Author Topic: เปิดฟาร์ม “ดอร์เมาส์” กระรอกจิ๋วน่ารัก  (Read 4718 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai

<a href="https://www.youtube.com/watch?v=9gis9j55hUw" target="_blank">http://www.youtube.com/watch?v=9gis9j55hUw</a>

เปิดฟาร์ม “ดอร์เมาส์” กระรอกจิ๋วน่ารัก เปิดฟาร์ม “ดอร์เมาส์” กระรอกจิ๋วน่ารัก เปิดฟาร์ม “ดอร์เมาส์” กระรอกจิ๋วน่ารัก


     ตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นมิกกี้เมาส์ มินนี่เมาส์ สุดยอดการ์ตูนฮิตในดวงใจของใครหลายคน ก็คงต้องหลบให้กับความน่ารัก แสนซนของ “ดอร์เมาส์” เจ้าหนูหางกระรอกตัวจิ๋วเท่าฝ่ามือ ที่รวมสัตว์สองลักษณะอยู่ในตัวเดียวกัน วันนี้เจ้าตัวจิ๋วจะออกมาโลดแล่นให้เด็กๆ และเหล่าคนรักสัตว์ได้โอบกอดขนนุ่มๆ ราวกับปุยฝ้ายกันแบบตัวเป็นๆ ถ้าอยากสัมผัสกับความน่ารัก นัยน์ตาใสซื่อ และตื่นเต้นกับการวิ่งวุ่นไล่จับจนลืมเวลา ก็มาทำความรู้จักกับเจ้ากระรอกจิ๋วแต่แจ๋วตัวนี้กันเลย
      

       M-pet ขอยึดถิ่นดอร์เมาส์ชั่วคราว เพื่อลงสัมภาษณ์เจ้าของฟาร์มดอร์เมาส์ ปาล์ม - สมโภช เสื้อวิจิตร ที่เริ่มต้นเลี้ยงจาก 2 ตัวแรก ด้วยเพราะความชอบเป็นเหตุ ทำให้ต้องเพิ่มจำนวนการเลี้ยงมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมีทั้งหมดถึง 36 ตัว สุดท้ายจึงต้องตกลงปลงใจเพาะเลี้ยงเพื่อขาย จึงกลายเป็นช่องทางเพิ่มกำไรไปโดยปริยาย
      
       ทำความรู้จัก “ดอร์เมาส์”
       ดอร์เมาส์ (dormouse) หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกกันว่า กระรอกจิ๋ว (micro squirrels) ด้วยลักษณะตัวคล้ายหนู ดวงตาดำกลมโต เป็นสัตว์ฟันแทะอีกชนิดหนึ่งที่มีขนสั้นนุ่มมาก หางฟูเหมือนกระรอก ยาวเท่ากับตัวประมาณ 3-4 นิ้ว น้ำหนักประมาณ 20-60 กรัม มีขนสีเทาคล้ายชินชิลา แต่ตอนโตเต็มที่แล้วสีขนจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีแดงทราย ใต้ท้องมีสีขาวครีม และที่สำคัญมันมีขนาดตัวเล็กจิ๋ว ชนิดที่ว่าสามารถกระโดดลงท่อระบายน้ำขนาดเล็กได้อย่างสบาย ทั้งยังมีความว่องไว ปราดเปรียวตามสัญชาตญาณกระรอกป่า
      

       เจ้ากระรอกจิ๋วมีหลากหลายสายพันธุ์และแพร่กระจายในหลายประเทศทั่วโลก แต่มีถิ่นกำเนิดแหล่งใหญ่สำคัญอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และทวีปแอฟริกา ส่วนชนิดที่นิยมเลี้ยงซึ่งนำเข้ามาภายในประเทศไทย คือแอฟริกัน ปิ๊กมี่ ดอร์เมาส์ (Afican pygmy dormouse) ซึ่งมีขนาดเล็กที่สุด ส่งตรงจากทวีปแถบแอฟริกากลาง อย่างไรก็ตาม ดอร์เมาส์เกือบทุกชนิดไม่ใช่สัตว์คุ้มครอง (ยกเว้นสายพันธุ์เฉพาะถิ่นในเกาะญี่ปุ่น)
      
