Author Topic: รวมมิตรนางร้ายละครไทย : รสชาติ-สีสันที่ขาดไม่ได้?  (Read 1590 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai


      ถือเป็น "สีสัน" หนึ่งของละครไทยเกือบจะทุกเรื่องที่ "ดูเหมือน" จะขาดไปไม่ได้เสียแล้ว สำหรับเหล่านักแสดงตัวละครที่ถูกเรียกขานกันว่า "นางร้าย" หลากหลายรูปแบบ ทั้งประเภทร้ายลึก ร้ายแว้ดๆ ร้ายแบบจอมตบ ร้ายยั่ว ร้ายชนิดตลกเบาปัญญา ฯ
       
          ย้อนไปในอดีต นางร้ายที่เป็นที่จดจำกันดีของบ้านเรานั้นมีหลายต่อหลายคน ยกตัวอย่าง อุทุมพร ศิลาพันธุ์, เดือนเต็ม สาลิตุลย์, วิยะดา อุมารินทร์, มยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช, รชยา (อุษณีย์ รักกสิกร), สาวิตรี สามิภักดิ์, ลินดา ค้าธัญเจริญ , ปิยะมาศ โมณยะกุล, ธัญญา โสภณ, ดวงตา ตุงตะมณี, ปูดำ สรารัตน์ ฯลฯ
       
          มาถึงปัจจุบัน หากจะยกตำแหน่งนางร้ายอันดับหนึ่งให้กับใครสักคนโดยวัดกันที่กระแสการตกเป็นข่าวในแต่ละวันแล้วก็คงจะเป็นใครไปไม่ได้เลยนอกจากตัวละคร "เรยา" ที่แสดงโดยนักแสดงหญิง "ชมพู่ อารยา เอฮาร์เก็ต" ในละครเรื่อง "ดอกส้ม สีทอง" ที่ตกเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักด้วยความห่วงใยของสังคมจากการแสดงออกของตัวละครรวมไปถึงฉากเลิฟซีนที่ถูกใส่เข้ามาค่อนข้างจะถี่
       
          อย่างไรก็ตาม นอกจากตัว "เรยา" แล้ว หากมองย้อนกลับไปในช่วงหลายปีหลังที่ผ่านมาเราจะพบว่ายังมีนางร้ายตัวอื่นๆ ที่มีดีกรีความร้าย ความแรง ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากันออกมาให้เห็นอยู่ตลอดเวลา

   

       เริ่มกันตั้งแต่ "เป้ย ปานวาด" ที่แม้จะผ่านบทร้ายมาเยอะ แต่ที่ฮือฮาที่สุดก็คงจะเป็นการสวมบท "เชอร์รี่" ใน "สงครามนางฟ้า" ที่ดัดแปลงจากข้อเขียนทางอินเทอร์เน็ตเรื่อง "ชีวิตรันทด เรื่องจริงผ่านคอม” โดย "แอร์กี่" ซึ่งจากลีลาทั้งร้ายแบบมารยาของละครเรื่องนี้นี่เองที่ส่งให้สาวเป้ยคว้ารางวัลนางร้ายได้ใจจากงานสยามดาราปาร์ตี้ 2008 และรางวัลดาราสมทบหญิงยอดเยี่ยมจากงาน top award 2008 มาครอง
       

          ละครเรื่องนี้นอกจากจะแรงในจอแล้วนอกจอก็แรงไม่แพ้กัน หลังอดีตแอร์โอสเตทของสายการบินไทยคนหนึ่งที่ในละครถูกระบุว่าเป็น เชอร์รี่ ได้ออกมาฟ้องร้องไปยัง แอร์กี่ โดยกล่าวหาว่าผู้เขียนทำให้ตนและสามีที่มีตัวตนจริงเกิดความเสียหายด้วยการใส่ร้าย ใส่ความเป็นเท็จ ซึ่งหลังพิจารณาคดีกว่า 2 ปี ศาลก็ตัดสินให้จำเลยมีความผิดจริงพร้อมชดใช้เงินค่าเสียหายให้โจทก์จำนวน 4 แสนบาท
       
          ความร้ายกาจของตัวละคร "น้ำหวาน มธุรส" ใน "ระบำดวงดาว" ก็เป็นตัวร้ายอีกตัวหนึ่งที่สร้างชื่อให้กับนักแสดงมากฝีมือ "พลอย เฌอมาลย์" เป็นอย่างมากชนิดที่ว่ากันว่าหากไม่มีตัวละครน้ำหวานแล้วการรับงานละครครั้งแรกของนักร้องหญิง "ลีเดีย ศรัณย์รัชต์" ก็คงจะถูกพูดถึงมากกว่านี้แน่นอน
       
          สองนางเอกที่หันมารับบทร้ายแล้วทำได้ดีมากๆ ก็คือ "ยุ้ย จีรนันท์" กับบท "สาลี่" ใน "นางทาส" ซึ่งการหันมารับบทร้ายครั้งแรกนี้ก็ส่งผลให้เธอได้รับรางวัลไปครองมากมาย อาทิ รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย จากงาน Asian Television Awards 2008 ไปครอง โดยนางเอกอีกคนที่ร้ายใด้ใจมากก็ไม่ใช่ใครที่ไหนเป็นสาว "อั้ม พัชราภา" กับบทเมียน้อย "อรอินทร์" ในละคร "เมียหลวง" ที่หลายคนมองว่ามีดีกรีความร้ายนั้นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าตัว "เรยา" แต่อย่างใด
       
