โฆษิต สุขสิงห์ (ซ้าย) และพอล เฮนส์
'ทีซีซีที' มั่นใจศักยภาพดาต้าเซ็นเตอร์ รักษาอัตราการเติบโตด้านคลาวด์คอมพิวติง 30% หลังซุ่มพัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์ ร่วมกับอินเทล และเรดแฮท บนมาตรฐานเปิดเดียวกัน
นายโฆษิต สุขสิงห์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีซีซี เทคโนโลยี มองถึงการแข่งขันในตลาดคลาวด์คอมพิวติงว่า อยากให้ผู้เล่นทุกรายเข้ามาอยู่ภายใต้มาตรฐานเปิดเดียวกัน (ODCA) เพื่อที่จะให้รูปแบบการให้บริการอยู่ในมาตรฐานที่ใกล้เคียงกันเพื่อช่วยกันขยายตลาดที่เป็นทางเลือกให้แก่ลูกค้า
'เมื่อผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์แต่ละราย อยู่บนมาตรฐานเดียวกันแล้ว การให้บริการ ของแต่ละบริษัท จะกลายเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจให้ลูกค้าเลือกใช้งานมากที่สุด'
ทีซีซีที เชื่อว่า ขณะนี้องค์กรขนาดใหญ่ในประเทศไทย ในระดับผู้บริหารพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการใช้คลาวด์คอมพิวติงแล้ว แม้ว่าในช่วงแรกอาจจะเป็นการใช้งานแบบไพรเวทคลาวด์ภายในองค์กรก่อน แต่เชื่อว่าอีกไม่เกิน 3 ปี พับบลิคคลาวด์ก็จะได้รับความนิยมในไทยเช่นเดียวกัน
'เหตุผลหลักๆที่ ตอนนี้หลายองค์กรยังไม่ลงทุนคลาวด์คือ รอระยะเวลาลงทุนระบบใหม่ ที่ปกติแล้วจะมีการลงทุนทุกๆ 3 ปี จึงยังไม่เกิดการลงทุนเท่าที่ควร เพราะการลงทุนด้านคลาวด์ถือเป็นการลงทุนใหญ่ครั้งเดียว แล้วแชร์กันใช้ต่อไปในอนาคต'
ทั้งนี้มีผลสำรวจพบว่า การลงทุนในการพัฒนาระบบไอทีให้ไปอยู่บนคลาวด์คอมพิวติง จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบจากเดิมได้ถึง 40% และลดค่าใช้ในการดำเนินงานกว่า 25%
ที่ผ่านมาทีซีซีที มีลูกค้าหลักเป็นองค์กรขนาดใหญ่กว่า 80% และที่เหลืออีกราว 20% เป็นองค์กรขนาดกลาง โดยมีอัตราการเติบโตต่อปีอยู่ที่ 30% ส่วนกลยุทธ์ในการทำตลาดในช่วง 2 เดือนข้างหน้าคือการพัฒนาระบบ Fiber to the Office เพื่อให้ลูกค้าที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ สามารถเชื่อมต่อถึงดาต้าเซ็นเตอร์ควมเร็วสูง จากภายในออฟฟิศ
นอกจากนี้ยังมีการลงทุน 4.5 พันล้านบาท ในการเปิดศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ แห่งที่ 3 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในนอร์ธพาร์ค เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มีอยู่ที่อาคารเอ็มไพร์ทาวเวอร์ สาธร และนอกเมืองถนนบางนาตราด
นายพอล เฮนส์ ผู้จัดการกลุ่มดิจิตัลเอ็นเตอร์ไพรส์ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) หนึ่งในผู้ให้คำปรึกษาหลักในการพัฒนาคลาวด์บนมาตรฐานระบบเปิด กล่าวว่าข้อมูลล่าสุดจากไอดีซีระบุว่าอัตราการเติบโตของคลาวด์คอมพิวติงทั่วโลกจะอยู่ที่ 40% ภายใน 3 ปีข้างหน้า และภายในปี 2015 จะมีประชากรที่เชื่อมต่อเข้าสู่อินเทอร์เน็ตอีกกว่า 1พันล้านคน รวมกับจำนวนอุปกรณ์พกพาที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้อีก 1.5 หมื่นล้านเครื่อง
'ทุกๆแท็บเล็ต 122 เครื่อง จะต้องมีเซิร์ฟเวอร์รองรับการใช้งาน 1 เครื่อง เช่นเดียวกับสมาร์ทโฟน 600 เครื่องก็จะต้องมีเซิร์ฟเวอร์รองรับ 1 เครื่องด้วยเช่นกัน ซึ่งเมื่อมองถึงอัตราการเติบโตของอุปกรณ์พกพาในท้องตลาดแล้ว เชื่อว่าการเข้ามาของคลาวด์จะช่วยลดค่าใช้จ่าย และทำให้ธุรกิจภายในองค์กรเดินหน้าต่อไปได้'
เหตุผลที่อินเทล พยายามผลักดันกลุ่มผู้ให้บริการคลาวด์คอมพิวติง เข้าสู่ระบบมาตรฐานเปิดเพราะเห็นว่าการผลิตอุปกรณ์สำหรับคลาวด์คอมพิวติง เริ่มหันไปใช้การผลิตแบบ ODM (original design manufacture) มากขึ้น เพื่อให้สามารถออกแบบเซิร์ฟเวอร์ได้ตามความต้องการ ดังนั้นจึงควรมีการกำหนดมาตรฐานเปิดร่วมกันเพื่อเป็นแนวทางในอนาคต
โดยผลิตภัณฑ์หลักของอินเทลที่เข้ามาทำตลาดในส่วนของสถาปัตยกรรมบนเซิร์ฟเวอร์ ที่ใช้ระบบปฏิบัติการลินุกซ์ซึ่งเป็นมาตรฐานเปิด คือ Intel Xeon E7 ซึ่งมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้นใช้พลังงานน้อยลง
Company Related Link :
Intel
TCCT
ที่มา: manager.co.th