ซิสโก้หนุนแนวคิด สมาร์ทไทยแลนด์เต็มที่ ระบุ 6 จังหวัดในไทยมีศักยภาพสูง ดอดเข้าพบทีมผู้บริหารพรรคเพื่อไทยนำเสนอแนวคิดก่อนใคร
ดร.ธัชพล โปษยานนท์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ซิสโก้ได้เข้าไปเสนอแนวคิดเรื่องสมาร์ทซิตี้ให้กับผู้บริหารในพรรคเพื่อไทย ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องการผลักดันแนวคิด 'สมาร์ทไทยแลนด์' ให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา แต่อย่างไรก็ตามจะต้องรอนโยบายของรมว.ไอซีทีคนใหม่ด้วยว่าเป็นเช่นไร
'ในมุมมองของซิสโก้ ต้องการให้ให้ประเทศไทยเป็นสมาร์ทไทยแลนด์จริงๆ ซึ่งผมมั่นใจทิศทางของรมว.ไอซีทีในเรื่องของบรอดแบนด์'
ทั้งนี้ไทยมีโครงการนำร่องในเรื่องสมาร์ทไทยแลนด์อยู่ก่อนแล้วในแผนไอซีทีแห่งชาติปี 2020 ในการกระจายดิจิตอลลงสู่ท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทเอดดูเคชัน สมาร์ทเฮลธ์ สมาร์ทกัฟเวอร์เมนต์ โดยไอดีซีมีการศึกษาว่า เมืองที่มีศักยภาพในการเป็นสมาร์ทซิตี้นั้นควรจะมีประชากรมากกว่า 1 ล้านคนขึ้นไป ในประเทศมีจังหวัดที่มีศักยภาพ 6 จังหวัดคือ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สงขลา ขอนแก่น เชียงใหม่ และชลบุรี ซึ่งแนวทางพัฒนาสมาร์ทซิตี้ในประเทศไทยนั้น น่าจะเริ่มจากการสร้างรูปแบบของเมืองขึ้นมา โดยจะต้องสร้างคัสเตอร์อำเภอในละแวกเมืองขึ้นมาพร้อมๆ กันไปด้วย
ดร.ธัชพล กล่าวถึงบทบาทของซิสโก้ที่จะเข้าร่วมในโครงการสมาร์ทไทยแลนด์ว่าในระยะสั้น ซิสโก้จะเข้าไปช่วยสนับสนุนในเรื่องโครงการแท็บเล็ตพีซี ซึ่งจะต้องเตรียมความพร้อมในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเรื่องโครงข่ายติดต่อสื่อสารที่จะต้องมีความพร้อมถึงจะใช้ประโยชน์จากแท็บเล็ตได้เต็มที่ รัฐจะต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครองถึงเจตนารมณ์ของการนำแท็บเล็ตไปใช้งาน ต้องมีการให้ความรู้ความเข้าใจถึงจะใช้ประโยชน์ได้สูงสุด
'อาจจะเป็นไปได้ที่จะให้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็ว 1 เม็กฟรี'
ส่วนแผนระยะกลาง น่าจะเป็นเรื่องของบรอดแบนด์แห่งชาติ ซึ่งจะเป็นการลดความซ้ำซ้อนการลงทุนทางด้านโครงการข่ายสื่อสารหลักๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้ถึงแสนล้านบาท โดยนำเงินดังกล่าวมาใช้ในการสร้างโครงข่ายไปตามบ้านให้มากขึ้น ซึ่งวันนี้มีโครงข่ายที่เข้าถึงตามบ้านไม่ถึง 5% ของความต้องการ เท่ากับว่า ยังขาดแคลนถึง 95%
ดร.ธัชพล กล่าวว่า แนวทางผลักดันสมาร์ทซิตี้ให้เกิดขึ้นนั้น ไอดีซีได้เสนอไว้ 2 เรื่องคือเรื่องการหาบิสซิเนสโมเดลที่ถูกต้องกับเรื่องของการกำกับดูแลที่ชาญฉลาด
บิสซิเนสโมเดลที่ถูกต้อง สำหรับไทยนั้นคิดว่าเรื่องของไพรเวทพาร์ทเนอร์ชิปโมเดล เป็นโมเดลที่น่าสนใจ เพราะรัฐบาลชุดนี้จะมีความคล่องตัวสูงในการที่จะเจรจากับเอกชนให้เข้ามาลงทุน ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งประชาชน รัฐบาลและเอกชนที่เข้ามาลงทุน
เรื่องการกำกับดูแลที่ชาญฉลาดนั้น เป็นเรื่องที่ยังขาด อย่างกรณีการเข้าถึงบรอดแบนด์ เวลานี้ชาวนาจะเข้ามาใช้อินเทอร์เน็ตในการดูราคาพืชผล หรือซื้อขายในอี-คอมเมิรซ์ จะต้องจ่ายเงินสูงถึง 6% ของค่าครองชีพของคนไทยทั้งประเทศ สูงกว่าสิงคโปร์ที่มีค่าใช้จ่ายเพียง 0.6% ซึ่งเท่ากับว่า ชาวนาไทยจ่ายสูงกว่า 10 เท่า
'สิ่งที่เวลานี้ซิสโก้พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือน่าจะเป็นเรื่องของอีกัฟเวอร์เมนต์ กับ อีเอดดูเคชั่นก่อน'
Company Related Link :
Cisco
ที่มา: manager.co.th