ไมโครซอฟท์เดินหน้ารุกตลาดคลาวด์ เน้นร่วมมือกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตช่วยทำตลาด Office 365 ผลิตภัณฑ์เรือธงล่าสุดของไมโครซอฟท์ที่เปลี่ยนรูปแบบการใช้งานชุดผลิตภัณฑ์ Office และบริการเสริมอื่นๆ ให้สามารถใช้งานได้ทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ เชื่อเป็นตัวแปรสำคัญผลักดันธุรกิจขนาดกลางและย่อยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
Office 365 จะเริ่มทำตลาดใน 4 ประเทศได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ กลุ่มเป้าหมายหลักที่ไมโครซอฟท์หมายมั่นว่าจะเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อธุรกิจคลาวด์ในอนาคตคือกลุ่มเอสเอ็มอี ที่มีจำนวนพนักงานไม่มากนัก ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่เกิดประโยชน์
แอนดริว พิกอัพ (Andrew Pickup) ประธานฝ่ายปฏิบัติการ ไมโครซอฟท์ เอเชีย แปซิฟิก กล่าวว่า ปัจจุบันเอสเอ็มอีในเอเชียแปซิฟิกถือเป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญในภาคเศรษฐกิจกว่า 90% และภายในอีก 5 ปีข้างหน้าสัดส่วนเอสเอ็มอีในภูมิภาคเอเชียจะมีมากกว่า 50% ขณะที่ 70% ของพนักงานในบริษัทที่มีขนาดกลางและย่อม จำเป็นต้องทำงานนอกสถานที่ ทำให้ข้อมูลต่างๆที่เกิดขึ้นมีความล่าช้า การเข้ามาของผลิตภัณฑ์อย่าง Office 365 จะช่วยลดช่องว่างจากปัญหาได้
"อนาคตการทำงานนอกสถานที่และส่งข้อมูลเข้ามาภายในบริษัทแบบทันทีทันใดจะเป็นเทรนด์ที่ช่วยให้ธุรกิจมีการเติบโตได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ไมโครซอฟท์เล็งเห็นถึงจุดดังกล่าวและพัฒนาบริการที่ประยุกต์ใช้ความสามารถของคลาวด์เข้ากับรูปแบบการใช้งานอุปกรณ์พกพาต่างๆในชีวิตประจำวัน"
ความน่าสนใจที่สุดของ Office 365 คงหนีไม่พ้นเรื่องค่าใช้จ่าย จากเดิมองค์กรที่ต้องการใช้ชุดออฟฟิศและบริการต่างๆของไมโครซอฟท์ จำเป็นต้องเสียเงินค่าไลเซนต์แบบเหมารวม ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่พึงประสงค์ค่อนข้างมาก การที่เปลี่ยนรูปแบบการคิดค่าใช้จ่ายมาเป็นตามการใช้งาน ต่อคน ต่อเดือน ทำให้ไมโครซอฟท์สามารถทำราคาของ Office 365 เริ่มต้นได้ตั้งแต่ 2 เหรียญสหรัฐ (ราว 60 บาท) ที่เป็นการให้บริการเฉพาะอีเมล ไปจนถึงการให้บริการชุดผลิตภัณฑ์แบบครบวงจรในราคา 27 เหรียญ (ราว 860 บาท) ช่วยให้ลดค่าใช้จ่ายภายในองค์กร
'รูปแบบบริการที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเอสเอ็มอีอยู่ในช่วงราคาเพียง 6 เหรียญ สามารถใช้งานโปรแกรมสนทนา ช่วยให้สามารถประชุมผ่านทางออนไลน์ แชร์ไฟล์และเอกสารร่วมกันภายในองค์กร ระบบจัดการอีเมล และปฏิทินนัดหมายทั้งส่วนตัว และขององค์กร'
หลังประกาศเปิดทดสอบ Office 365 ในวงกว้างเมื่อ 19 เมษายนที่ผ่านมา ล่าสุดไมโครซอฟท์เปิดตลาดให้บริการจริงอย่างเป็นทางการแล้ว
การทำตลาดของ Office 365 แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบคือ ติดต่อกับไมโครซอฟท์โดยตรง ซึ่งจะเหมาะกับองค์กรขนาดใหญ่ที่ใช้ไมโครซอฟท์อยู่เดิม และพร้อมพัฒนารูปแบบการใช้งานให้ขึ้นไปอยู่บนคลาวด์คอมพิวติง ถัดมาคือให้บริการผ่านพาร์ทเนอร์ ซึ่งบริษัทที่สนใจสามารถเข้าไปหารายชื่อได้ในไมโครซอฟท์ มาเก็ตเพลส
รูปแบบสำคัญที่จะช่วยให้ไมโครซอฟท์สามารถเข้าเจาะตลาดเอสเอ็มอี และกลุ่มผู้ใช้คอนซูเมอร์คือเข้าไปร่วมให้บริการกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider) หรือผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากข้อจำกัดสำคัญของการใช้งาน Office 365 ให้สมบูรณ์แบบนั้น จำเป็นต้องมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบทุกที่ทุกเวลา
'จุดแข่งของผู้ให้บริการเครือข่ายและอินเทอร์เน็ตโพรไวเดอร์ คือช่วยให้ลูกค้าสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ มีระบบบิลลิ่ง และช่วยซัปพอร์ตการใช้งานในแต่ละท้องถิ่นได้ ทำให้ไมโครซอฟท์เลือกที่จะร่วมมือกับผู้ให้บริการเครือข่ายรายใหญ่ในสิงค์โปร์อย่าง สตาร์ฮับ (Starhub) และ เทลสตาร์ (Telstar) ในออสเตรเลีย ซึ่งมีเครือข่าย 3G ครอบคลุมทั่วประเทศ'
ในขณะที่ความคืบหน้าการให้บริการ Office 365 ประเทศอื่นๆในเอเชียแปซิฟิกนั้น ยังอยู่ในช่วงดำเนินการเพื่อให้เหมาะสมกับพฤติกรรมการใช้งานของผู้ใช้ในแต่ละประเทศ รวมถึงต้องดูการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตด้วย ทำให้ยังไม่สามารถเปิดให้บริการ Office 365 ในบางประเทศ รวมถึงไทยด้วย เพราะไมโครซอฟท์ต้องการให้ผู้ใช้ได้รับความสมบูรณ์แบบในการใช้งานผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ล่าสุด
สำหรับ Office 365 เป็นชุดผลิตภัณฑ์ล่าสุดของไมโครซอฟท์ ที่รวมบริการโปรแกรมสร้างงานเอกสาร Microsoft Office, โปรแกรมระบบจัดการงานเอกสารเวอร์ชันออนไลน์ SharePoint Online,โปรแกรมระบบจัดการอีเมลออนไลน์ Exchange Online และระบบจัดการการสื่อสารในองค์กร Lync Online
Company Related Link :
Microsoft
Office365
ที่มา: manager.co.th