ก.ไอซีที หวังลดช่องว่างประชาชนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงบริการบรอดแบนด์ วาง 5 นโยบาย พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสาธารณะ การใช้คลื่นความถี่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมส่งเสริมการใช้สื่อวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และสนับสนุนการพัฒนาอุสาหกรรมซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า นโยบายของกระทรวงไอซีทีจะเน้นไปในเรื่องการครอบคลุมการให้ประโยชน์ต่อประชาชนในการเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ในพื้นที่ห่างไกล การเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศขั้นต้น ให้เป็นบริการสาธารณูปโภค
โดยแผนการดำเนินงานนั้น จะต้องเป็นไปตามแผนแม่บทกระทรวงไอซีทีฉบับที่ 2 ระหว่างปี 2552-2556 ซึ่งหลังจากรัฐบาลมีการแถลงนโยบายแล้วเสร็จ จะมีการเรียกหน่วยงานในสังกัดมาหารือ และกำกับดูแลให้เป็นไปตามภาพรวมของนโยบาย
อย่างไรก็ดีแม้นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ จะเป็นแผนต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดเก่า แต่ต้องมีการปรังปรุงประยุกต์ให้ดียิ่งขึ้นด้วย โดยจะต้องมีโครงข่ายครอบคลุมประชากร 80% ในปี 2558 และในปี 2563 จะครอบคลุมได้ 95% ซึ่งตามนโยบายของรัฐบาล ประชาชนจะต้องได้รับบริการภาครัฐอย่างทั่วถึง ทั้งด้านศึกษา สาธารณสุข การเตือนภัยพิบัติ รวมถึงให้ระบบไอซีทีช่วยยกระดับขีดความสามารถด้านแข่งขันด้านอี-คอมเมิรส์
ขณะที่นโยบายของกระทรรวงไอซีที ซึ่งรัฐบาลมีการแถลงต่อสภาฯในวันนี้ (23 ส.ค.) แบ่งเป็น 5 หัวข้อสำคัญ คือ 1.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเร่งพัฒนาโครงข่ายสื่อสารความเร็วสูงให้ครอบคลุม ทั่วถึง เพียงพอ มีคุณภาพด้วยราคาที่เหมาะสม และการแข่งขันที่เป็นธรรมสนับสนุนการพัฒนาประเทศไปสู่สังคมแห่งความรู้ ภูมิปัญญา นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคมเมืองและชนบท สนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลและข่าวสาร ยกระดับคุณภาพการศึกษา เสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ส่งเสริมการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในระยะยาว
2. ส่งเสริมการเข้าถึงการใช้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะ ที่มีการใช้งานตามความเหมาะสมโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ผลักดันให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ใช้กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยน์สาธารณะ
พร้อมทั้งการจัดให้มีบริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตตามมาตรฐาน เพื่อให้บริการในพื้นที่สาธารณะ สถานที่ราชการ และ สถานศึกษาที่กำหนดโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หรือ กำหนดเป็นเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการจัดให้บริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง
3. ส่งเสริมการใช้คลื่นความถี่อันเป็นทรัพยากรของชาติให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ อีกทั้งดำรงรักษาไว้ซึ่งสิทธิอันพึงได้ของประเทศในการใช้เทคโนโลยีด้านการสื่อสารโทรคมนาคมเหนือพื้นผิวโลก
4. ส่งเสริมการใช้สื่อวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน รวมทั้งการพัฒนาการปรับเปลี่ยนระบบการใช้เทคโนโลยีจากระบบอนาล็อกเป็นระบบดิจิตอล ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงการก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อประชาชนและประเทศชาติ โดยผลักดันให้กสทช. ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
5. สนับสนุนการพัฒนาอุสาหกรรมซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และจัดให้มีกลไก สนับสนุนแหล่งทุนสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้านไอซีที รวมทั้งพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพได้มาตรฐานและสอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านไอซีทีในภูมิภาค
Company Relate Link :
MICT
ที่มา: manager.co.th