Author Topic: 'จิรายุทธ' ไม่หนักใจ 3G คาศาล ลั่นมติบอร์ด 14 ม.ค.เดินตามกม.  (Read 835 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai


      'จิรายุทธ' ยันมติบอร์ดกสท 14 ม.ค. 2554 เป็นไปตามขั้นตอน ด้วยความรอบคอบ ผ่านการพิจารณาโดยเฉพาะประเด็นข้อกม. จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้มุบมิบเร่งรีบ เพราะดำเนินการตั้งแต่เดือนต.ค.53 ย้ำ 6 สัญญาไม่ได้เจตนาหลีกเลี่ยงกม. แต่เป็นเพราะต้องการทำให้ถูกกม.มากกว่า ภายใต้ความอยู่รอดของกสทและยุทธศาสตร์การให้บริการโทรศัพท์มือถือที่สามารถรองรับอนาคต 4G
       
       หลังคำสั่งศาลปกครองที่ไม่คุ้มครองกรณีดีแทคฟ้องบริษัท กสท โทรคมนาคม โดยศาลรับพิจารณาเพียงประเด็นเดียวคือมติของบอร์ด กสท เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2554 ที่ให้ กสท สามารถเซ็นสัญญากับกลุ่มทรู เพื่อให้บริการโทรศัพท์มือถือรูปแบบใหม่ มิชอบด้วยกฎหมายนั้น
       
       ถึงแม้ยังไม่มีคำพิพากษาออกมาอย่างหนึ่งอย่างใด แต่ก็ทำให้ กสท กับกลุ่มทรูสามารถเดินหน้าให้บริการ 3G HSPA ต่อไปได้ ภายใต้คำยืนยันของนายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่กสท ที่เห็นว่า การทำสัญญา 6 ฉบับที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นความตั้งใจหลบเลี่ยงข้อกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง
       
       แต่เป็นความต้องการของฝ่ายบริหารและบอร์ดกสท ที่ต้องการทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมายมากกว่า ภายใต้ยุทธศาสตร์การให้บริการโทรศัพท์มือถือที่ต้องพร้อมให้บริการวันนี้และเพื่อรองรับอนาคต 4G (LTE) วันหน้า
       
       สัญญาเพียงฉบับเดียว จึงไม่สามารถตอบโจทย์ ยุทธศาสตร์ของกสทได้ครอบคลุมทั่วถึง จนเป็นที่มาของสัญญา 6 ฉบับบนความถูกต้องตามกฎหมาย และทำให้เรียกได้ว่าเป็นสัญญาให้บริการโทรศัพท์มือถือรูปแบบใหม่
       
       นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท กล่าวว่า การที่ศาลปกครองรับพิจารณาในประเด็นดังกล่าว เป็นไปตามมาตรฐานที่ศาลต้องรับไว้พิจารณา เนื่องจากมติบอร์ดถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครองเพราะกสทเป็นหน่วยงานของรัฐ
       
       สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือต้องเตรียมข้อมูลเพื่อที่จะนำไปชี้แจงต่อศาล ซึ่งไม่ได้หนักใจเนื่องจากการดำเนินงานที่ผ่านมาทำอย่างรอบคอบโดยเฉพาะประเด็นทางด้านกฎหมาย เพราะนอกจากฝ่ายกฎหมายของ กสท แล้วยังมีที่ปรึกษาทางกฎหมาย รวมถึงในบอร์ดก็มีตัวแทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด และยังมีอดีตอัยการสูงสุดที่เป็นที่ปรึกษาของประธานบอร์ดร่วมกันช่วยพิจารณาอย่างละเอียด รอบคอบ
       
       ที่สำคัญคือการที่กสท ได้มีการส่งสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจรายละเอียดในร่างสัญญาเป็นระยะเวลาเดือนกว่าก่อนจะลงนาม ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามข่าวที่มีออกมาว่าเร่งรัด เนื่องจากมีการพิจารณาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553เรื่อยมาโดยตลอด
       