       ชื่อดอร์เมาส์นั้น มาจาก คำว่า "Dor" ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษโบราณ แปลว่า ผู้หลับใหล มันถูกเรียกตามพฤติกรรมที่ต้องนอนจำศีลตลอดฤดูหนาวในช่วงที่อาหารขาดแคลน ปกติแล้วดอร์เมาส์เป็นสัตว์กลางคืน สังเกตได้จากดวงตากลมโต สีดำสนิทที่มีไว้สำหรับออกหากินเฉพาะเวลากลางคืนในป่าดิบชื้นแถบแอฟริกา กินอาหารจำพวกผลไม้ อาทิ กล้วย แอปเปิล เป็นต้น ส่วนเวลากลางวันจะนอนหลับ
      
       “เมื่ออากาศเย็นลงดอร์เมาส์จะหาโพรงไม้ รังนกเก่า หรือแทะผลโอ๊กให้เป็นโพรงเพื่อเข้าไปจำศีล แต่พฤติกรรมนี้จะไม่เกิดในเมืองไทยเพราะเป็นเมืองร้อน ดังนั้นการเลี้ยงดอร์เมาส์จึงต้องมีจัดสถานที่และควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่ต่ำกว่า 70 องศาฟาเรนไฮต์ หรือประมาณ 24 องศาเซลเซียส เพราะฉะนั้นดอร์เมาส์จึงไม่เหมาะที่จะเลี้ยงในห้องแอร์”
      
       เลี้ยงไม่ฝืนธรรมชาติ
       ดอร์เมาส์เป็นสัตว์สังคม จึงควรเลี้ยงเป็นคู่หรือรวมกันเป็นกลุ่ม ในธรรมชาติอาจจะพบดอร์เมาส์อยู่รวมกันมากถึง 20ตัวในครอบครัวเดียว เมื่อคนนำมาเป็นสัตว์เลี้ยง ดอร์เมาส์ก็เข้ากับคนได้ไม่ยากนัก ค่อนข้างเลี้ยงง่าย จึงเหมาะสำหรับคนไม่มีเวลา ไม่ค่อยอยู่ห้อง หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าดอร์เมาส์มีนิสัยคล้ายชูการ์ไกลเดอร์ แต่จริงๆ แล้วสัตว์ทั้งสองชนิดนี้ไม่เหมือนกันเลย โดยเฉพาะนิสัยที่ค่อนข้างขี้ตกใจของดอร์เมาส์ ต่างจากชูการ์ไกลเดอร์ที่เกาะติดคนอยู่ตลอดเวลา
      
       "คนเลี้ยงหลายคนมักจะทอดทิ้งดอร์เมาส์ของตนเองเมื่อโตขึ้น เนื่องจากพวกมันไม่มีนิสัยออดอ้อนเหมือนสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆ ชอบซ่อนตัว ไม่ชอบแสง เคลื่อนไหวรวดเร็ว และระวังตัวสูง เพราะเป็นเหยื่อของสัตว์ใหญ่ตามธรรมชาติ ทำให้มันค่อนข้างตื่นง่าย ชอบซุกซ่อน และกลัวสิ่งที่เคลื่อนไหววูบวาบ"
      
       ถ้าผู้เลี้ยงเข้าใจพฤติกรรมตามธรรมชาติของพวกมันให้ดี และให้เวลากับมันเพียงพอ มีความสุขที่ได้จับเล่น ลูบคลำเจ้ากระรอกจิ๋วตัวอ้วน ได้จัดมุมของเล่นในตู้ และนั่งดูมันแสดงกายกรรมอย่างคล่องแคล่ว วิ่งเล่นปีนป่าย หรือนั่งแทะอาหาร ก็จะช่วยลดปัญหาการทิ้งขว้างสัตว์ จากอาการเริ่มเบื่อหน่ายได้
      
       ส่วนใหญ่คนที่ต้องการเลี้ยงจะนึกว่าดอร์เมาส์นั้นเหมือนหนูแฮมเตอร์ที่อาศัยอยู่ในกรงได้ แต่เจ้าดอร์เมาส์นี้เป็นสัตว์ที่ชอบผจญภัย ชอบมุด และปีนป่าย จึงไม่นิยมเลี้ยงในกรงที่มีลักษณะเป็นซี่ลวด
        
