปที่ 1 Facial palsy
รูปที่ 2 Ptosis
อัมพาตปากเบี้ยว พบได้พอประมาณในคนทุกเพศทุกวัย แต่พบมากในคนอายุ 20-50 ปี เป็นโรคที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง และหายได้เองเป็นส่วนใหญ่
สาเหตุ เกิดจากเส้นประสาทสมองเส้นที่ 7 (Facial nerve) ที่มาเลี้ยงบริเวณใบหน้าไม่ทำงานชั่วคราว ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าครึ่งซีกนั้นขยับเขยื้อนไม่ได้ (เป็นอัมพาต) ที่พบบ่อยเนื่องจากมีการอักเสบของประสาทเส้นนี้ โดยยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด
ผู้ป่วยส่วนมากอยู่ ๆ ก็เกิดอาการนี้ขึ้นมา บางคนอาจพบหลังตากลมหรือถูกอากาศเย็น
นอกจากนี้ยังอาจพบในผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บหรือผ่าตัดบริเวณใบหน้าหรือมีการอักเสบของบริเวณหู
อาการ ผู้ป่วยอยู่ดี ๆ (เช่นนอนตื่นขึ้นมา) ก็สังเกตเห็นปากเบี้ยวข้างหนึ่ง กลืนน้ำหรือบ้วนปากจะมีน้ำไหลออกที่มุมปาก เวลายิงฟันหรือยิ้ม จะเห็นมุกปากข้างนั้นตก ตาข้างเดียวกันนั้นจะปิดไม่มิด คิ้วข้างเดียวกันนั้นยักไม่ได้ ลิ้นซีกเดียวกันจะชาและรับรสไม่ได้ หูข้างเดียวกันอาจมีอาการปวดและอื้อ
แต่ผู้ป่วยรู้สึกตัวดี แขนขามีแรงดี และทำงานได้ตามปกติทุกอย่าง และถ้าอยู่เฉย ๆ (ไม่พูดไม่ยิ้ม ไม่หลับตาหรือยักคิ้ว) ก็จะดูไม่ออกว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติ
บางคนอาจมีอาการปวดบริเวณหน้าหรือหลังใบหูข้างที่เป็นอัมพาตก่อนสัก 2-3 วัน
อาการแทรกซ้อน มักไม่มีอาการแทรกซ้อนที่ร้ายแรง ที่อาจพบได้ คือ ตาอักเสบ เนื่องจากปิดตาไม่ได้
การรักษา 1. ถ้าแน่ใจว่าผู้ป่วยไม่มีโรคอื่นแทรกซ้อน และแข็งแรงดีทุกอย่าง อาจให้การรักษาดังนี้
1.1 ให้กินยาเม็ดเพร็ดนิโซโลน (ย12) วันละ 4 ครั้ง ๆ ละ 2 เม็ด เป็นเวลา 7 วัน และควรกินยาลดกรด (ย14) ควบด้วยเพื่อป้องกันมิให้เกิดโรคกระเพาะแทรกซ้อนจากเพร็ดนิโซโลน เชื่อว่ายานี้จะช่วยลดการอักเสบ และช่วยให้หายเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่มีเพร็ดนิโซโลน ก็ไม่ต้องให้ยากินหรือยาฉีดชนิดอื่นใด เพราะโรคนี้สามารถหายเองได้โดยธรรมชาติ
1.2 ใช้ยาหยอดตาหรือป้ายตาที่เข้ายาปฏิชีวนะ เช่น ยาป้ายตาออกคูเลนต์ที (ย25.9) ใส่ตาข้างที่ปิดไม่มิด วันละ 2-3 ครั้ง เพื่อป้องกันมิให้ตาอักเสบ หรือจะใส่แว่นกันแดดหรือใช้ผ้าสะอาดปิดตาข้างนั้นไว้ก็ได้
1.3 แนะนำให้ผู้ป่วยพยายามบริหารกล้ามเนื้อใบหน้า ด้วยการแยกเขี้ยว ยิงฟัน แล้วใช้มือยกมุมปากข้างที่เป็นอัมพาตขึ้นตามไปด้วย ทำวันละ 2-3 ครั้ง ๆ ละ 5-10 นาที
2. ถ้าผู้ป่วยมีอาการอัมพาตของแขนขา, มีการอักเสบของบริเวณหู, มีประวัติการบาดเจ็บ, ความดันเลือดสูง, หรืออาการไม่ดีขึ้นใน 2-3 สัปดาห์ ควรแนะนำไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล
อาจต้องให้การรักษาทางกายภาพบำบัด เช่น ใช้ไฟฟ้ากระตุ้นกล้ามเนื้อที่เป็นอัมพาต เพิ่มเติมจากยาดังกล่าว
ข้อแนะนำ 1. โรคนี้ส่วนใหญ่จะหายได้ใน 2-3 สัปดาห์ (ถึงแม้ไม่ได้ใช้ยารักษา ก็หายได้เองโดยธรรมชาติ) บางคนอาจกินเวลาตั้งแต่ 2 เดือนถึง 2 ปี อายุยิ่งมากยิ่งหายช้า ส่วนมากจะหายได้สนิท ส่วนน้อยที่อาจมีร่องรอยให้เห็นอยู่บ้าง ซึ่งอาจแก้ไขด้วยการผ่าตัด ควรอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจและหายกังวล
2. กล้ามเนื้อใบหน้าตอนบน มักจะเริ่มฟื้นตัวได้ก่อนตอนล่าง กล่าวคือผู้ป่วยจะยักคิ้วและปิดตาได้ก่อนที่จะปากหายเบี้ยว ดังนั้นควรแนะนำให้ผู้ป่วยยักคิ้วและหลับตาทุกวัน ถ้าพบว่าเริ่มทำได้ ก็แสดงว่ามีโอกาสหายได้เร็ว
3. โรคนี้ควรแยกให้ออกจากอาการปากเบี้ยวในผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตครึ่งซีก (76) โดยที่ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกมักจะหลับตาและยักคิ้วได้ และมีอาการอัมพาตของแขนขาร่วมด้วย
เอกสารอ้างอิง 1. สุรเกียรต์ อาชานานุภาพ. ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป: หลักการวินิจฉัยและการ
รักษา/280โรคและการดูแลรักษา.กรุงเทพ: พิมพ์ดี กรุงเทพฯ. พิมพ์ครั้งที่ 3. 2544.
2.
www.nlm.nih.gov (picture: “รูปที่ 1 Facial palsy”)
3. health.allrefer.com (picture: “รูปที่ 2 Ptosis”)
ผู้เรียบเรียงข้อมูล นายธวัชชัย ธูปอ่อน ผู้ตรวจสอบ อ.ธีราพร ชนะกิจ
วันที่เรียบเรียงข้อมูล 24 เมษายน 2551
ที่มา: thaiwonders.com