       แจงเหตุสัญญาหลายฉบับ
       
       โดยจาก 6 สัญญาที่ได้มีการเซ็นร่วมกับทางกลุ่มทรูนั้น เป็นสัญญาทางธุรกิจเพียง 4 ฉบับเท่านั้น อีก 2 ฉบับเป็นการยกเลิกสัญญาเดิมเพื่อที่จะทำธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ประกอบไปด้วยสัญญายกเลิกการทำตลาด และสัญญายกเลิกสัญญาเช่าอุปกรณ์ เพราะการจะยกเลิกการทำธุรกิจรูปแบบเดิมคือการให้บริการโทรศัพท์มือถือในระบบ CDMA และเปลี่ยนมาเป็น HSPA ก็ต้องมีสัญญาเพื่อดูแลลูกค้า CDMA เดิมอีก 2 ฉบับ ซึ่งมีอายุสัญญาไม่เกิน 2 ปี หรือมากสุดคือ 2 ปีในการทำให้ลูกค้าย้ายไปใช้ 3G ในรูปแบบ HSPA แทน
       
       'หลังจาก 2 ปีไปแล้วจะเหลือสัญญาหลักแค่ 2 ฉบับ คือสัญญาเช่าอุปกรณ์ HSPA กับ สัญญาขายส่ง-ขายต่อบริการ'
       
       เนื่องจากสัญญาบริการขายส่งบริการบนโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ HSPA เป็นลักษณะสัญญาตามประกาศ กทช. เรื่องการประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทขายส่งบริการและขายต่อบริการ พ.ศ. 2549 ซึ่งยังมีผลบังคับใช้อยู่ และต้องเป็นมาตรฐานเพื่อในอนาคตถ้ามีการทำสัญญาขายส่ง-ขายต่อกับบริษัทอื่นก็จะใช้รูปแบบของสัญญาฉบับเดียวกัน
       
       ส่วนสัญญาเช่าทำขึ้นเพื่อให้รองรับตามระเบียบพัสดุของกสท เนื่องจากในกรณีการเช่าเครื่องหรืออุปกรณ์โทรคมนาคมทุกชนิด กสท สามารถดำเนินการตกลงราคา ตามระเบียบพัสดุ กสท ข้อ 85(4)(5) และข้อ 86
       
       'ทั้ง 2 สัญญารองรับด้วยกฎระเบียบที่ต่างกัน จึงต้องมีการแบ่งแยกให้ชัดเจน โดยเฉพาะสัญญาขายส่ง-ขายต่อบริการ'
       
       ส่วนในเรื่องของการซื้อความจุของระบบ หรือคาปาซิตี้เพื่อนำไปขายต่อบริการที่กำหนดไว้ 80% - 20% ที่มีการวิจารณ์ในวงกว้างว่าเป็นการผูกขาดให้กลุ่มทรูนั้น จิรายุทธ ให้ข้อมูลว่า แต่เดิม กสท ต้องการคาปาซิตีเพื่อสำรองไว้ใช้งาน 20% ดังนั้นใครก็ตามที่เข้ามาเซ็นสัญญากี่กลุ่มก็ตามรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 80% เมื่อทรูเป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาเซ็นกับ กสท จึงสามารถนำคาปาซิตีส่วนที่เหลือ 80% เพื่อไปดำเนินการขายต่อได้
       
       แต่ในอนาคตถ้ามีบริษัทอื่นเข้ามาขอซื้อความจุของระบบเพิ่มเพื่อให้บริการ ทาง กสท ก็ต้องสร้างคาปาซิตีให้รองรับบริษัทที่มาขอซื้อเพิ่ม เพราะฉะนั้นสัดส่วนในอนาคตจะไม่ได้เป็น 80%-20% อีกต่อไป แต่อาจจะเป็น 20%-50%-30% ซึ่งทางทรูก็ต้องยอมตามเงื่อนไขเนื่องจากเป็นกติกาของทางกสทช.ทำให้ กสท เลือกปฏิบัติไม่ได้
       
       'เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาบอกว่า กสท ผูกขาดให้ทรูก็ผิดแล้ว เพราะตามกฎหมายไม่สามารถผูกขาดได้เนื่องจากเป็นสัญญาเปิด ดังนั้นจึงไม่ใช่เป็นการสร้างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรม ต่อไปในอนาคตสมมุติดีแทคต้องการมาซื้อบริการจาก กสท เพื่อไปขายต่อเพื่อให้ต้นทุนเทียบเท่ากับทรูก็สามารถทำได้เช่นกัน'
       
