ชาวออนไลน์หลายคนถึงกับส่ายหน้า เมื่อตำรวจออกมาแถลงห้ามทั้งพรรคการเมืองและประชาชนหาเสียงผ่านเฟซบุ๊ก-ทวิตเตอร์ หลังหกโมงเย็นวันที่ 2 ก.ค.นี้ เพราะไม่ว่าตำรวจและ กกต.จะจับตาดูอย่างไร การลงดาบห้ามหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียในคืนหมาหอน ก็ไม่มีวี่แววจะเป็นรูปเป็นร่างได้เลย หนำซ้ำยังส่อแววมีปัญหายืดเยื้อต่อการรับรองผลการเลือกตั้งในอนาคต
และถึงแม้ว่าตำรวจจะจับได้คาหนังคาเขา ตำรวจก็ไม่สามารถจะดำเนินคดีได้อยู่ดี
ที่พูดนี้ไม่ได้ชี้โพรงให้กระรอก แต่อยากให้จะตำรวจ และ กกต.ลืมตาขึ้นมาดูโลกที่แท้จริงของสื่อเครือข่ายสังคมเสียที ไม่ใช่มัวแต่คิดเองเออเองจนทำให้แค่ยังไม่เริ่มต้น ก็ส่อแววว่าจะล่มไม่เป็นท่าเสียแล้ว
ก่อนจะไปฟังว่าแผนห้ามหมาหอนผ่านทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กจะล่มได้อย่างไร คุณควรรู้ว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกมาแถลงถึงผลการประชุมศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศรส.ลต.ตร.) ว่า ผู้สมัคร ส.ส.พรรคการเมือง และประชาชนทั่วไป จะไม่สามารถรีทวิต หรือส่งต่อข้อความหาเสียงของแต่ละพรรคการเมืองหลังเวลา 18.00 น.วันที่ 2 ก.ค.หากกระทำก็จะมีความผิด ซึ่งขณะนี้ได้ส่งหนังสือประชาสัมพันธ์ไปยัง กกต.และเริ่มประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนทั่วไปแล้ว
อยากจะหัวเราะให้ก้องโลก ทำไมตำรวจไทยรู้จักโซเชียลมีเดียน้อยอย่างนี้ แถมยังคุยว่าได้วางกำลังคนจับตาเว็บไซต์กว่า 900 เว็บไซต์ ที่มีการเผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเมือง คงคิดว่าการเตรียมการเท่านี้ก็สามารถจัดการทุกสิ่งทุกอย่างได้
แต่ไม่ใช่เลย การประกาศเช่นนี้ยิ่งเป็นการแก้ผ้าให้ชาวบ้านดู เพราะสิ่งที่ตำรวจพูดมานั้นไม่สามารถทำได้จริง แม้แต่นิดเดียว
ถ้ายังไม่นับประเด็นการรุกล้ำสิทธิพื้นฐานของประชาชน ประเด็นแรกที่ตำรวจมองข้ามไปคือเรื่อง Time Zone หรือเขตเวลาซึ่งไร้พรมแดนเหลือเกินบนอินเทอร์เน็ต ถามว่าตำรวจจะจัดการอย่างไร ถ้า “หมาที่อยากหอน” หันไปตั้งเวลาใช้ทวิตเตอร์ในต่างประเทศ ซึ่งมีเวลาช้ากว่าเมืองไทย ฉะนั้น เวลา 18.00 น.ที่ตำรวจ และ กกต.ขีดไว้ก็จะไร้ความหมาย เพราะที่เมืองไทย 18.00 น.แต่เวลาในสหรัฐฯยัง 6 โมงเช้าอยู่เลย
ถัดจากเรื่องเวลา ประเด็นที่ 2 คือหากตำรวจพบว่ามีการทำผิดบนเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์จริง การดำเนินการขอข้อมูลจากผู้ให้บริการที่มีเซิร์ฟเวอร์ที่ตั้งในต่างประเทศจะทำได้อย่างไร หน่วยงานสานต่อคดีจะสามารถใช้กฏหมายข้อไหนไปเรียกร้องให้ผู้ให้บริการยอมเปิดเผยข้อมูลผู้กระทำผิด เพราะการผิดกฏหมายเลือกตั้งไทยนั้นยังไม่เข้าข่ายการกระทำความผิดตามพรบ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งไม่ให้อำนาจใดๆ แก่ตำรวจในการดำเนินคดี
