หลังจากเปิดให้ผู้ที่ต้องการเข้าทดลองใช้งานมาระยะหนึ่ง ในที่สุดก็ถึงเวลาเข้าทำตลาดบริการไมโครซอฟท์ Office 365 ชุดผลิตภัณฑ์พร้อมบริการบนคลาวคอมพิวติงเสียที ชณะที่นักวิเคราะห์หลายรายต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า Office 365 ทำออกมาเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดของผู้ใช้งานชุดบริการบนคลาวด์อย่างกูเกิล แอป ซิสโก วีเอ็มแวร์ และไอบีเอ็ม ที่กำลังเติบโตอยู่ในปัจจุบัน
แน่นอนว่ากลุ่มเป้าหมายหลักของ Office 365 ยังไม่ใช่คอนซูเมอร์ทั่วไป เนื่องจากทางไมโครซอฟท์มองว่ากลุ่มที่ต้องการความสะดวกในการใช้งานเพื่อแลกกับค่าใช้จ่ายที่เสียไป อยู่ในกลุ่มขององค์กรธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ทำให้มีการคิดราคาผลิตภัณฑ์ตามจำนวนผู้ใช้งานต่อเดือน เริ่มต้นที่ประมาณ 6 เหรียญฯ (ประมาณ 180 บาท)
โดยรูปแบบการให้บริการของ Office 365 จะเน้นไปที่การเป็นชุดผลิตภัณฑ์พร้อมบริการแบบครบวงจรสำหรับองค์กรธุรกิจยุคใหม่ ที่ต้องการความสะดวกในการเข้าถึงได้จากทุกอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ รวมถึงการเชื่อมโยงฐานข้อมูลภายในบริษัทเข้าด้วยกันเพื่อลดความซ้ำซ้อนและประสานงานกันได้มากขึ้น
***ใช้ร่วมกับชุดผลิตภัณฑ์เดิมได้
ข้อมูลล่าสุดจากการสำรวจของไมโครซอฟท์พบว่า ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ทุกๆ 9 ใน 10 ยังใช้งานโปรแกรมของไมโครซอฟท์ ทำให้ Office 365 เป็นตัวเลือกหลัก ที่ง่ายต่อการผสานฐานข้อมูลเดิม เข้าไปยังชุดผลิตภัณฑ์ที่ให้บริการบนคลาวด์คอมพิวติงได้อย่างทันที
การที่ทางไมโครซอฟท์วางกลุ่มเป้าหมายหลักไว้ที่องค์กรขนาดกลางและย่อม ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้งานชุดผลิตภัณฑ์ออฟฟิศเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว และเมื่อไมโครซอฟท์หันมาให้บริการ Office 365 ผ่านคลาวด์ กลุ่มองค์กรเหล่านี้ก็พร้อมที่จะก้าวเข้าไป เพื่อให้องค์กรเดินหน้าได้เร็วขึ้น
แต่น่าเสียดายตรงที่ถ้าผู้ใช้งานต้องการเชื่อมต่อชุดผลิตภัณฑ์ไมโครซอฟท์เดิมเข้ากับ Office 365 ผู้ใช้จำเป็นต้องใช้ไมโครซอฟท์ Office 2007 SP2 ขึ้นไป นั่นหมายความว่าผู้ที่ใช้ Office 2003 และ Outlook 2003 จะไม่สามารถนำมาเชื่อมต่อข้อมูลกับระบบคลาวด์ได้
***โยนทุกอย่างให้ไมโครซอฟท์ดูแล
การทำราคาเริ่มต้นต่อผู้ใช้งานต่อเดือนตั้งแต่ 2 เหรียญสหรัฐ (ราว 60 บาท) สำหรับใช้งานเซอร์วิสเพิ่มเติมอีเมลบนอีเมลเล็กน้อย หรือถ้าต้องการใช้งานโปรแกรมสร้างงานเอกสาร Microsoft Office, โปรแกรมระบบจัดการงานเอกสารเวอร์ชันออนไลน์ SharePoint Online,โปรแกรมระบบจัดการอีเมลออนไลน์ Exchange Online และระบบจัดการการสื่อสารในองค์กร Lync Online ผู้ใช้จะต้องเสียค่าใช้จ่าย 6 เหรียญสหรัฐ (ราว 180 บาท)
ขณะที่ราคาสูงสุดของบริการ Office 365 อยู่ที่ 27 เหรียญ (ราว 800 บาท) ที่ผู้ใช้สามารถเข้าถึงทั้งชุดผลิตภัณฑ์บนคลาวด์ของไมโครซอฟท์ แบบไม่จำกัดจำนวนข้อมูล โดยบริษัทที่ต้องการสามารถเข้าไปปรึกษาและเลือกใช้รูปแบบบริการตามความต้องการของบริษัทได้ ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินแพงที่สุดเพื่อให้เข้าถึงฟีเจอร์บางอย่างที่ไม่เกิดประโยชน์แก่องค์กร
ทั้งนี้ จากจำนวนเงินที่ไมโครซอฟท์เก็บไปยังรวมถึงบริการที่ทางไมโครซอฟท์จะรับหน้าที่ดูแลระบบเซิฟร์เวอร์ รักษาความปลอดภัยของข้อมูล บริการอัปเดตชุดผลิตภัณฑ์ พร้อมให้บริการหลังการขายถ้ามีความต้องการแบบ 24 ชั่วโมง 7 วัน หรือถ้าบริษัทใดยังต้องการเก็บฐานข้อมูลด้วยตนเองก็สามารถนำมาใช้งานในระบบไฮบริดจ์ได้ และยังมีการรับประกันการใช้งานว่าระบบจะไม่ล่ม 99.9% โดยถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นทางไมโครซอฟท์ก็พร้อมชดเชยค่าเสียหายให้
***แค่มีอุปกรณ์-เน็ตเวิร์ก ก็เข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา
ประการสำคัญในการพัฒน Office 365 นอกจากจะโยนข้อมูลขึ้นไปเก็บไว้บนคลาวด์คอมพิวติงแล้ว ไมโครซอฟท์ยังให้ความสำคัญในการพัฒนาให้อุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทุกชนิด สามารถเชื่อมเข้าไปยังบริการได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานผ่านชุดผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟท์แบบออฟไลน์ ผ่านเว็บเบราว์เซอร์ และผ่านโมบายดีไวส์ต่างๆที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้
เมื่อมีความสามารถเหล่านี้ องค์กรขนาดกลางและขนาดย่อย ที่ต้องการความรวดเร็วในการเข้าถึงข้อมูลทุกที่ทุกเวลา การประสานงานภายใน-นอกองค์กรก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น
Company Relate Link :
Microsoft
ที่มา: manager.co.th