Author Topic: จุดบอดประเทศไทยในยุค 3G อินเตอร์เน็ตสปีดเต่า ต่ำกว่ามาตรฐานโลก  (Read 953 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai


คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่ายุคปัจจุบัน คือยุคทองของเทคโนโลยีสารสนเทศและข้อมูลข่าวสาร อินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันของหลายๆ คน และแน่นอนว่าประเทศไทยก็กำลังดำเนินไปตามแนวโน้มของโลกอย่างมิอาจปฏิเสธ จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจเลยที่ภาครัฐจะมีนโยบายที่สืบเนื่องและเกี่ยวพันกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศออกมาให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติของกระทรวงไอซีทีที่หวังให้คนไทยมีอินเทอร์เน็ตใช้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ใน 5 ปี หรือจะเป็นการดำเนินงานตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อมาดำเนินเรื่องเกี่ยวกับเครือข่าย 3G ที่ค้างคามานานให้สำเร็จลุล่วงไป
       
       นอกจากนั้นภาครัฐยังมีโครงการที่เกี่ยวพันกับเทคโนโลยีสารสนเทศแบบอ้อมๆ อย่างการแจกแท็บเล็ตเด็กนักเรียนเพื่อใช้ในการศึกษาหาความรู้อย่างไม่มีขีดจำกัด (แน่นอนว่าถ้ามีแท็บเล็ตแล้วก็ต้องมีเครือข่ายที่มีคุณภาพมารองรับ)
       
       ทั้งหมดก็ฟังดูดีและเป็นไปตามเทรนด์ของโลกที่ควรจะเป็น แต่ความเป็นจริงในปัจจุบัน เทคโนโลยีสารสนเทศของบ้านเรายังไปไม่ถึงไหน เพราะล่าสุดจากการสำรวจของแพนโด เน็ตเวิร์กส์ บริษัทผู้ให้บริการด้านเน็ตเวิร์กในสหรัฐอเมริกา พบว่าค่าเฉลี่ยของความเร็วในการดาวน์โหลดอินเทอร์เน็ตทั่วโลกอยู่ที่ 580 กิโลไบต์/วินาที แต่ในบ้านเรานั้นกลับมีความเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ 268 กิโลไบต์/วินาทีเท่านั้น ซึ่งมันต่ำกว่ามาตรฐานไปกว่าครึ่งเลยทีเดียว
       
       ส่วนประเทศที่มีค่าเฉลี่ยอินเทอร์เน็ตสูงที่สุดนั้นคือ ประเทศเกาหลีใต้ โดยค่าเฉลี่ยการดาวน์โหลดของบ้านเขาวิ่งกระฉูดอยู่ที่ 2,202 กิโลไบต์/วินาที เร็วกว่าบ้านเราถึง 8 เท่ากว่าๆ ส่วนประเทศที่อินเทอร์เน็ตช้าแบบรั้งท้ายคือประเทศคองโก ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 13 กิโลไบต์/วินาที
       
       แม้ประเทศไทยจะถือว่าดีกว่าคองโกอยู่มาก แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าจะเอามาภาคภูมิใจเพราะในความเป็นจริง ประเทศกำลังพัฒนาระดับบนอย่างเราควรจะทำได้ดีกว่านี้
       
       เราทำดีที่สุดแล้ว
       
       ในเรื่องของความเร็วอินเทอร์เน็ตนั้น คงจะไม่มีใครรู้ดีไปกว่าเอกชนผู้ให้บริการที่จะต้องตอบคำถามเกี่ยวกับความอืดของอินเทอร์เน็ตแก่ลูกค้าไม่เว้นแต่ละวัน ซึ่ง ฐานันดร์ มาลยานนท์ แผนกเทคนิคของบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศไทย เล่าให้เราฟังว่า แค่ในเขตบริการหนึ่งๆ นั้น ในแต่ละเดือนก็มีลูกค้าแจ้งปัญหาการใช้งานอินเทอร์เน็ตจำนวนหลายร้อยราย ซึ่งปัญหาใหญ่ๆ ที่พบเจอก็จะเป็นเรื่องอินเทอร์เน็ตหลุดบ่อย ไม่มีสัญญาณ และความเร็วต่ำมาก
       