      
       “คนส่วนใหญ่จะเลี้ยงในตู้กระจกสำหรับใช้เลี้ยงปลา ขนาดกว้าง20นิ้ว ปิดด้วยตะแกรงขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร เหมาะสำหรับเลี้ยง 2 ตัว แต่จะมีข้อเสียคือ ทำความสะอาดยาก และมีน้ำหนักมาก แต่สำหรับตัวผมเองจะเพาะดอร์เมาส์ในตะกร้าสุนัขแบบพกพา ซึ่งทำความสะอาดง่าย มีน้ำหนักเบา ระบายอากาศได้ดี ควรปูพื้นด้วยขี้เลื่อยหนาประมาณ1-2นิ้ว อาจใช้เป็นบ้านไม้หรือบ้านดินเผาสำหรับทำเป็นรังนอน สำหรับถ้วยอาหารจะใช้แบบเซรามิกมีแบบแห้งและแบบเปียก เสริมด้วยขวดน้ำแบบสุญญากาศ”
      
       คนเลี้ยงอาจมีการตกแต่งสถานที่เลี้ยงเพื่อเลียนแบบธรรมชาติให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการจัดวางกิ่งไม้ ผูกเชือกให้สัตว์ได้ปีนป่าย และมีของเล่นไม้ต่างๆ แต่ที่สำคัญอย่างที่กล่าวไว้ในข้างต้นว่าไม่แนะนำให้เลี้ยงในห้องปรับอากาศที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 24 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่านี้ดอร์เมาส์จะเริ่มนอนจำศีล ซึ่งเป็นอันตรายสำหรับสัตว์ เพราะฉะนั้นอุณหภูมิห้องจึงเหมาะกับการเลี้ยงสัตว์ชนิดนี้มากที่สุด
      
       ตามธรรมชาติของเจ้าดอร์เมาส์จะกินอาหารหลากหลาย ทั้งเมล็ดพืช ผลไม้ และแมลงต่างๆ ดังนั้นอาหารที่เหมาะสมสำหรับดอร์เมาส์ในกรงเลี้ยงนั้นคือ อาหารสำเร็จรูปของหนูแฮมสเตอร์ และเสริมด้วย นม โยเกิร์ต ซีรีแลค ขนมปัง ผักสด จิ้งหรีด และผลไม้ต่างๆ ซึ่งถ้วยอาหารนั้นต้องแยกแบบเปียกและแบบแห้ง และต้องเปลี่ยนถ้วยอาหารทุกวัน รวมทั้งเปลี่ยนขี้เลื่อยใหม่ และล้างอุปกรณ์ทุกๆ สัปดาห์ เพื่อป้องกันกลิ่นเหม็นที่อาจเกิดขึ้นได้
      
       ถึงตัวเล็กแต่ลูกดก
       สำหรับในต่างประเทศสามารถเพาะพันธุ์ดอร์เมาส์ได้น้อยครั้งต่อปี เนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็น สัตว์จำศีลจึงไม่เอื้ออำนวยต่อการผสมพันธุ์ แต่สำหรับเมืองไทยมีสภาพอากาศร้อนชื้น จึงสามารถขยายพันธุ์สัตว์ได้ตลอดทั้งปี
      
       เจ้าดอร์เมาส์เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่ไม่สามารถดูเพศได้ตั้งแต่เกิด แต่สามารถรู้ได้ตอนเข้าสู่วัยผสมพันธุ์ เพศผู้จะมีอัณฑะ ส่วนตัวเมียจะไม่มี ดอร์เมาส์ เมื่อตัวผู้โตขึ้นจะเริ่มทะเลาะกัน (สิ่งที่ระวังควรจะมีตัวผู้แค่ 1 ตัว ต่อตัวเมีย 2 ตัว ถ้าตัวผู้เยอะกว่า 1 ตัว จะเกิดการแย่งตัวเมียอาจทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตายได้) ดอร์เมาส์มีความพร้อมผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุประมาณ 5-6 เดือน ซึ่งจะสังเกตอาการตัวผู้ได้จากเสียงร้อง "คริกๆ" คล้ายเสียงจิ้งหรีด หากผสมพันธุ์กันแล้วตัวเมียจะตั้งท้องนานประมาณ 25-35 วัน และออกลูกครอกละประมาณ 2-10 ตัว
      
