ทรูอินเทอร์เน็ต เกตเวย์ ตั้งเป้ามีส่วนแบ่ง 20-23% ของมูลค่าร่วมเช่าเกตแวร์ 4,000 ล้านบาทปีนี้ เชื่อปีหน้าตลาดยังโตอีกเท่าตัว ส่วนทิศทางค่าเช่าถูกลง 10-15% ตามแนวโน้มต่างประเทศ เผยปัจจุบันมีลูกค้าไอเอสพีในมือ 15 ราย ถึงจุดคุ้มทุนตั้งแต่เปิดบริษัท 1 ปีตามเป้า และเตรียมขยายธุรกิจไปประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมจัดงบ 40 ล้านบาทขยายเกตเวย์ไปสิงคโปร์
นายอโณทัย รัตนกุล ผู้จัดการทั่วไปบริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต เกตเวย์ จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2552 คาดว่ามูลตลาดรวมปริมาณการใช้แบนด์วิดท์อยู่ที่ 4,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวจากปีที่ผ่านมาที่มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2553 จะเพิ่มถึง 2 เท่าตัวเป็น 6,500 ล้านบาท เนื่องจากความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศเติบโตมากขึ้น ในขณะที่แนวโน้มราคาเช่าแบนด์วิดท์ปรับตัวลดลงเฉลี่ย 10-15 % ตามราคาต่างประเทศ สำหรับปริมาณการใช้แบนด์วิดท์ในประเทศไทยเชื่อมต่อกับต่างประเทศโดยรวมจะโตแบบก้าวกระโดดอย่างต่ำ 100% จาก 30 Gbps ในปี 2551 เป็น 10 Gbps ในปีนี้
อย่างไรก็ดี ทรูคาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 20-23 % ของมูลค่าตลาด ที่คาดว่าจะเติบโต 4,000 ล้านบาท ส่วนมาร์เกตแชร์ของทรูอินเทอร์เน็ตในปี 2551 อยู่ที่ 20-23 % เป็นอันดับสองรองจากผู้ให้บริการหลักที่ให้บริการรายแรกในประเทศ และบริษัทถึงจุดคุ้มทุนจากการดำเนินการตั้งแต่เป็นบริษัทได้ 1 ปี ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ สำหรับในปีที่ผ่านมา ทรู อินเทอร์เน็ตมีลูกค้าที่เป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือไอเอสพีรายย่อย 15 ราย จากผู้ให้บริการในตลาดรวมทั้งหมด 100 ราย
“ภาวะเศรษฐกิจไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอินเทอร์เน็ต เพราะความต้องการในการใช้งานยังมีต่อเนื่อง เพราะอินเทอร์เน็ตกลายเป็นบริการที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ทั้งในด้านธุรกิจ และการศึกษาหาความรู้” นายอโณทัยกล่าว
พร้อมกันนี้ บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว กัมพูชา และ พม่า เพื่อขยายการบริการ เข้าไปในประเทศดังกล่าว หากสามารถดำเนินการได้ตามแผน จะส่งผลให้บริษัทมีรายได้จากต่างประเทศปีนี้เป็น 10 % จากเดิมที่มีรายได้ในประเทศ 100 %
นอกจากนี้ ทรูอินเทอร์เน็ตได้เตรียมงบประมาณการลงทุนในปีนี้ 40 ล้านบาทสำหรับเพื่อขยายเกตเวย์ไปยังประเทศสิงคโปร์เพิ่มเติม เพื่อรองรับการใช้งานเพิ่มเติม จาก 4 Gbps เป็น 10-12.5 Gbps
นายอโณทัยกล่าวว่า แนวโน้มการใช้งานแบนด์วิดท์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นแต่ราคาค่าเช่าปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องนั้น จะส่งผลดีต่อผู้ใช้บริการทั่วไป 2 แนวทางคือ 1. เมื่อผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ตรายย่อยมีต้นทุนลดลงจึงปรับลดค่าบริการแก่ผู้ใช้ลดลงด้วย 2. ผู้บริโภคไม่ปรับลดค่าบริการตามต้นทุน แต่เก็บกำไรจากส่วนต่างไปลงทุนเพิ่มบริการที่ดีขึ้นแก่ผู้ใช้ทั่วไป
“ปัจจุบันราคาในประเทศไทยเสถียรมากขึ้น เพราะมีการแข่งขันของผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์หลายราย ปัจจุบันเรามีความพร้อมทั้งด้านคุณภาพ ราคา โครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนที่ผ่านมา เช่น การติดตั้ง POP ในไทย สิงคโปร์ อเมริกา และยังขยายชุมสายให้ครอบคลุมทั่วโลก ในยุโรปที่ประเทศอังกฤษ ในเอเชีย ที่ฮ่องกง”