Author Topic: 'ศุภจี' ชี้ 6 เดือนกำไร ไทยคมหลุดการเมือง  (Read 738 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46027
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai


      ซีอีโอใหม่ไทยคม 'ศุภจี สุธรรมพันธุ์' เผยต้องการสร้างไทยคมเป็นบริษัทระดับโลก ขอเวลาปรับภาพลักษณ์ใหม่ไม่อิงการเมือง เน้นทำธุรกิจตามกฎ มั่นใจจะมีกำไรเป็นบวกใน 6 เดือน
       
       นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม กล่าวว่า เป้าหมายในเบื้องต้นของการเข้ามาบริหารไทยคมต่อจากนายอารักษ์ ชลธารนนท์ ที่เกษียณอายุการทำงานก็คือ การสร้างผลกำไรให้กับไทยคม ให้ได้ภายในช่วงเวลา 6 เดือนต่อจากนี้ โดยผลประกอบการไตรมาสสองของปีนี้ มีรายได้อยู่ที่ 1,862 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 292 ล้านบาทเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก
       
       แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจดาวเทียมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง 1,461 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 26.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถึงแม้ว่าจะได้ผลกระทบจากรายได้ในธุรกิจมือถือในเขมรและลาวจะลดลง 14.6% เหลือเพียง 274 ล้านบาท เนื่องจากการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงแต่ทำให้ผลประกอบการโดยรวมดีขึ้น ทำให้ไตรมาสสองมีผลการขาดทุนเหลือเพียง 25 ล้านบาท ลดลงถึง 83.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
       
       กลยุทธ์ในการขยายตลาดไทยคมนั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 แนวทางคือ 1.กระตุ้นตลาดกลุ่มประเทศที่ใช้บริการของไทยคมอยู่แล้ว โดยเฉพาะไอพีสตาร์ ที่ยังมีแบนด์วิธเหลือจำนวนมาก เวลานี้มีการใช้งานเพียง 16% เท่านั้น โดยจะมีกิจกรรมโปรโมชันร่วมกับพันธมิตรในแต่ละประเทศเพื่อกระตุ้นตลาดให้มีการใช้งานเพิ่มขึ้น เช่น โปรโมชันให้มีการใช้งานดาต้าแบบไม่อั้นในบางประเทศอย่างออสเตรเลียที่มีการจำกัดเรื่องแบนด์วิธในการส่งข้อมูล ถ้ามีโปรโมชันแบบนี้ก็จะกระตุ้นให้มีลูกค้าใช้งานมากขึ้น
       
       2.ขยายตลาดไปในประเทศที่ยังเข้าไปไม่ถึงหรือใช้บริการของไทยคมน้อย เช่น จีน โดยจะมีทั้งการทำเวิร์กช้อปกับพันธมิตรที่มีศักยภาพ เหมือนกับที่ประเทศมาเลเชียที่จะเข้าไปหาเจ้าภาพเพื่อช่วยเจาะตลาดให้กับไทยคม
       
       นางศุภจี กล่าวว่า สาเหตุที่เลือกเข้ามาบริหารไทยคม ซึ่งมีลักษณะการดำเนินธุรกิจต่างจากไอบีเอ็มนั้น มีอยู่ด้วยกัน 3 เรื่อง คือ 1.เนื่องจากตนเองเป็นคนไทยที่มีประสบการณ์ทำงานกับไอบีเอ็ม ซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติมานาน 22 ปี ได้เห็นข้อดีและข้อด้อยของคนไทยในการทำงานกับบริษัทต่างชาติ ก็เลยอยากจะนำประสบการณ์เหล่านี้กลับมาปรับปรุงกับองค์กรหรือปรับใช้กับองค์กรของคนไทยเพื่อให้ศักยภาพองค์กรของคนไทยดีขึ้น
       
       "จริงๆ แล้ว ไทยคมไม่ใช่บริษัทแรกที่เข้ามาคุยด้วย เคยถูกทาบทาบจากหลายๆ บริษัทอย่างธนาคาร แต่ที่เลือกไทยคม เนื่องจากไทยคมเป็นบริษัทไทยที่มีศักยภาพครอบคลุมนอกประเทศได้ ถ้าเราสามารถมีส่วนร่วมทำให้ไทยคมมีความแข็งแรง เป็นบริษัทไทยที่สามารถนำธุรกิจจากต่างประเทศเข้ามาให้คนไทยได้ ถ้าเราทำตรงนี้ให้แข็งแรงมากขึ้น ถือเป็นการนำรายได้เข้ามาในประเทศ"
       
       เธอย้ำว่า ต้องการที่จะทำให้บริษัทไทยคมเป็นบริษัทมัลติเนชั่น ถ้าทำส่วนนี้ได้ก็เป็นความภูมิใจส่วนตัวที่ต้องการทำตรงนี้ให้ได้ และพนักงานของไทยคมก็จะมีความภูมิใจในส่วนนี้ด้วย
       