       ดอร์เมาส์นั้นเป็นสัตว์ที่หวงลูกมาก เพราะฉะนั้นเมื่อลูกดอร์เมาส์เกิดจึงไม่ควรเปิดดูถ้าไม่จำเป็น ควรตั้งกรงไว้ที่คนไม่เดินพลุกพล่าน ถ้าจับลูกดอร์เมาส์ในช่วงนี้จะทำให้แม่เกิดความเครียด อาจไม่เลี้ยงลูกหรือกินลูกได้ แต่สามารถดูลูกดอร์เมาส์หลังจากลืมตาได้แล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับแม่ดอร์เมาส์หลังคลอด คืออาหารและน้ำ ถ้าให้ดีควรมีอาหารเสริมให้วันเว้นวัน ลูกดอร์เมาส์นั้นจะหย่านมและกินอาหารเองได้หลังคลอดประมาณ 30 วัน
      
       “แต่สำหรับผมนั้นไม่แนะนำให้เลี้ยงลูกป้อน เพราะมีอัตราการเสี่ยงสูงและมีความสมบูรณ์ไม่เทียบเท่ากับให้แม่เลี้ยงลูกดอร์เมาส์เอง แต่สามารถทำให้เชื่องโดยเอาออกมาเลี้ยงตอนอายุได้ 28-30 วัน แต่ต้องเอาใส่ใจโดยจับเล่นบ่อยๆให้คุ้นมือ โดยตอนแรกลูกดอร์เมาส์นั้นงับบ้างเป็นบางครั้ง”
      
       ในช่วงแรกได้มีการนำเข้าดอร์เมาส์มาจากต่างประเทศ จากนั้นก็มีการเพาะพันธุ์ภายในประเทศ เพราะดอร์เมาส์เป็นสัตว์ที่เพาะง่าย เนื่องจากสภาพอากาศในเมืองไทยเป็นอากาศร้อน ทำให้มีลูกได้ถึงปีละ 3-4 ครั้ง แต่ในต่างประเทศพบว่าดอร์เมาส์มีลูกได้เพียง 1-2 ครั้ง/ปี จึงมีการนำเข้าจากต่างประเทศเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น ส่งผลทำให้เกิดปัญหาเลือดชิดในสายพันธุ์แล้วเกิดลูกที่ไม่สมบูรณ์
        
      
       “ลักษณะลูกที่เกิดจากการผสมพันธุ์ของดอร์เมาส์ที่มีสายเลือดชิดกันทางพันธุกรรม จะมีความผิดปกติที่แตกต่างจากพ่อแม่ สามารถสังเกตจากลักษณะภายนอกได้อย่างชัดเจน คือปลายหางเป็นสีขาว อาจดูสวยงาม แต่เป็นลักษณะความผิดปกติของยีนส์ด้อยที่ทำให้เลี้ยงไม่โต นอกจากนี้ยังมีดอร์เมาส์ที่เกิดมามีลักษณะผิดธรรมชาติ หางขด ปลายหางขาด หรือไม่ก็หางกุด ดังนั้น อัตราการเกิดมาจะมีความสมบูรณ์จึงเกิดได้ยาก”
      
       ทุนต่ำ กำไรสูง
       ถ้าย้อนไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ธุรกิจขายสัตว์เลี้ยงอย่างดอร์เมาส์มีคู่แข่งในตลาดน้อยมาก เนื่องจากคนเลี้ยงดอร์เมาส์ยังมีจำนวนน้อย ประกอบกับเป็นสัตวที่เลี้ยงไม่ยาก ขยายพันธุ์ง่าย จึงเป็นข้อได้เปรียบกว่าสัตว์ชนิดอื่นสำหรับเพาะเลี้ยงเพื่อขาย
      