       “ความเร็วอินเทอร์เน็ตนั้นจะมีปัญหาเป็นบางพื้นที่ อย่างเวลาลูกค้าแจ้งเสียมามันจะมีหลายอาการ ซึ่งเราก็จะเข้าไปเช็กให้ลูกค้า ปัญหาส่วนมากจะเป็นทางด้านเทคนิค โดยผู้ให้บริการจะปล่อยความเร็วอินเทอร์เน็ตเกินมาอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นสัญญาณที่มากับเน็ตเวิร์กของสายโทรศัพท์ พอต้องเดินสายไกลๆ นอยซ์ดาต้ามันก็ต่ำสัญญาณก็ไปบ้างไม่ไปบ้างก็เลยเป็นปัญหา”
       
       ในข้อนี้ผู้ให้บริการก็ทำอะไรไม่ได้มาก นอกจากตามแก้กันไป ซึ่งทางลูกค้าก็ยังพอใจในระดับหนึ่ง
       
       “ก็มีลูกค้าว่านะ เน็ตช้า เน็ตหลุดบ่อย ทำไมเป็นแบบนี้ซ้ำๆ เราก็ต้องอธิบายไปมันเป็นปัญหาทางเทคนิคเป็นเหตุสุดวิสัย อาจเกิดจากสายเคเบิล บางทีได้รับแจ้งบ้านลูกค้าที่อยู่ในสวนเราเข้าไปดูก็พบกระรอกแทะสาย เราก็เปลี่ยนใหม่หมด ผ่านไป 3-4 เดือนกระรอกมันก็มาแทะอีก ก็เกิดปัญหาซ้ำๆ เดิมๆ เราก็ต้องบอกเขาไป”
       
       ก็คงต้องยอมรับว่าความเร็วเฉลี่ยอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมันต่ำกว่ามาตรฐานจริงๆ ถ้าเปรียบกับค่าเฉลี่ยของต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาไม่น้อยสำหรับประเทศไทยเลย โดยฐานันดร์ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า จุดสำคัญอีกจุดก็คือความเร็วอินเทอร์เน็ตในพื้นที่เมืองนั้นยังมีความเสถียรมากกว่าในต่างจังหวัดอยู่มาก ซึ่งมันจะเป็นปัญหาที่เกิดจากการวางแผนด้านปัจจัยพื้นฐานที่สืบเนื่องมาจากนโยบายของรัฐ และมันก็เป็นเรื่องยากยิ่งจะได้รับการเยียวยาในเร็ววัน
       
       “ในเมืองนั้นอินเทอร์เน็ตยังดีกว่าต่างจังหวัดนะ ในต่างจังหวัดไกลๆ ความเร็วมันต่ำมาก บางที่มันไม่ถึง 1 เมกด้วยซ้ำไป ถ้าถามว่าอีกนานแค่ไหนอินเทอร์เน็ตจะกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีความเสถียรมากกว่านี้ ก็คงต้องให้รัฐบาลเป็นผู้ตอบคำถาม”
       

       อินเทอร์เน็ตคือโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่พัฒนา
       
       สิงห์ สิงห์ขจร อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา อธิบายว่า จริงๆ แล้วความเร็วอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยก็ไม่ถือว่าต่ำเกินไปนัก แต่ปัญหาอยู่ที่ผู้ให้บริการส่วนใหญ่ไม่ได้ปล่อยความเร็วแบบเต็มรูปแบบตามที่โฆษณาเอาไว้ ซึ่งหากให้สันนิษฐานเหตุผลก็คงเป็นผู้ให้บริการกังวลว่าผู้ใช้งานจะนำไปใช้ผิดประเภท เช่น การดาวน์โหลดบิตทอร์เรนต์ ก็เลยต้องจำกัดความเร็ว ประกอบกับอัตราแบนด์วิดท์ (อัตราการส่งถ่ายข้อมูล) อาจจะไม่มีขนาดใหญ่พอสำหรับการรองรับผู้ใช้จำนวนมาก
       