       นายจิรายุทธกล่าวย้ำว่าถ้าสัญญานี้ไม่เป็นธรรม นั่นก็หมายความว่ารูปแบบการทำตลาด 3G ของทีโอที ก็ไม่เป็นธรรม เพราะมีรูปแบบเดียวกัน เนื่องจากทั้ง กสท และ ทีโอที ไม่ได้ประมูลความถี่ แต่ได้รับการจัดสรรอยู่แล้ว ทีโอทีก็ขายส่งบริการเหมือนกสท สิ่งที่ กสท ต่างจากทีโอทีคือ ทีโอทีลงทุนอุปกรณ์เอง แต่กสทใช้วิธีเช่าอุปกรณ์
       
       'เหมือนกับการใช้งานรถ ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าต้องการซื้อเงินสด เงินผ่อน หรือเช่ามาใช้ ซึ่งไม่ว่าจะทำรูปแบบไหนก็ถือเป็นเจ้าของสิทธิ์ในรถคันนั้น ก็เหมือนกับทีโอทีซื้อรถมาขับ แต่กสทเลือกที่จะเช่า ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็มีวัตถุประสงค์เดียวกัน'
       
       ไม่เข้าข่ายพ.ร.บ.ร่วมทุนฯแน่นอน
       
       นายจิรายุทธกล่าวว่าที่ผ่านมาอาจจะมี 2 สัญญาที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 35 แต่เมื่อดูโดยเนื้อแท้แล้วจะพบว่า สัญญาแรกที่เกี่ยวกับการขายส่ง-ขายต่อบริการนั้น ได้มีการวินิจฉัยจากคณะกรรมการกฤษฎีกาออกมาแล้วว่าไม่อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมการงานฯ (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯปี 2535)
       
       ขณะที่อีกหนึ่งสัญญาเกี่ยวกับการเช่าอุปกรณ์ ซึ่งกสท ได้เคยทำสัญญาเช่าอุปกรณ์จำนวนมาก ซึ่งสัญญาทุกครั้งทำขึ้นตามระเบียบพัสดุของ กสท ต่างกับสัปทานในสมัยก่อนโดยสิ้นเชิงที่เอกชนได้รับสิทธิในคลื่นความถี่และลงทุนเองทุกอย่าง และทางผู้ให้สัมปทานรับเงินอย่างเดียว
       
       'กสท ยังคงเป็นเจ้าของคลื่นความถี่ที่ขายส่งในนาม กสท เพื่อให้เอกชนรับไปขายต่อ รวมถึงการที่ได้ให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วว่าไม่เข้าข่าย ทำให้เรามั่นใจว่าทุกสัญญาที่ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ'
       
       ส่วนประเด็นที่มีการกล่าวอ้างว่า กลุ่มทรู ได้มีการขออนุญาติกับกทช. เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนระบบ 3G นั้นไม่เป็นความจริง เนื่องจากทาง กสท เป็นเจ้าของคลื่นเมื่ออนุญาติให้ทรูนำไปทดลองใช้บริการก็ต้องขออนุญาติให้ ดังนั้นประเด็นที่ว่าเป็นการให้บริการคลื่นความถี่ซ้ำซ้อนนั้นจึงไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
       
       ระบบ HSPA ปูทางอนาคต
       
       ปัญหาหลักในช่วงที่ผ่านมาของ กสท คือรายได้หลักจากธุรกิจโทร.ต่างประเทศเริ่มเติบโตลดลง ในขณะที่ธุรกิจโทรศัพท์มือถือเป็นเป้าหมายรายได้ในอนาคต การทำสัญญา 6 ฉบับร่วมกับกลุ่สทรูเพื่อแก้ปัญหาการให้บริการธุรกิจโทรศัพท์มือถือของกสท เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีโอกาสได้ใช้บริการ 3G จริงๆ ซึ่งเมื่อพร้อมใช้งานทั่วประเทศแล้วก็จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งประเทศ
       
