ประมูลคอมพ์โครงการไทยเข้มแข็งส่อเกิด "ฮั้วจำแลง" อีกรอบหลังพบข้อมูล 3 รายใหญ่ยังคงแบ่งพื้นที่ประมูล อาศัยช่องว่างทางกฏหมายแยกประมูลตามโรงเรียน ไม่ให้มูลค่าเกิน 100 ล้านบาท พร้อมร่วมล็อกสเปกทำรายย่อยไม่มีโอกาสเข้าประมูล
แหล่งข่าวในวงการคอมพิวเตอร์กล่าวว่า งบประมาณโครงการประมูลคอมพิวเตอร์เป็นส่วนหนึ่งของโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้งบ “ไทยเข้มแข็ง” ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปีที่สองบนงบประมาณ 3,979 ล้านบาท ยังคงมี 3 บริษัทหลักที่แบ่งพื้นที่กันเข้าร่วมประมูลอย่างชัดเจน
"3 บริษัทใหญ่ที่ชนะประมูลในปีที่ผ่านมาได้มีการแบ่งพื้นที่เพื่อเข้าร่วมประมูลในโครงการโดยกำหนดให้เวนเดอร์แต่ละพื้นที่เข้าประมูลเฉพาะพื้นที่ที่ตกลงไว้ รวมถึงแยกย่อยการประมูลในแต่ละครั้งไม่ให้มีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท ป้องกันการเข้าตรวจสอบของดีเอสไอ"
โดยในการแบ่งเขตรับผิดชอบของ 3 รายตามจังหวัดและเขตพื้นที่การศึกษาประกอบไปด้วย บริษัท สุพรีม เทคโนโลยี รับผิดชอบพื้นที่่ กาฬสินธุ์ 1 กำแพงเพชร ขอนแก่น 1,3,5 ชัยนาท ชัยภูมิ ตาก นครปฐม นครศรีธรรมราช บุรีรัมย์ 3,4 เพชรบูรณ์ มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ราชบุรี ลพบุรี ศรีสะเกษ สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และสุรินทร์ 1
ส่วน เอสวีโอเอ รับผิดชอบพื้นที่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ 2 ขอนแก่น 2,4 ชุมพร นครราชสีมา 7 นครสวรรค์ 3 นราธิวาส บุรีรัมย์ 1,2 ปัตตานี แพร่ มหาสารคาม 1,2 ร้อยเอ็ด สกลนคร 3 สระบุรี สุรินทร์ 2,3 หนองคาย หนองบัวลำภู 2 และอ่างทอง
ส่วนสงขลา ฟินิชชิ่ง ที่ได้พื้นที่ กรุงเทพฯ กาฬสินธุ์ 3 เชียงราย นครราชสีมา 5 นครสวรรค์ 1,2 ปทุมธานี ปราจีนบุรี อยุธยา พัทลุง มหาสารคาม 3 ยโสธร ระยอง สกลนคร 1,2 สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระแก้ว สุพรรณบุรี 2,3 อำนาจเจริญ และอุดรธานี
นอกจากนี้ยังรวมถึงการส่งตัวแทนเข้าไปร่วมกำหนดสเปกในการเปิดประมูลคอมพ์รอบใหม่นี้ พร้อมกับขอให้บริษัทผลิตฮาร์ดแวร์ ส่งสินค้าให้เฉพาะบริษัททั้ง 3 รายเท่านั้น โดยมีสัญญากันว่าห้ามผลิตสินค้าให้กับตัวแทนจำหน่ายคอมพิวเตอร์รายอื่นที่เข้าแข่งขันการประมูล ส่งผลให้ผู้เข้าประมูลรายอื่นไม่สามารถจัดส่งสินค้าได้
ขณะที่ความเห็นจากผู้เข้าร่วมประมูลในโครงการนี้ ระบุว่า เพื่อให้บริษัทสามารถเข้าประมูลได้ จึงจำเป็นต้องเข้าร่วมกับเวนเดอร์อินเตอร์แบรนด์รายอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับการฮั้วประมูล เพื่อผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานตามที่กำหนดในทีโออาร์ที่ร่างขึ้นใหม่เพื่อใช้ในการประมูลครั้งนี้
โดยการกำหนดทีโออาร์ในการประมูลครั้งนี้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่เหมือนกับครั้งที่ผ่านมาที่มีการกำหนดสเปกเอื้อให้กับผู้เข้าประมูล 3 รายหลัก อย่างเช่นกำหนดว่าหน้าจอคอมพิวเตอร์ต้องผลิตจากโรงงานที่มีมาตรฐานตามที่กำหนด ซึ่งผู้เข้าประมูลรายหลักก็เข้าไปฮั้วไม่ให้ผลิตให้กับผู้เข้าร่วมประมูลรายอื่นๆ
"ผู้เข้าร่วมประมูลที่ไม่ใช่ 3 รายหลักต้องทำคือพยายามเข้าไปร่วมงานประมูลเพื่อให้มีการแข่งขันประมูลในหลายๆพื้นที่ ส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านราคาประมูลให้มากที่สุด ซึ่งเชื่อว่าในการประมูลครั้งนี้ 3 รายหลักจะไม่สามารถยื่นซองประมูลแบบเต็มราคาได้แน่นอน จากการที่มีเวนเดอร์จากผู้เข้าร่วมประมูลรายอื่นเพิ่มมากขึ้น"
สำหรับระยะเวลาโครงการประมูลคอมพิวเตอร์ของสพฐ. ในงบไทยเข้มแข็งระยะสุดท้าย 2,950 ล้านบาท เริ่มต้นประมูลตั้งแต่เดือนเมษายน 2554 - มิถุนายน 2554 จาก 7,199 โรงเรียนทั่วประเทศ คิดเป็นคอมพิวเตอร์ราว 1.3 แสนเครื่อง ซึ่งถือเป็นระยะเวลาการประมูลครั้งสุดท้ายของโครงการมูลค่ารวมทั้งหมดกว่า 8 พันล้าน
ที่มา: manager.co.th