       “จากเมื่อ 2 ปีก่อน ดอร์เมาส์มีราคาขายสูงเหยียบหลักพัน อยู่ที่ 2,000-2,500 บาท แต่ปัจจุบันนี้ราคาขายได้ลดลงเท่าตัว อยู่ที่ประมาณ 400-700 บาท ถือว่าราคาถูกกว่าสัตว์เลี้ยงแปลกๆ อีกหลายชนิดในเมืองไทย จึงทำให้ลูกค้าซึ่งมีตั้งแต่อายุ13 ปีจนถึงวัยเกษียณ สามารถซื้อหาจับจองกันได้ง่าย”
      
       ดอร์เมาส์ ยังเปิดโอกาสให้แก่นักลงทุนที่ต้องการเลี้ยงเพื่อขาย ด้วยเม็ดเงินไม่มากอย่างที่คิด เพียงแค่ 20,000 บาทก็สามารถลงทุนได้ง่ายๆ ตั้งแต่ต้นทุนเรื่องค่าใช้จ่ายซื้ออุปกรณ์ในการเลี้ยงทุกชนิด และเจ้าตัวดอร์เมาส์ก็สามารถซื้อได้ทั้งหมด 18 คู่ ตามคำแนะนำของปาล์มแบบไม่สงวนลิขสิทธิ์
        
      
       “ผมสามารถคืนทุนได้ตั้งแต่ 4 เดือนแรก ตอนนี้ก็มีค่าใช้จ่ายแค่อาหารอย่างเดียว ถ้าหักต้นทุนค่าอาหาร ผลไม้ ซีรีแลค นม โยเกิร์ต ก็จะได้กำไรตัวละประมาณ 70% ไซส์โตจะแพงหน่อย ราคา 800 บาท (อายุ 6 เดือนขึ้นไป สามารถขยายพันธุ์ได้) แต่ไซส์เล็ก ราคา 500 บาท ราคาขึ้นอยู่กับอายุ และขนาดของดอร์เมาส์ ผมเพาะพันธุ์เดือนหนึ่งออกมาเฉลี่ยประมาณ 20-25 ตัว อย่างล็อตใหญ่ คือช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา แต่ช่วงนี้ขายไม่เกิน 20 ตัว/เดือน”
        
      
       “การขอจองสัตว์เลี้ยงมักมีปัญหา ผมจึงไม่รับจอง เพราะส่วนใหญ่ลูกค้าจองแล้วเขาไม่มา พอโทร.หาก็ตัดสายทิ้ง หรือไม่รับโทรศัพท์บ้าง สำหรับลูกค้าในเขตกรุงเทพฯ ถ้าต้องการซื้อเราสามารถไปส่งให้ได้ ส่วนต่างจังหวัดก็จัดส่งได้เช่นกัน”
        
      
       ตอนนี้ถ้าใครเกิดหลงรักเจ้าดอร์เมาส์ และอยากเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนเล่นยามว่าง สำหรับผู้ที่เริ่มต้นเลี้ยงสามารถขอคำแนะนำดีๆ ได้ที่ คุณปาล์ม เจ้าของฟาร์มดอร์เมาส์ โทร. 08-7706-2509 หรือสะดวกติดต่อทางอีเมล : somposh107@hotmail.com
        
      
       รู้สักนิด...ก่อนคิดจะเลี้ยง
       การจับดอร์เมาส์นั้นควรจับลำตัว ไม่ควรจับหาง เพราะจะทำให้ดอร์เมาส์เกิดความตกใจและสลัดหางหลุดได้ ดอร์เมาส์นั้นเป็นสัตว์ที่ขี้ตกใจ จึงไม่ควรปล่อยเล่นในห้องหรือนำออกไปเล่นข้างนอก และที่สำคัญเป็นสัตว์ที่ไม่ควรนำมาเลี้ยงตอนโต เพราะจะให้เชื่องนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก จึงนิยมนำมาเลี้ยงในช่วงอายุไม่เกิน 1 เดือน
      
      
      
      ช่วงชีวิต ประมาณ 6 ปี (ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม)
       น้ำหนักโตเต็มวัย 20-60 กรัม
       วัยเจริญพันธุ์ 5-6 เดือน
       ระยะตั้งท้อง 30-40 วัน
       ขนาดครอก 2-10 ตัว
       อายุหย่านม 30 วัน

        
        
       ข่าวโดย Manager Lite/ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์
       ภาพโดย พลภัทร วรรณดี

ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)