เพจทวิตเตอร์ของ"ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"ที่ถูกแฮก
รมว.ไอซีที ระบุแฮกเกอร์ลักลอบใช้ทวิตเตอร์นายกฯได้เพียงเบาะแส ชี้ผิดในพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์พ.ศ.2550 มาตรา 5,7,9,14 โทษสูงสุดจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท เปรยยังไม่มั่นใจว่าจะสามารถจับผู้กระทำความผิดได้หรือไหม แนะผู้ใช้สังคมออนไลน์ต้องระวังตัวและใช้ให้เป็น
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที เปิดเผยความคืบหน้ากรณี twitter น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่ชื่อ twitter@ PouYingluck ถูกนักโจรกรรมข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ แฮกเกอร์ เมื่อวันที่ 2 ต.ค. เวลาประมาณ 10.22-10.43น.
ทั้งนี้แฮกเกอร์ได้เข้าไปลักลอบใช้บัญชีอีเมล์เพื่อแฮกยูเซอร์เนม และรหัสผ่าน ก่อนที่จะนำรหัสเหล่านั้นเข้าไปทวิตเตอร์ของนายกฯ เพื่อโพสต์ข้อความ 8 ข้อความ ซึ่งการลักลอบใช้ทวิตเตอร์เสมือนเป็นการแฮก ซึ่งมีความผิดหลายประการตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์พ.ศ.2550 ด้วยการใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ทบนโทรศัพท์มือถือล็อกอินผ่านเบราว์เซอร์ โดยไม่ใด้เป็นการล็อกอินผ่านแอปพลิเคชั่นทวิตเตอร์
ขณะที่ twitter @PouYingluck ของนายกรัฐมนตรี เป็นทวิตเตอร์ที่ใช้สำหรับการประชาสัมพันธ์ข่าวสารของนายกรัฐมนตรี โดยจะมีทีมงานที่รู้รหัสผ่านอีก 1 คนเท่านั้น ซึ่งกระทรวงไอซีทีจะไม่ตัดประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคนในพรรคเพื่อไทยหรือทีมงานของนายกรัฐมนตรีทิ้ง แต่จะรวบรวมข้อมูลหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งคนในและคนนอกให้รัดกุมมากที่สุด เพื่อป้องกันการจับผิดตัว ซึ่งขณะนี้มีเบาะแสหลายเรื่องแต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้เพราะอาจจะกระทบต่อรูปคดี ทั้งนี้ ยอมรับว่า อาจจะไม่สามารถจับกุมตัว ผู้กระทำความผิดได้ในครั้งนี้
“ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีผู้ประสงค์ร้ายแฮกทวิตเตอร์ เพราะเมื่อ 2 ปี ก่อนบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐก็เคยถูกแฮกข้อมูล ซึ่งวันนี้อยากทำความเข้าใจกับประชาชนว่าการใช้ข้อมูลโซเชียลเน็ตเวิร์คต้องระวังตัว ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นกับนายกฯ ต้องเห็นใจกัน และช่วยกันประณามการกระทำดังกล่าว”
โดยกรณีการถูกแฮกข้อมูลทาง twitter ของนายกฯ โดยผู้กระทำความผิดดังกล่าวเข้าข่ายความผิดมาตรา 5, 7, 9 และ 14 ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยมีโทษสูงสุด จำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนเว็บหมิ่นฯ กระทรวงไอซีทีมีเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว
“เบื้องต้นเราเพียงเบาะแสผู้กระทำความผิดซึ่งเป็นคนไทย แต่ต้องรอรายละเอียดให้ชัดเจน และพยานหรือหลักฐานก่อน จึงจะสามารถระบุตัวผู้กระทำความผิดได้ โดยจะไม่ทิ้งประเด็นใดใดที่เป็นไปได้ในคดีความ ทั้งนี้ต้องยอมรับความประเด็นดังกล่าวอาจจะไม่สามารถจำตัวผู้กระทำความผิดได้ เนื่องจากเป็นเหมือนคดีทางกฏหมายอื่นๆที่มีทั้งจับผู้กระทำความผิดได้ และไม่สามารถจับได้ก็มี”
อีกทั้งทางกระทรวงได้ประสานงานไปยังผู้ให้บริการ twitter ยังต่างประเทศแล้ว เพื่อขอข้อมูล และรายละเอียดเพื่อใช้ในงานติดตาม และตรวจสอบหาผู้กระทำความผิดในกรณีดังกล่าว
อย่างไรก็ตามในตอนนี้ นายกรัฐมนตรี จะใช้ facebook ในชื่อ y.Shinawatra เท่านั้นเป็นหลักในการประชาสัมพันธ์งานของนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ กระทรวงไอซีทีได้เตรียมจัดทำเอกสารเผยแพร่การใช้โลกออนไลน์อย่างปลอดภัยแจกจ่ายให้กับสื่อมวลชนและประชาชน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการใช้ระบบออนไลน์มากขึ้น
นอกจากนี้ กระทรวงไอซีที มองว่าประเด็นเรื่องความปลอดภัยในสังคมออนไลน์ และระบบออนไลน์ของหน่วยงานราชการ เป็นสิ่งที่ต้องเร่งพัฒนา เพราะที่ผ่านมาระบบรักษาความปลอดภัยออนไลน์ของไทยไม่ได้รับความสำคัญมากนัก ประกอบกับงบประมาณที่จัดสรรสำหรับเรื่องดังกล่าวก็มีน้อย ดังนั้น กระทรวงไอซีที เตรียมที่จะผลักดันให้หน่วยงานราชการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น และจะเสนอขอให้รัฐบาลพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อการรักษาความปลอดภัยบนโลกอินเทอร์เน็ตมากขึ้นด้วย
ขณะเดียวกัน กระทรวงต้องการให้ประชาชนระมัดระวังการใช้งาน Social Network เช่น การเปลี่ยนรหัสผ่านที่ยากต่อการคาดเดา การเปลี่ยนรหัสและคำถามบ่อยครั้ง การไม่เก็บข้อมูลสำคัญในคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
Company Related Link :
ICT
ที่มา: manager.co.th