       2.ไทยคมเป็นบริษัทเดียวในประเทศไทยที่บริหารจัดการธุรกิจดาวเทียมและเป็นสมบัติของประเทศ จึงเป็นอะไรที่คิดว่า ถ้าสามารถทำอะไรที่เกี่ยวเนื่องกับทรัพย์สินของชาติให้ดี ก็เป็นการตอบแทนให้กับประเทศด้วย
       
       3.เป็นเรื่องส่วนตัวไม่เกี่ยวกับธุรกิจ เป็นความเชื่อส่วนตัวที่อยากจะทำอะไรที่เกี่ยวกับการศึกษาของประเทศ ซึ่งเคยทำมาบ้างแล้วเมื่อ 8-9 ปีก่อนสมัยเป็นกรรมการผู้จัดการที่บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ที่เข้าร่วมกับโครงการการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม ซึ่งเป็นโครงการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีความรู้สึกภูมิใจที่ได้ช่วย ยิ่งได้อ่านข้อมูลของไทยคมก่อนที่จะตัดสินใจเข้ามาทำงานด้วยมีเรื่องของการศึกษามาก อย่างโครงการ ไทยคิดไทยคม ถ้าเข้ามาทำอะไรได้มากกว่านี้เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกันให้ระบบการศึกษามีทิศทางที่ดีขึ้น น่าจะเป็นประโยชน์ และเป็นความตั้งใจส่วนตัว
       
       "ทั้ง 3 ข้อนี้ทำให้รู้สึกว่า ไทยคมเป็นองค์กรที่อยากเข้ามาทำงานด้วย"
       
       ส่วนประเด็นที่บริษัท ไทยคมมีภาพลักษณ์ที่ผูกติดกับการเมือง นางศุภจี มองว่า ในมุมเรื่องของการเมืองก็เป็นเรื่องของการเมือง ไทยคมเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นบริษัทมหาชน ผู้ถือหุ้นใหญ่จริงๆ แล้ว คือประชาชนคนไทย ปัจจุบันไทยคมมีผู้ถือหุ้นรายย่อยเกือบ 60% จริงๆ แล้วไทยคมไม่ได้อิงสีใด อิงการเมืองด้านใดเลย บริษัทมีการทำธุรกิจที่ตั้งอยู่บนหลักเหตุและผล และธุรกิจที่ทำผลกำไรให้กับทุกภาคส่วน
       
       ทุกๆ ปี ไทยคมส่งรายได้คืนรัฐตามสัมปทาน และอยากจะบอกว่า ไทยคมคืนรายได้ให้รัฐมากกว่าขั้นต่ำที่เซ็นสัญญาไว้เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้วด้วยซ้ำไป บริษัทยึดในเรื่องของหลักการที่ถูกต้อง ในมุมของการเมืองไม่ว่าเป็นรัฐบาลไหน พรรคไหนไทยคมก็สามารถทำงานร่วมกันได้ส่วนการที่มองว่าไทยคมเป็นบริษัททางการเมืองซึ่งเป็นภาพที่คนอื่นมองมา แต่ถ้าถามจากคนไทยคมออกไป บริษัท ไม่มีพรรค บริษัท พยายามทำทุกอย่างในหลักการที่ถูกต้องเท่านั้น
       
       "คงต้องค่อยๆ แก้ไป คงไม่สามารถทำได้ภายในวันเดียว แม้กระทั่งเดือนหน้าปีหน้าก็ยังต้องมีการทำอยู่ตลอด ทุกปัญหาต้องมีทางออก เรายึดหลักที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหุ้น ต่อประเทศไทย ต่อกระทรวง เรามีความรับผิดชอบในทุกด้าน ต้องแก้ไปทีละจุดทีละจุด"
       
       นางศุภจี ยังกล่าวอีกว่า เรื่องการรักษาสิทธิวงโคจรที่ทางกระทรวงไอซีทีอนุมัติให้ไทยคมรับมาดำเนินการหาทางออกนั้น เวลานี้อยู่ในช่วงศึกษาแนวทางอยู่ ซึ่งจะนำเสนอให้กระทรวงไอซีทีเป็นผู้ตัดสินใจว่า จะเลือกแนวทางใดภายในเดือนนี้หรือเดือนก.ย. โดยแนวทางเบื้องต้นอาจจะเป็นการย้ายดาวเทียมที่ยังมีความจุเหลืออยู่มา หรือจะเป็นการเชิญชวนบริษัทที่จะยิงดาวเทียมในเร็วๆ นี้ ให้มาใช้วงจรทั้ง 2 ตำแหน่งแทน
       
       นางศุภจียังออกตัวว่า การที่รมว.ไอซีทีเป็นคนของพรรคเพื่อไทยจะมีผลดีต่อไทยคมนั้น ไม่อยากคิดว่าเป็นความได้เปรียบในกรณีที่รมว.ไอซีทีมาจากพรรรคเพื่อไทย บริษัททำธุรกิจที่ยึดถือตามหลักการ ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ยินดีทำธุรกิจด้วยเหมือนกัน แล้วแต่ทิศทางและแนวทางที่เหมาะสมในการดำเนินธุรกิจของไทยคม
       
       Company Relate Link :
       Thaicom

ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)