บริษัทวิจัยนีลเซนประกาศผลการสำรวจตลาดสมาร์ทโฟนประจำเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ปรากฏว่าแอนดรอยด์สามารถครองสัดส่วนตลาดระบบปฏิบัติการสำหรับสมาร์ทโฟนสูงสุดในสหรัฐฯถึง 39% เหนือกว่าไอโอเอสที่มีสัดส่วนรวม 28% สวนทางแบล็กเบอรี่ที่มีส่วนแบ่งตลาดลดลงเหลือ 20% เท่านั้น
ข้อมูลจากบริษัทนีลเซน (Nielsen) พบว่าสมาร์ทโฟน 39% ในสหรัฐฯนั้นใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) ที่กูเกิลพัฒนาขึ้น ตอกย้ำตำแหน่งระบบปฏิบัติการอันดับ 1 ในตลาดหลังจากเคยทำได้ 38% โดยสมาร์ทโฟน 28% ในตลาดอเมริกันคือไอโฟน (iPhone) ทำให้ระบบปฏิบัติการไอโอเอส iOS กลายเป็นระบบอันดับ 2 ในตลาด เพิ่มจาก 27% ในเดือนพ.ค. และ 26% ในเดือนเม.ย.
ทั้ง 2 ระบบปฏิบัติการนั้นมีสถิติแซงหน้าเบอร์ 3 ในตลาดอย่างแบล็กเบอรี่ (BlackBerry) ซึ่งมีสัดส่วนตลาด 20% ลดลงต่อเนื่องจาก 21% ในเดือนพ.ค.และ 23% ในเดือนเม.ย.ขณะที่วินโดวส์โมบายและวินโดวส์โฟนเซเว่น (WP7) มีสัดส่วน 9% ระบบปฏิบัติการปาล์มและเว็บโอเอส (WebOS) คิดเป็น 2% เท่ากับระบบปฏิบัติการซิมเบียน (Symbain) ที่มี 2%
ภาพจำลอง iPhone รุ่นใหม่ที่คาดว่าจะเปิดตัวเดือนกันยายนนี้
การขึ้นอันดับ 1 ของแอนดรอยด์นั้นมีเบื้องหลังที่การส่งต่อให้ผู้ผลิตหลายรายนำไปใช้กับสมาร์ทโฟนหลายแบรนด์ ในรูปแบบ OEM ผลที่ออกมาจึงกลายเป็นว่าแอนดรอยด์สามารถแจ้งเกิดในสมาร์ทโฟนทั่วโลกได้รวมถึงสหรัฐฯ
หากคิดในแง่ผู้ผลิตสมาร์ทโฟน แอปเปิล (Apple) จะสามารถครองแชมป์ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนเบอร์ 1 ของสหรัฐอเมริกาได้ด้วยส่วนแบ่ง 28% รองลงมาคือเอชทีซี (HTC) ซึ่งครองตลาดสมาร์ทโฟนอเมริกันได้ถึง 20% (ราว 14% เป็นระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และ 6% เป็นระบบปฏิบัติการวินโดวส์)
อันดับ 3 คือโมโตโรลา (Motorola) ครองตลาดสหรัฐฯไป 11% โดยทั้งหมดเป็นสินค้าระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ อันดับที่ 4 คือซัมซุง (Samsung) ทำส่วนแบ่งได้ 10% ในตลาดสหรัฐฯ (8% เป็นแอนดรอยด์ และ 2% เป็นระบบปฏิบัติการวินโดวส์)
คาดว่าตลาดสมาร์ทโฟนทั้งในสหรัฐฯและทั่วโลกจะเปลี่ยนแปลงในช่วงเดือนส.ค.54 โดยเฉพาะแบล็กเบอรี่ที่คาดว่าริม (Research In Motion) จะเปิดตัวระบบปฏิบัติการใหม่นาม BlackBerry 7 ในเร็ววันนี้ รวมถึงระบบปฏิบัติการ Windows Phone 7 เวอร์ชันใหม่ที่ถูกเรียกว่า "Mango" ก็กำลังจะพร้อมเปิดตลาดในช่วงก.ย. 54
สำหรับตลาดสหรัฐฯ นักวิเคราะห์เชื่อว่าแผนการวางจำหน่าย Galaxy S II ของซัมซุง และความเป็นไปได้ในการเปิดตัวไอโฟนรุ่นใหม่ในเดือนก.ย. จะเป็น 2 ตัวแปรสำคัญในตลาดลุงแซม ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอนาคต
ที่มา: manager.co.th