       เป็นที่รู้กันว่าเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือในอนาคตจะกลายเป็น 4G (LTE) ที่จะไม่มีทั้ง CDMA และ GSM ต่อไป ดังนั้นถ้า กสท ลงทุนทำธุรกิจ CDMA ต่อไปก็จะเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ กสท ไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ สอดคล้องกับภาพรวมการใช้งาน CDMA ทั่วโลกที่มีอัตราลดลงเรื่อยๆ โดยปัจจุบันเหลือการให้บริการบนระบบ CDMA เพียง 20% เท่านั้น
       
       'ผู้บริโภคส่วนใหญ่เลือกความสะดวกในการใช้งาน GSM มากกว่า โดยเหตุผลหลักๆคือสามารถเปลี่ยนเครื่องได้จากการย้ายซิม ในขณะที่การใช้งาน CDMA มีตัวเลือกที่น้อยกว่า ความนิยมจึงเริ่มลดลง'
       
       รวมถึงในการลงทุนเพื่อพัฒนาบนระบบ HSPA หรอ HSPA+ เมื่อถึงเวลาที่ต้องอัปเกรดไปเป็นการใช้งานบนเครือข่าย 4G จะสามารถทำได้ง่ายกว่า ด้วยข้อจำกัดกล่าวนี้จึงเห็นว่าควรมีการเปลี่ยนระบบการให้บริการเพื่อให้สามารถรองรับการแข่งขันในอนาคตได้
       
       ทำไมต้องทรู
       
       ย้อนไปก่อนหน้าการเซ็นสัญญาดังกล่าว กสท ได้เคยขอมติคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติให้ กสท เข้าซื้อกิจการระบบ CDMA ส่วนกลาง จากบริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด ในราคา 7,500 ล้านบาท แต่เนื่องจากไม่สามารถตกลงราคาที่ กสท ตั้งไว้ที่ 4,000 ล้านบาทได้จึงได้เสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติยกเลิกโครงการเข้าซื้อกิจการ และยกเลิกสัญญาทำการตลาดระบบ CDMA ส่วนกลาง และสัญญาว่าจ้างบริหารโครงข่ายระบบ CDMA กับทั้ง 2 บริษัท
       
       หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้มีกลุ่มเอกชน คือ กลุ่มทรูที่เข้าไปเจรจากับทางบีเอฟเคทีสำเร็จ เพราะฉะนั้นจึงก่อให้เกิดการเซ็นสัญญาเช่าแก่ทางกลุ่มทรูในที่สุด และไม่สามารถเปิดประมูลคลื่นความถี่ได้ เพราะความถี่เป็นของกสทตั้งแต่ต้น
       
       'กสท ไม่สามารถไปบังคับให้ใครไปเจรจากับฮัทช์ได้ สมมุติถ้าเอไอเอสหรือดีแทคไปเจรจากับทางฮัทช์สำเร็จ กสทก็ต้องไปคุยกับค่ายนั้น และก็ต้องมานั่งตอบคำถามเดียวกันว่าทำไมถึงเป็นเอไอเอส หรือ ดีแทค ไม่ใช่ทรู'
       
       ย้ำไม่ใช่การแข่งขันไม่เป็นธรรม
       
       การให้บริการโทรศัพท์มือถือบนระบบ 3G ปัจจุบันนั้น ทั้ง 3 ค่ายหลักมีทางเลือกที่จะเข้าไปร่วมในการให้บริการไม่ว่าจะเป็น ทีโอที หรือแม้แต่ กสท ในรูปแบบการขายต่อ-ขายส่งบริการ ทำให้มองว่าการที่ กสท ทำสัญญากับกลุ่มทรู ไม่ถือว่าเป็นการสร้างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
       
       'ก่อนหน้านี้ก็เคยมีข้อมูลมาว่า ดีแทค ได้เข้าไปคุยกับทีโอที เพื่อเข้าไปขอซื้อบริการไปขายต่อ ซึ่งจะมาอ้างไม่ได้ว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่เป็นธรรม ไม่งั้นก็ต้องไปฟ้องทีโอทีด้วยเช่นกัน ขณะที่การให้ดีแทคซึ่งได้รับคลื่นความถี่ของ กสท ไปใช้นั้น ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการเพื่อตรวจสอบให้ถูกต้องก่อนเปิดให้ดีแทคสามารถให้บริการ 3G ได้ในอนาคตต่อไป'

ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)