Author Topic: วิบากกรรม 3G ประเทศไทย  (Read 860 times)

0 Members and 2 Guests are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai


       นึกแล้วน่าสงสารคนไทย เพราะแทนที่จะมีบริการ 3G ใช้เหมือนคนค่อนโลก แต่ไม่วายมีอุปสรรคขัดขวางต่างๆ นานา หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุด แตะเบรกกทช.ห้ามจัดประมูล 3G ความถี่ 2.1 GHz ให้รอกสทช.ชุดใหม่ โอปอเรเตอร์ทุกรายในประเทศ ต่างก็หาทางพัฒนาบริการ 3G บนความถี่เดิมที่มีอยู่
       
       แนวทางหนึ่งที่ปลุกกระแสการแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือ หลังเงียบสงบ แนวรบเก่า 2Gกว่าๆไม่เปลี่ยนแปลง หนีไม่พ้นการคิดค้นนวัตกรรมสัญญาการให้บริการโทรศัพท์มือถือรูปแบบใหม่ที่ทำขึ้นระหว่างกลุ่มทรูกับบริษัท กสท โทรคมนาคม ที่จัดทำขึ้นภายใต้สัญญา 6 ฉบับ ด้วยเจตนาที่ต้องการทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกม. จนนำมาซึ่งเสียงต่อต้านรอบด้านไม่ว่าจะเป็นป.ป.ช. สตง. กรรมาธิการ นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ
       
       ในประเด็นโจมตีการหมกเม็ด หลบเลี่ยงข้อกม.ฉีกพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ และเอื้อประโยชน์เอกชนบางราย แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะสัญญาทั้ง 6 ฉบับผ่านการกลั่นกรองและความเห็นชอบจากอัยการสูงสุดแล้ว จนถึงที่สุดดีแทคต้องออกแรงต้านด่านสุดท้ายด้วยการฟ้องศาลปกครองเพื่อขอให้คุ้มครองชั่วคราว ให้ธุรกรรมตามสัญญาทั้งหมดระหว่าง กสท กับกลุ่มทรูหยุดชะงัก
       
       แต่ก็ไม่เป็นผล หลังศาลมีคำสั่งไม่คุ้มครอง เพียงแต่รับพิจารณาว่ามติบอร์ดกสทเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2554 ที่ให้กสทเซ็นสัญญากับกลุ่มทรูชอบด้วยกม.หรือไม่ ทำให้กสทและกลุ่มทรูสามารถเดินหน้าให้บริการโทรศัพท์มือถือในระบบ 3G HSPA ต่อไป
       
       ทั้งนี้คำสั่งวินิจฉัยในหนังสือแจ้งคำสั่งศาล คดีดำที่ 871/2554 กรณีข้อพิพาทระหว่างดีแทค ผู้ฟ้องคดีกับ กสท ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และบอร์ดกสท ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กรณีการทำสัญญาดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G HSPA กับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นซึ่งมีการลงนามในสัญญาไปเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2554 ที่ให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา และเมื่อมีการไต่สวนตามข้อมูลแล้ว
       
       ศาลมีคำสั่ง 'ไม่รับคำฟ้อง' ในข้อหาที่สองที่ฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ โดยเข้าทำสัญญาโครงการ 3G HSPA กับกลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ไว้พิจารณา คง 'รับคำฟ้อง' เฉพาะในข้อหาที่หนึ่งที่ฟ้องว่า มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2554 อนุมัติให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เข้าทำสัญญาโครงการ 3G HSPA กับกลุ่มทรู โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไว้พิจารณา
       
       เมื่อศาลไม่รับคำฟ้องในข้อหาที่สองไว้พิจารณาแล้ว จึงไม่รับคำขอให้ศาลกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณา
       
       นัยสำคัญของการยื่นคำฟ้องในครั้งนี้ของ 'จอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทคและทีมกฎหมายของดีแทค อยู่ที่สัญญาการให้บริการโทรศัพท์มือถือรูปแบบใหม่ทั้ง 6 ฉบับที่ กสท เซ็นสัญญากับกลุ่มทรูนั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
       
       จิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ของกสท วิ่งรอกชี้แจงโดยยืนยันมาตลอดว่าสัญญาดังกล่าวไม่ได้ทำให้รัฐเสียหาย เป็นสัญญาที่ผ่านการกลั่นกรองหลายชั้นมากจากทีมกฎหมายของภาครัฐ โดยสัญญาทั้ง 6 ฉบับที่กสทและทรูมั่นใจว่าไม่ขัดกับกม.นั้น เป็นเพราะความเห็นจากอัยการสูงสุด
       
