สไกป์ (Skype) ประกาศซื้อแอปพลิเคชันส่งข้อความสนทนาทันใจแบบยกกลุ่ม GroupMe คาดแอปพลิเคชันรางวัลการันตีจากงานประชุม South By Southwest (SXSW) นี้จะช่วยให้สไกป์สู้ศึกในตลาดส่งข้อความทันใจได้ดีขึ้น ไม่เปิดเผยมูลค่าการซื้อขายแต่คาดว่างานนี้สไกป์ควักกระเป๋าไปไม่ต่ำกว่า 80 ล้านเหรียญสหรัฐ
GroupMe นั้นเป็นแอปพลิเคชันที่ผู้ใช้สามารถส่งข้อความ ภาพ และโลเกชันที่อยู่ในขณะนั้นได้แบบเฉพาะกลุ่ม ผู้พัฒนาคือบริษัทเกิดใหม่ในนิวยอร์กซึ่งได้รับเงินทุนมากกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐจากหลายกลุ่มทุน ตัวแอปพลิเคชันได้รับรางวัล ‘Breakout award’ หรือรางวัลแอปพลิเคชันแหวกแนวดีเด่นในงานประชุม SXSW เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นงานสะท้อนแนวโน้มบริการไอทีที่ได้รับการยอมรับ เช่น ทวิตเตอร์ (Twitter) และโฟร์สแควร์ (Foursquare) ต่างก็เคยเป็นดาวเด่นในงานนี้มาแล้วทั้งสิ้น
ข่าวการซื้อ GroupMe ของสไกป์ได้รับความสนใจในฐานะแรงตอกย้ำเรื่องกระแสบริการส่งข้อความแบบกลุ่ม เนื่องจากก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊ก (Facebook) บริการเครือข่ายสังคมชื่อดังก็ประกาศเปิดตัวแอปพลิเคชันส่งข้อความสนทนาทันใจขึ้นในสหรัฐฯ หลังจากเข้าซื้อบริษัท Beluga ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายคู่แข่งที่ใหญ่ที่สุดของ GroupMe
Skype บริการโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ตชื่อดังเข้าซื้อบริษัทแอปพลิเคชันส่งข้อความแบบยกกลุ่มแล้ว
นอกจากนี้ยังมีแอปเปิล (Apple) และกูเกิล (Google) ที่พยายามเปิดตัวแอปพลิเคชันส่งข้อความทันใจเพื่อล้มแชมป์ในตลาดอย่างบริการ BBM หรือ Blackberry Messenger ทั้งหมดนี้ Tony Bates ซีอีโอสไกป์ยอมรับว่า สไกป์มองเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีส่งข้อความจากอุปกรณ์เคลื่อนที่แบบกลุ่ม เพราะจะสามารถทลายอุปสรรคการสื่อสารได้ในระดับโลก
GroupMe ระบุว่า สถิติข้อความที่ส่งผ่านแอปพลิเคชัน GroupMe ในปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 100 ล้านข้อความต่อเดือน ทั้งหมดนี้ ผู้ร่วมก่อตั้ง GroupMe อย่าง Steve Martocci เชื่อว่าการจับคู่ระหว่างสไกป์และ GroupMe นั้นมีความเหมาะสม และทั้งคู่จะสามารถขยายธุรกิจไปได้อีกยาวไกล
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเบื้องต้นระบุว่าทั้ง 2 บริษัทจะให้บริการแบบแยกต่างหากในระยะแรก แต่จะสามารถผูกรวมเข้าด้วยกันตามรอย Beluga และ Facebook โดยพนักงานกว่า 20 ชีวิตของ GroupMe จะเข้าร่วมในชายคาสไกป์
สไกป์นั้นยังอยู่ในขั้นตอนการโอนกิจการให้ไมโครซอฟท์ ซึ่งยอมควักกระเป๋ามูลค่า 8.5 พันล้านเหรียญ โดยขณะนี้ทั้งคู่ยังต้องรอผลการตัดสินจากคณะกรรมาธิการยุโรป หรือ European Commission หลังจากหน่วยงานสหรัฐฯ อย่าง US Federal Trade Commission อนุมัติแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ที่มา: manager.co.th