       "จริงๆ ตอนนี้อินเทอร์เน็ตถือเป็นปัจจัยพื้นฐานระดับต้นๆ ถ้ามองในแง่ของชีวิตประจำวัน คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ หรือคนที่เข้าถึงเทคโนโลยีได้นั้น ค่อนข้างจะมีความต้องการที่จะใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงถึงสูงมาก จนถึงขั้นที่ว่าบางคนที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้สักหนึ่งวันก็อาจจะเกิดอาการหงุดหงิดได้ แต่ปัญหาก็คือ ที่ผ่านมากระทรวงไอซีที (กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) หรือคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่เคยเข้ามาสำรวจในส่วนนี้เลยว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ต้องจ่ายเงินหลายร้อยบาททุกเดือนนั้น เขาได้ความเร็วอินเทอร์เน็ตตามที่ต้องการหรือเปล่า ซึ่งตรงนี้ไม่มีใครเคยเข้ามาตรวจสอบผู้ให้บริการ และตัวผู้ใช้บริการซึ่งก็รู้ว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่เขาถูกเอาเปรียบอยู่ แต่ก็ไม่เคยมีผู้ได้นำเรื่องเหล่านี้ไปร้องเรียน และจรรยาบรรณของผู้ให้บริการเองก็ยังไม่มากนักที่จะให้ความจริงแก่ผู้ใช้บริการ"
       
       ซึ่งทั้งหมดนี้ สิงห์ย้ำว่า ก็เป็นการสะท้อนให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่า นโยบายของภาครัฐปัจจุบันนั้นยังมีปัญหาอยู่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะบทบาทของกระทรวงไอซีที ที่ดูจะมุ่งเน้นแต่เรื่องผลกระทบต่อการใช้งาน หรือการทำไวไฟฟรีมากกว่าการจะทำให้เรื่องนี้เป็นเครือข่ายพื้นฐานของประเทศ ซึ่งโอกาสที่จะเกิดปัญหาตามมานั้นมีค่อนข้างสูง เพราะเมื่อระบบโครงสร้างไม่เกิด โอกาสที่จะมีผู้เข้าถึงก็น้อยลงตามไปด้วย
       
       เพราะฉะนั้น เพื่อทำให้ปัญหานี้หมดไป หลักๆ รัฐ รวมไปถึง กสทช. ที่กำลังจะเกิดขึ้นก็ควรจะมุ่งเน้นการพัฒนาโทรคมนาคมทั้งระบบมากกว่าการพัฒนาเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องอินเทอร์เน็ต ระบบบรอดแบนด์ ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องนี้ทั้งสิ้น และแน่นอนถ้ามีการวางโครงสร้างของระบบนี้ทั้งหมดเสร็จ โอกาสที่อินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งในนั้นจะเดินหน้าอย่างมีทิศทางก็มีสูงขึ้นตามไปด้วย
       
       "ตอนนี้ประเด็นที่ถูกจับส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่อยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์มากกว่า ซึ่งเป็นนโยบายเพื่อตอบโจทย์กลุ่มก้อนของนักการเมืองมากกว่า แต่เรื่องแผนแม่บทเกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคมในอนาคตยังไม่ค่อยมีคนสนใจเท่าใดนัก ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นพื้นฐานของเรื่องพวกนั้น ตัวอย่างเช่นเรื่องการจะทำไวไฟฟรีทั่วประเทศ ตอนนั้นมันกลายเป็นว่าเราจะทำโดยไม่คำนึงด้วยซ้ำว่าผู้ใช้งานเขามีความสามารถเข้าถึงไวไฟนั้นจริงหรือเปล่า เอาง่ายๆ สมมติผมไปปล่อยไวไฟฟรีที่ อบต.กลางภูเขาในจังหวัดน่าน แล้วมีผู้ใช้งานแค่ 1-2 คน มันจะคุ้มค่าหรือเปล่า”
       