       โดยสัญญาทั้ง 6 ฉบับประกอบไปด้วย
       
       สัญญาที่หนึ่ง สัญญาเช่าโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อให้บริการโทรศัพท์มือถือระบบ HSPA เป็นสัญญาให้เช่า เปลี่ยน ซ่อมแซม และบำรุงรักษาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โทรคมนาคมทั่วประเทศและเสาโทรคมนาคมและระบบสื่อสัญญาณในส่วนกลาง 25 จังหวัด (ในระหว่างที่ กสท ยังไม่ได้ซื้อเสาโทรคมนาคมและระบบสื่อสัญญาณในส่วนกลางจากบริษัท BFKT) โดยกสท จะจ่ายค่าเช่าใช้อุปกรณ์เป็นการตอบแทน
       
       สัญญานี้มีลักษณะเป็นสัญญา 'เช่า' ที่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ 'ระเบียบว่าด้วยการพัสดุ' ของ กสท มิใช่เป็นการที่เอกชน เข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ ตามบทนิยาม 'ร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ' และไม่อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯปี 2535)
       
       สัญญาที่สอง สัญญาบริการขายส่งบริการบนโครงข่ายโทรศัพท์มือถือในระบบ HSPA เป็นไปตามประกาศ กทช. เรื่อง การประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทขายส่งบริการและบริการขายต่อบริการ พ.ศ. 2549 (ประกาศขายส่งและขายต่อบริการฯ) ซึ่งยังมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีคำวินิจฉัยเรื่องเสร็จที่ 368/2551 ว่า เป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมในลักษณะที่เป็นผู้ให้บริการด้านกิจการโทรคมนาคมแก่บุคคลอื่นทั่วไป จึง 'มิใช่' เป็นการที่เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ ไม่อยู่ภายใต้บังคับพ.ร.บ.ร่วมทุนฯปี 2535
       
       โดย กสท ในฐานะผู้ขายส่งบริการเป็นผู้ใช้คลื่นความถี่วิทยุคมนาคมด้วยตนเอง มิได้มอบให้เอกชนผู้ขายต่อบริการใช้คลื่นความถี่วิทยุคมนาคมแทน กสท หรือร่วมใช้คลื่นความถี่กับ กสท แต่อย่างใด เพราะเอกชนผู้ขายต่อบริการทำหน้าที่เพียงเป็นผู้รับซื้อปริมาณความจุในโครงข่าย HSPA เพื่อนำไปขายต่อในลักษณะบริการสำเร็จรูปต่อประชาชนผู้ใช้บริการ
       
       การอนุมัติเงื่อนไขสัญญาจึงเป็นอำนาจของ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ตามคู่มือผู้บริหาร เรื่อง อำนาจอนุมัติเพื่อดำเนินการ หมวดที่ 4 เรื่องการให้บริการและการตลาด ลำดับที่ 19 การกำหนดเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขให้บริการ ทั้งนี้ การประกอบธุรกิจขายส่งของ กสท ในลักษณะนี้เป็นการดำเนินธุรกิจตามปกติของ กสท ให้แก่บุคคลทั่วไป จึงไม่ใช่การให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินกิจการของรัฐแต่อย่างใด
       
       สัญญาที่สาม สัญญาเช่าโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อให้บริการโทรศัพท์มือถือระบบ CDMA ทาง กสท เป็นผู้เช่า และบริษัท BFKT เป็นผู้ให้เช่าอุปกรณ์ทั่วประเทศและเสาโทรคมนาคมและระบบสื่อสัญญาณ ในส่วนกลาง 25 จังหวัด รวมถึงการเปลี่ยน ซ่อมแซม และบำรุงรักษาในระหว่างที่ กสท ยังไม่ได้ซื้อเสาโทรคมนาคมและระบบสื่อสัญญาณในส่วนกลางจากบริษัท BFKT
       
       โดย กสท จะจ่ายค่าเช่าใช้อุปกรณ์เป็นการตอบแทน ซึ่งสัญญานี้มีลักษณะเป็นสัญญาเช่าที่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ระเบียบว่าด้วยการพัสดุของ กสท มิใช่เป็นการที่เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ ตามระเบียบพัสดุของ กสท แล้ว ในกรณีนี้ กสท สามารถใช้วิธีตกลงราคาได้ตามระเบียบ
       
       สัญญาที่สี่ สัญญาจ้างให้บริการหลังการขายเพื่อดูแลลูกค้าในระบบ CDMA มีลักษณะเป็นสัญญาจ้างดำเนินการกิจกรรมทางการตลาดเพื่อดูแลผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือของ กสท ในส่วนกลาง เช่น การออกใบเรียกเก็บเงินค่าใช้บริการ การเรียกเก็บค่าใช้บริการ การนำส่งค่าบริการ โดยผู้รับจ้างได้ค่าตอบแทนการดำเนินการ จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับพ.ร.บ.ร่วมทุนฯปี 2535
       
