รูปจำลองหุ่นสีเขียว สัญลักษณ์ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์
หลังจากกูเกิลไม่สามารถประมูลซื้อสิทธิบัตรเทคโนโลยีหลายพันใบจากนอร์เทล (Nortel) โดยพ่ายแพ้ให้กับทีมพันธมิตรชั่วคราวอย่างแอปเปิล ไมโครซอฟท์ ออราเคิล และอีกหลายยักษ์ใหญ่โลกไอที ล่าสุด ตัวแทนกูเกิลออกแถลงการณ์กล่าวหาว่าบริษัทเหล่านี้จงใจร่วมมือกัน เพื่อพยายามทำให้สินค้าระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์มีราคาแพงขึ้น โดยใช้การเรียกเก็บค่าสิทธิบัตรมูลค่ามหาศาลเป็นเรื่องมือ
เมื่อเห็นข้อกล่าวหา ตัวแทนไมโครซอฟท์ออกมาระบุทันควันว่าไม่จริง พร้อมบอกว่าบริษัทได้ชักชวนให้กูเกิลร่วมประมูลสิทธิบัตรในกลุ่มเดียวกันแล้ว แต่กูเกิลเลือกปฎิเสธไม่เข้าร่วมเสียเอง
ต้นเหตุของสงครามน้ำลายนี้เกิดขึ้นเพราะสินค้าระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ซึ่งกูเกิลเป็นผู้พัฒนาขึ้นนั้นมีแนวโน้มถูกฟ้องร้องข้อหาละเมิดสิทธิบัตรมากขึ้นต่อเนื่อง ที่เห็นชัดเจนแต่ยังไม่เกิดขึ้นคือกรณีการรวมตัวของกลุ่ม Rockstar Bidco LP ซึ่งประกอบด้วยพันธมิตรต่างขั้วอย่างแอปเปิล ไมโครซอฟท์ และบริษัทไฮเทครายอื่นเพื่อซื้อสิทธิบัตรเทคโนโลยี 6,000 รายการจากบริษัทนอร์เทลเน็ตเวิร์กส (Nortel Networks) ที่ประกาศล้มละลายช่วงปี 2009 ในราคา 4,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 135,000 ล้านบาท) เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ครั้งนั้นกลุ่ม Rockstar Bidco LP สามารถประมูลชนะกลุ่มของกูเกิลและอินเทลไปได้ โดยศาลเดลาแวร์ (สหรัฐอเมริกา) และออนแทริโอ (แคนาดา) ได้ประกาศอนุมัติให้กลุ่มซึ่งมีแอปเปิลและไมโครซอฟท์นำทีมค่ายไอซีทีรายอื่นอย่างริม (RIM) อีเอ็มซี (EMC) อีริกสัน (Ericsson) ออราเคิล (Oracle) และโซนี่ (Sony) นั้นมีสิทธิ์ในการซื้อสิทธิบัตรอย่างถูกต้อง แม้จะมีเสียงคัดค้านว่า การร่วมมือกันประมูลในฐานะพันธมิตรเช่นนี้อาจทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมต่อกูเกิลและผู้ประมูลรายอื่น ซึ่งไม่มีพันธมิตรจำนวนมากเท่า
ที่สำคัญ สิทธิบัตรเหล่านี้ครอบคลุมตั้งแต่เทคโนโลยี 4G, แอปพลิเคชันบนอินเทอร์เน็ต, เทคโนโลยีชิปคอมพิวเตอร์ (เซมิคอนดักเตอร์) รวมถึงเทคโนโลยีการสื่อสารด้วยเสียง จึงไม่แปลกที่ผู้ร่วมการประมูลจะมีทั้งผู้ผลิตคอมพิวเตอร์พีซี โทรศัพท์มือถือ และผู้ให้บริการระบบจัดเก็บข้อมูล ซึ่งล้วนหวังว่าจะมีแต้มต่อเหนือกว่าคู่แข่งหากได้ครอบครองสิทธิบัตรเหล่านี้ และไม่ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากการละเมิดสิทธิบัตร
จุดนี้เองที่ David Drummond ประธานฝ่ายกฎหมายของกูเกิล ออกมาร้องเรียนต่อสาธารณชน โดยตั้งข้อสังเกตว่าการร่วมมือเพื่อให้ชนะการประมูลระหว่างศัตรูอย่างแอปเปิลและไมโครซอฟท์ และบริษัทอื่นๆ นั้นสะท้อนถึงความพยายามในการหาช่องเก็บค่าสิทธิบัตรเทคโนโลยีหลายจุดจากสินค้าแอนดรอยด์ อันจะทำให้สินค้าระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) มีราคาแพงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ และทำให้แอนดรอยด์ถูกลดความสามารถในการแข่งขันไปในที่สุด
Drummond จึงระบุในจดหมายเปิดผนึก ว่ากูเกิลเห็นความสำคัญของการประกาศจุดยืนที่ชัดเจนในการผลิตแอนดรอยด์ให้เป็นทางเลือกที่แข่งขันได้ดีของผู้บริโภค โดยกูเกิลจะหาทางหยุดการแทรกแซงใดๆที่จะขัดขวางเป้าหมายนี้
อย่างไรก็ตาม Brad Smith ตัวแทนของไมโครซอฟท์นั้นออกมาประกาศผ่านทวิตเตอร์ในทันที ว่าไมโครซอฟท์ได้เชิญกูเกิลเข้าร่วมกลุ่มประมูลแล้วแต่ไม่สำเร็จ จุดนี้ตัวแทนจากแอปเปิลและออราเคิลนั้นปฏิเสธที่จะให้ความเห็น เท่ากับว่าข้อกล่าวหาเรื่องการดำเนินกลยุทธ์ต่อต้านการแข่งขันที่กูเกิลอ้างนั้นดูมีน้ำหนักน้อยลง โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายไมโครซอฟท์มีหลักฐานยืนยันการปฏิเสธของกูเกิลเป็นถึงอีเมลที่ส่งถึงผู้บริหารไมโครซอฟท์
อย่างไรก็ตาม การแถลงครั้งนี้จะเป็นการจุดประกายหน่วยงานการค้ายุติธรรมในสหรัฐฯ ให้หันมามองเห็นความสำคัญในการรักษาการแข่งขันที่เป็นธรรม ซึ่งจะเป็นหลักพิจารณาที่สำคัญต่อการอนุมัติอีกขั้นก่อนการซื้อขายสิทธิบัตรทั้ง 6,000 ใบจะสมบูรณ์
ที่มา: manager.co.th