       และถ้าเมื่อไหร่ที่อินเทอร์เน็ตกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ทั่วถึงและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงมันได้จริงๆ เมื่อนั้นรูปแบบการดำเนินชีวิตของคนไทยคงจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นไม่ใช่น้อย
       
       ชีวิตที่ดีบนเครือข่ายยังเป็นแค่วิมานในฝัน
       
       ภาพการทำงานอยู่ที่บ้านผ่านเครือข่ายออนไลน์คุณภาพคงจะเป็นภาพชีวิตที่คนรุ่นใหม่หลายคนใฝ่ฝัน แต่ในความเป็นจริง ภาพที่ว่าคงจะไม่เกิดขึ้นง่ายๆ เพราะรู้ๆ กันอยู่ว่าอินเทอร์เน็ตเต่าในบ้านเรานั้นมันไม่เอื้ออำนวย
       
       คีรี มงคลแก้วสกุล underwriting manager บริษัท bestre ซึ่งมีฐานปฏิบัติการอยู่ในประเทศไทย แต่ต้องประสานกับสำนักงานที่มาเลเซียอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง
       
       “ผมทำงานให้บริษัทของมาเลเซีย แต่ประจำการอยู่ที่ประเทศไทย ต้องใช้อินเทอร์เน็ตในการทำงานที่ตอบสนองแบบเรียลไทม์ เหมือนว่าอยู่ในออฟฟิศเดียวกัน ทั้งประชุมวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ หรือการบริหารจัดการอื่นในการแข่งกับต่างประเทศ”
       
       เพราะการแข่งขันในด้านของการทำธุรกิจ ไม่ได้มีประเทศไทยอยู่ในตลาดเพียงประเทศเดียว ทำให้ต้องแข่งขันกับทั้งโลก แต่ปัญหาเรื่องความเร็วทำให้หลายครั้งจะติดปัญหาที่ช้ากว่าคู่แข่ง
       
       นอกจากปัญหาเรื่องสปีดดาวน์โหลดที่ประเทศไทยต่ำกว่ามาตรฐานโลกแล้ว อีกปัญหาเชิงเทคนิคของการทำงานคือความเร็วในการอัปโหลด เพราะในการทำงาน หลายครั้งเขาต้องใช้อินเทอร์เน็ตที่มีอัปโหลดสปีดประมาณ 10Mb แต่ในท้องตลาดมีให้สูงสุดเพียง 2Mb เท่านั้น
       
       “ผมต้องส่งงานให้ลูกค้าอัปโหลดเอกสารไปให้ทางมาเลเซีย สุดท้ายก็ต้องแก้ไขปัญหาโดยการส่งเอกสารกระดาษเป็นพันๆ ฉบับไปให้ทางมาเลเซียจัดการเอง”
       
       เมื่อลองเทียบความเจริญทางด้านเทคโนโลยีในบ้านเรา เขามองว่าประเทศไทยควรจะมีอินเทอร์เน็ตที่เทียบเท่ากับเพื่อนบ้านประเทศติดกันอย่างมาเลเซีย หรือสิงคโปร์แล้ว
       
       “ผมมองว่ามันตลกถ้าจะตัดสินว่าเราไม่แข่งกับประเทศอื่น และไม่ต้องมี 3G ทุกวันนี้มันไม่ได้เป็นแบบนั้น ผมเข้าใจว่าเรื่องสัมปทานเป็นเรื่องของผลประโยชน์ของหลายฝ่าย แต่คนทั้งประเทศควรได้รับการตอบสนองที่ดีกว่านี้จากรัฐบาล”
       