เมื่อไม่มีหลักฐาน กกต.ประกาศเป็นความผิดไปก็ไม่มีผลอะไรเกิดขึ้น หาก กกต.เดินหน้าทำคดีไป ตัวเองก็จะทำผิดกฎหมายเองเมื่อนั้น
ประเด็นสุดท้าย คือ กกต.จะมีประสิทธิภาพพอไหมในการตรวจสอบหลักฐานความผิด ประเด็นนี้สำคัญที่สุดเพราะ กกต.ไม่มีหน่วยงานพิเศษที่เชี่ยวชาญด้านโซเชียลมีเดียโดยตรง และยังไม่มีขอบข่ายที่ชัดเจนว่าข้อความใดจึงเข้าข่ายมีความผิด คลิปลักษณะใดเข้าข่ายเชียร์ตัวเอง หรือข้อความโจมตีอีกฝ่ายจะมีความผิดหรือไม่
ทั้งหมดนี้จะทำให้ปัญหาแห่มารุมเร้า กกต.และเจ้าหน้าที่ตำรวจแน่นอน
ในต่างประเทศนั้น มีปัญหาลักษณะนี้เช่นกัน แต่เป็นการต่อสู้กันในเชิงการขัดต่อเสรีภาพประชาชน ซึ่งก็ยังไม่มีข้อสรุปในการแก้ปัญหาที่ไทยจะนำมาใช้แก้ขัดได้ในขณะนี้
ทั้งหมดนี้ นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่่ยวชาญ กม.อินเทอร์เน็ตเคยจุดประเด็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับ กกต.มาตั้งแต่ 2 เดือนที่แล้ว โดยให้ความเห็นไว้ในบทสัมภาษณ์“โซเชียลมีเดียกับการเลือกตั้ง”ว่า การที่ กกต.ไม่มีหลักเกณฑ์ดำเนินงานที่ชัดเจน จะทำให้ กกต.พบปัญหาแน่นอน และจะเป็นเรื่องที่ท้าทาย กกต.มากหากมีใครเผยแพร่คลิปทุจริต แล้วต้องเช็กที่มาหรือความถูกต้องว่าเป็นคลิปปลอมหรือไม่ ทั้งหมดนี้จะทำให้การรับรองผลการเลือกตั้งหรือการออกใบแดงใบเหลืองจะล่าช้าแน่นอน
วันนี้ กกต.เหลือเวลาอีก 2 วัน (30 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม) การเสนอหลักเกณฑ์นั้นไม่มีทางทำได้ทัน ทางเดียวที่พอทำได้คือการตั้งหน่วยงานพิเศษเฉพาะกิจขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ บนความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐฯอย่างกระทรวงไอซีทีและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
“เชื่อว่า ปัญหาเรื่องโซเชียลมีเดียหลังการเลือกตั้ง จะต้องต่อสู้กันยาวแน่นอน เนื่องจากหากมีการขึ้นศาล จะต้องขึ้นศาลการเมือง ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องเทคโนโลยี จุดนี้ กกต ควรมีที่ปรึกษาพิเศษในการช่วยดูแลเรื่องร้องเรียนที่เข้าใจคอนเซ็ปต์ของอินเทอร์เน็ต และเข้าใจกระบวนการทำงานของเอกชนในธุรกิจออนไลน์ การเตรียมการส่วนนี้น่าจะทันใน 2 วันที่เหลือ" ตามความเห็นของนายไพบูลย์ ซึ่งถือว่าเข้าท่าที่สุดในเวลาที่งวดเข้ามาเต็มที
รู้แล้วให้รีบทำ ไม่ใช่ว่าจะนอนรอให้ปัญหาเกิดขึ้นก่อนแล้วตามแก้จนหลังอาน.
ที่มา: manager.co.th