หน้าเว็บไซต์ Google Health เมื่อแรกทดลองให้บริการในปี 2008
ดูเหมือนว่าพฤติกรรมด้านสุขภาพของชาวออนไลน์จะเป็นดินแดนลึกลับที่ยักษ์ใหญ่โลกออนไลน์อย่างกูเกิล (Google) ยังเข้าไม่ถึง ล่าสุดกูเกิลประกาศปิดบริการ Google Health บริการเก็บข้อมูลสุขภาพบนอินเทอร์เน็ตจากกูเกิลที่พร้อมให้บริการแก่ผู้ใช้ทั่วโลกโดยไม่มีโฆษณา หลังจากเปิดทดสอบบริการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2008
กูเกิลขีดเส้นไว้ว่า จะประกาศปิดบริการ Google Health อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม 2012 โดยจะเก็บข้อมูลไว้อีก 1 ปี และจะล้างข้อมูลทั้งหมดออกในวันที่ 1 มกราคม 2013 เป็นต้นไป
ตามข้อมูลที่กูเกิลประกาศไว้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2008 จุดเด่นของบริการ Google Health คือการจัดการข้อมูลด้านสุขภาพให้ผู้ใช้ เช่น ตารางการกินยา การเตือนให้ผู้ใช้ทราบถึงผลของการใช้ยาร่วมกัน หรือให้ข้อมูลว่าผู้ป่วยโรคนี้มีโอกาสแพ้ยาชนิดใด ที่สำคัญ ผู้ใช้ Google Health ในสหรัฐฯยังสามารถค้นหาชื่อแพทย์และสถานพยาบาลในบริเวณใกล้เคียงผ่าน Google Maps ได้
ผู้ใช้บริการ Google Health สามารถใช้งานด้วยชื่อบัญชีเดียวกับบริการ Gmail ได้ โดยต้องกรอกประวัติด้านสุขภาพก่อนจึงสามารถใช้งานคุณสมบัติอื่นๆได้ เช่นโรคประจำตัว ประวัติการใช้ยา การฉีดวัคซีน การผ่าตัด ผลการเจาะเลือด ฯลฯ สามารถเก็บใบสั่งยาหรือเอกสารของโรงพยาบาลในแบบดิจิตอล หรือเลือกโหลดข้อมูลจากบริการข้อมูลสุขภาพออนไลน์แห่งอื่นก็ได้ การฝากข้อมูลสำคัญเหล่านี้ไว้กับกูเกิลทำให้หลายคนลังเลใจ และกลัวว่าความเป็นส่วนตัวจะถูกทำลาย
สาเหตุที่ทำให้กูเกิลหันมาให้บริการเก็บข้อมูลสุขภาพออนไลน์ เพราะสถิติการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่พบว่าผู้ใช้นิยมสืบค้นข้อมูลคำแนะนำในการรักษาโรคมากมายเหลือเกิน ขณะเดียวกัน ในปีนั้นเป็นปีที่แนวคิด"ประวัติการรักษานั้นควรเป็นสมบัติของตัวเองมากกว่าจะเป็นสมบัติของโรงพยาบาล"มาแรงมาก กูเกิลจึงเห็นด้วยว่าผู้ป่วยควรมีสิทธิในการจัดการข้อมูลสุขภาพเหล่านี้ด้วยตนเอง ซึ่งจะเป็นเรื่องง่ายและมีประโยชน์มากหากมีการเปลี่ยนโรงพยาบาลในอนาคต
กูเกิลตัดสินใจไม่ดึงโฆษณาเข้ามาเกี่ยวข้องกับบริการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นใน Google Health กูเกิลต้องการให้ลูกค้ามั่นใจว่าข้อมูลการใช้ยาของลูกค้าจะไม่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางธุรกิจผ่านนักการตลาดแน่นอน และเพื่อรักษาความปลอดภัย กูเกิลจะเก็บข้อมูลสุขภาพบนโฮสต์ที่แยกต่างหากจากระบบให้บริการสืบค้นข้อมูล จุดนี้ มาริสสา เมเยอร์ (Marissa Mayer) รองประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์ของกูเกิลยืนยันว่า ระบบรักษาความปลอดภัยใน Google Health นั้นอยู่ในระดับแน่นหนาที่สุดของกูเกิล
แน่นอนว่ามีฝ่ายไม่เห็นด้วยกับกูเกิล นักสิทธิมนุษยชนอย่าง Deborah Peel ผู้ก่อตั้งองค์กรปกป้องสิทธิผู้ป่วย PatientPrivacyRights.org มองว่าการนำข้อมูลสำคัญเหล่านี้เข้าสู่โลกออนไลน์ผ่านบริการ Google Health ยังมีความเสี่ยงสูง
การประกาศยอมแพ้ของกูเกิลเกิดขึ้นก่อนไมโครซอฟท์ (Microsoft) ซึ่งเปิดตัวระบบ HealthVault บริการเก็บข้อมูลสุขภาพออนไลน์ลักษณะเดียวกัน โดยไมโครซอฟท์เปิดให้บริการเก็บข้อมูลสุขภาพออนไลน์ในชื่อ HealthVault มาตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2007 นอกจากนี้ยังมีผู้ร่วมก่อตั้งเอโอแอลอย่าง Steve Case ที่แถลงข่าวหนุนบริการ Revolution Health ซึ่งให้บริการเก็บข้อมูลประวัติการรักษาพยาบาลเช่นกัน แม้ทั้งหมดจะไม่มีใครส่งข่าวคราวว่าบริการเหล่านี้ปิดฉากลงแล้ว แต่ก็เชื่อว่าไม่ได้เสียงตอบรับที่ดีในขณะนี้
มีการวิเคราะห์ว่าการล่มสลายของธุรกิจให้บริการเก็บข้อมูลสุขภาพออนไลน์เป็นเพราะผู้ให้บริการ"ด่วนตัดสินใจเร็วเกินไป" เนื่องจากที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือละดับขั้นตอนการดำเนินการในองค์กรด้านสุขภาพนั้นไม่เคยเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นช่วงเวลาทดลองให้บริการ 3 ปีที่ผ่านมาจึงสั้นเกินไป ขณะเดียวกัน ความล้มเหลวของบริการเก็บข้อมูลสุขภาพออนไลน์ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดปัจจัยหนุน เช่น กฏหมายว่าด้วยข้อบังคับในการเก็บข้อมูลสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งเมื่อไม่เกิดขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริการเหล่านี้จึงขาดแรงหนุนให้ชาวออนไลน์เห็นความจำเป็นในการใช้งาน
นอกจาก Google Health ที่กูเกิลพบว่าไม่สามารถขยายตลาดในวงกว้างได้ ยังมีบริการอีกตัวคือ Google PowerMeter บริการเก็บข้อมูลสถิติการใช้ไฟฟ้าของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เพื่อให้เจ้าของบ้านสามารถจัดสรรการใช้งานเพื่อประหยัดไฟสูงสุด แต่เพราะบริการนี้ต้องทำงานร่วมกับมีตเตอร์วัดไฟแบบใหม่ที่ไม่แพร่หลาย เมื่อไม่เป็นที่นิยม กูเกิลจึงตัดสินใจปิดบริการตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2011 เป็นต้นไป
..ไม่เป็นไร ไว้ค่อยปัดฝุ่นให้บริการใหม่ก็ไม่สาย..
Company Related Link :
Google
ที่มา: manager.co.th