       และนอกจากการใช้อินเทอร์เน็ตในการทำงานแล้ว ในอีกภาคหนึ่งอินเทอร์เน็ตก็มีความสำคัญในแง่ของการตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนในยุคนี้ไม่แพ้กัน และแน่นอนว่า สปีดอินเทอร์เน็ตที่ไม่เร็วเท่าที่ควร ก็เป็นอุปสรรคที่ขัดขวางชีวิตดิจิตอลอยู่ไม่น้อย กนกออม บุญมาเลิศ เป็นอีกผู้หนึ่งซึ่งรับเอาอินเทอร์เน็ตมาเป็นส่วนหนึ่งในไลฟ์สไตล์ของตน กล่าวว่า
       
       “สัญญาณอินเทอร์เน็ตของประเทศไทย เป็นการส่งสัญญาณที่ไม่มีคุณภาพ เพราะในแต่ละครั้งที่เช็กอีเมล์ เฟซบุ๊ก หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็ต้องเจอกับเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความหงุดหงิดรำคาญ ทั้งๆ มันเป็นบริการที่ควรจะรวดเร็วเข้ากับยุคสมัย ยิ่งหากเป็นการโหลดภาพยนตร์หรือเพลงจากอินเทอร์เน็ตด้วยแล้ว ก็ยิ่งช้าเข้าไปใหญ่ จะว่าไปมันก็เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนเคยเจอประสบการณ์แบบนี้ไปแล้ว
       
       “มันสัญญาณไม่ดี ทำให้เราเล่นอะไรได้ไม่เต็มที่ บริษัทอินเทอร์เน็ตพวกนี้เขาจะชอบส่งจดหมายมาบอกว่าได้เพิ่มความเร็วอินเตอร์เน็ตให้บ้านเราแล้วนะ อย่างที่เราเคยเล่นอยู่ 4Mbก็อัปให้เป็น 6Mb แต่พอเราลองตรวจดูเองปรากฏว่ามันยังเร็วเท่าเดิม ส่งมาหลอกลวงเราเฉยๆ อย่างนั้น”
       
       กนกออมยังให้ความเห็นว่า ที่อินเทอร์เน็ตของเมืองไทยยังไม่เร็วนั้น น่าจะเป็นเพราะปัญหาเกี่ยวกับสัมปทาน ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของคนตัวใหญ่ๆ ที่ส่งผลต่อคนตัวเล็กอย่างเธอ และอีกหลายๆ คน
       
       ………..
       
       แม้ว่าบางพื้นที่โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ จะมีอินเทอร์เน็ตที่ถือว่าได้มาตรฐานให้บริการอยู่ แต่ถ้าต้องเอามาใช้ทำงานหรือใช้เพื่อไลฟ์สไตล์อย่างจริงๆ จังๆ ก็ไม่อาจกล่าวได้เต็มปากว่ามันมีความเร็วที่เพียงพอต่อความต้องการ ส่วนในพื้นที่ห่างไกลออกไปนั้น ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะว่าในสายตาของภาครัฐนั้นอินเทอร์เน็ตยังไม่ถือว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ต้องมีการวางรากฐานและส่งเสริมให้มีการเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม
       
       และแน่นอนว่า ความเร็วอินเทอร์เน็ตของไทย ก็จะยังคงต่ำกว่ามาตรฐานโลกต่อไปอีกนาน ตราบใดที่ผู้มีอำนาจไม่ได้มองว่าเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเรื่องที่ต้องเร่งให้มีการพัฒนาอย่างเต็มที่เพื่อรับมือการแข่งขันในระดับนานาชาติที่เข้าสู่ยุคดิจิตอล คอนเทนต์ และการติดต่อออนไลน์ในวิถีชีวิตของคนทั้งโลก
       >>>>>>>>>>
       ……….
       เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
       ภาพ : ทีมภาพ CLICK

ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)