       สัญญาที่ห้า สัญญายกเลิกสัญญาเช่าและว่าจ้างให้ปรับปรุง เปลี่ยน ซ่อมแซม บำรุงรักษาและดูแลเครื่องและอุปกรณ์วิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า Digital AMPS 800 Band A และสัญญาที่หก สัญญายกเลิกสัญญาทำการตลาดบริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า Digital AMPS 800 Band A โดยกสท ได้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องเสร็จที่ 663/2551 โดยได้พิจารณาถึงผลประโยชน์และความเสียหายของรัฐและรายงานรมว.ไอซีที เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2553 ซึ่งกระทรวงไอซีทีได้นำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีแล้ว จึงเป็นการดำเนินการครบถ้วนตามขั้นตอนตามคำวินิจฉัยดังกล่าว
       
       จิรายุชี้แจงว่าจาก 6 สัญญาที่ได้มีการเซ็นร่วมกับทางกลุ่มทรูนั้น เป็นสัญญาทางธุรกิจเพียง 4 ฉบับเท่านั้น อีก 2 ฉบับเป็นการยกเลิกสัญญาเดิมเพื่อที่จะทำธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ประกอบไปด้วยสัญญายกเลิกการทำตลาด และสัญญายกเลิกสัญญาเช่าอุปกรณ์ เพราะการจะยกเลิกการทำธุรกิจรูปแบบเดิมคือการให้บริการโทรศัพท์มือถือในระบบ CDMA และเปลี่ยนมาเป็น HSPA ก็ต้องมีสัญญาเพื่อดูแลลูกค้า CDMA เดิมอีก 2 ฉบับ ซึ่งมีอายุสัญญาไม่เกิน 2 ปี หรือมากสุดคือ 2 ปีในการทำให้ลูกค้าย้ายไปใช้ 3G ในรูปแบบ HSPA แทน
       
       'หลังจาก 2 ปีไปแล้วจะเหลือสัญญาหลักแค่ 2 ฉบับ คือสัญญาเช่าอุปกรณ์ HSPA กับ สัญญาขายส่ง-ขายต่อบริการ'
       
       ทั้งนี้ เขายืนยันว่า กสท ได้มีการส่งสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจรายละเอียดในร่างสัญญาเป็นระยะเวลาเดือนกว่าก่อนจะลงนาม ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามข่าวที่มีออกมาว่าเร่งรัด เนื่องจากมีการพิจารณาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 เรื่อยมาโดยตลอด
       
       ภายหลังรับรู้ว่าศาลไม่คุ้มครอง ศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่เราสามารถเดินหน้าให้บริการ 3G ต่อไปได้ เพราะผมมั่นใจว่า ยิ่งประเทศไทยสามารถให้บริการ 3Gได้เร็วเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้คนไทย และประเทศไทย สามารถพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ ได้รวดเร็วทันประเทศเพื่อนบ้านรวมทั้งก้าวหน้าทัดเทียมต่างประเทศได้เร็วขึ้นเท่านั้น
       
       ข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็คือว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยมีประชากรจำนวน 20 ล้านครัวเรือน แต่มีเพียง 2.5 ล้านครัวเรือนเท่านั้น ที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ เพราะระบบมีสายมีต้นทุนราคาแพง ไม่สามารถสร้างไปถึงทุกครัวเรือน เพราะยิ่งออกนอกตัวเมืองไกลออกไปเท่าไหร่ ยิ่งต้องลากสายระยะทางไกลเท่านั้น
       
       มิหนำซ้ำระหว่างทางก็มีบ้านเรือนที่จะใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไม่มากพอ ทำให้ไม่คุ้มทุน ดังนั้นการนำเทคโนโลยี 3G ซึ่งเป็นเทคโนโลยีไร้สายเข้ามาช่วย จะทำให้คนไทยทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงข้อมูล ข่าวสารได้สะดวก รวดเร็วขึ้น เทคโนโลยี 3G จึงเป็นจุดเปลี่ยนแปลงของประเทศ รวมทั้งอุตสาหกรรมโดยรวม
       
       คำสั่งไม่คุ้มครองของศาลปกครองและรับไว้พิจารณาเพียงมติบอร์ด กสท ชอบด้วย กม.หรือไม่ หากทุกคนยังยึดในระบบศาล ยังยึดหลักนิติรัฐ ก็ควรปล่อยให้กระบวนการเดินไปตามครรลองของมันเอง ไม่ควรออกมาวิพากษ์วิจารณ์ชี้นำหรือสร้างกระแสกดดัน เพราะท้ายสุดหากศาลมีคำตัดสินอย่างหนึ่งอย่างใดออกมา ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องรับไปปฏิบัติ
       
       ในฐานะประชาชนคนไทยไม่อยากเสียเวลารอ 3G อีกต่อไปแล้ว

ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)