          "ต่อหน้านักข่าวก็เรียบร้อย เป็นผู้หญิงดีเวลาเจอนักข่าวไง แต่กับคนอื่นจะร้ายสุดสุด ปล่อยเต็มที่ พูดง่ายๆ คือแรดชัดเจน ไม่ต้องกั๊ก" หนึ่งในประโยคของการให้สัมภาษณ์จากนักแสดงสาวหน้าหวาน "บี น้ำทิพย์" กับบท "เนตรดาว" ในละคร "ความลับของซุปเปอร์สตาร์" ซึ่งคงไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่หากช่วงนั้นจะมีแต่คนบอกว่าเธอเล่นบทนี้ได้น่าตบมาก
       
          แม้จะไม่ร้ายชนิดที่ต้องออกมาแว้ดๆๆ แต่กับการสวมบท "ลีลา" ของ "น้ำผึ้ง ณัฐริกา" อันถือได้ว่าเป็นตัวละครหลักตัวหนึ่งในละคร "สวรรค์เบี่ยง" ก็ทำให้นักแสดงสาวคนนี้ได้รับคำชมไปอยางท่วมท้นชนิดที่ว่าเกือบจะเกินหน้าเกินตา "แอน ทองประสม" ที่เป็นนางเอกเสียด้วยซ้ำไป
       
          ไปกันที่นักแสดงคุณภาพอย่าง "นก จริยา" ไม่ว่าจะเรื่องไหนเรื่องไหนเธอคนนี้เป็นต้องตีบทแตกกระจุยกระจาย และนั่นก็ให้รวมถึงบทของ "คุณสน" ในละคร "อาญารัก" ที่หลายคนคงจะพอจำกันได้ดีกับประโยคที่ว่า..สาแก่ใจกูนักล่ะ อีช้อยเอ๊ยยยยย...
       
          รับบทตลกเฮฮามาก็ดูจะไม่เป็นที่พูดถึงเท่าไหร่ ทว่าทันทีที่พลิกมาเล่นร้ายในซีรีส์ "เมืองมายา เดอะ ซีรีส์" กับบทของ "ไอย์ ไอยเรศ" ชื่อของ "อ๋อม สกาวใจ" ก็ถูกพูดถึงในฐานะนางร้ายพุ่งแรงคนหนึ่งก่อนที่เจ้าตัวจะติดใจขอร้ายต่อใน "แผนรัก แผนร้าย" กับบท "พเยีย"
       
          ด้านของ "กิ๊ก สุวัจนี" แม้ที่ผ่านมาเจ้าตัวจะรับบทร้ายมาเยอะแต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นร้ายแบบเฮาฮา ร้ายแบบปัญญาอ่อน ทว่ากับละครอย่าง "ไทรโศก" ในบทของ "อุษา" หญิงสาวผู้เต็มไปด้วยความทะเยอทะยานนั้นต้องบอกว่าแตกต่างอย่างสุดขั้วด้วยความร้ายกาจของเธอที่ต้องบอกว่าสุดๆ


       นางแบบสาวที่ห่างหายงานละครไปนานอย่าง "ลูกเกด เมทินี" คนนี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นนางร้ายที่เคยสร้างผลงานความร้ายติดอันดับกับเขามาแล้วกับบทบาทของตัวละครชื่อ "เพียงดาว" ในละครเรื่อง "มารยาริษยา" ซึ่งลีลาของเธอนั้นก็ดูจะสูสีทีเดียวกับความร้ายของตัว "กลีบผกา" ที่รับบทโดย "หน่อย บุษกร" ในละครเรื่อง "แรมพิศวาส"
          
          "เบนซ์ พรชิตา" อีกหนึ่งนักแสดงคุณภาพที่ยามเมื่อเธอหันมาเล้นบทร้ายก็ร้ายได้สมจริงทีเดียว โดยเฉพาะกับบทของ "ปาลิตา" ในละครเรื่อง "ร่ายริษยา" ด้านนางเอกปากสวย "จอย รินลณี" ที่ระยะหลังหันมารับบทตัวร้ายบ่อยครั้งกระทั่งรับฉายานางร้ายตัวแม่ไป แต่ที่ร้ายจนเป็นที่จดจำก็คงจะเป็นตัวละครอย่าง "อัมพิกา" ใน "กรุงเทพราตรี" และ "ศันสนีย์" จาก "จำเลยรัก" นั่นเอง
       
          นักแสดงรุ่นใหม่อย่าง "เกรซ กาญจน์เกล้า" ที่ช่วงหลังพลิกบทจากนางร้ายหันมาเอาดีกับบทนางเอก แต่ใครหลายคนก็ยังคงจะจำได้ว่าในบทของ "จึงลิ้ม" จากละครเรื่อง "วิมานมังกร" นั้นนางร้ายหน้าสวยคนนี้เธอร้ายกาจเพียงใด
       
          "คือถ้าละครมันมีแต่ตัวดีๆ มันก็ไม่อาจจะดูไม่สนุกน่ะ ประมาณว่าขาดรสชาติอะไรบางอย่างไป เหมือนชีวิตที่ดำเนินไปปกติ ไม่มีอะไร แต่พอมีตัวร้ายเข้ามามันก็กลายเป็นสีสัน เป็นอุปสรรคให้คนได้ลุ้นว่าเรื่องมันจะเป็นอย่างไรต่อไป" หนึ่งในผู้ที่อยู่ในแวดวงละครคนแสดงความคิดเห็นถึงประโยชน์ของนางร้ายในละครไทย
       
          เป็นที่น่าสังเกตว่าดาราหลายคนที่พลิกตนเองมาเล่นร้ายมักจะรู้สึกติดอกติดใจกับบทบาทใหม่ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดหากพิจารณาในแง่ที่ว่าการเล่นบทนี้ก็เหมือนกับการได้ระบายปลดปล่อยความรู้สึกในด้านมืดของตัวเองออกมา
       
          "ตัวร้ายละครไทยจะเป็นอะไรที่ชัดเจนมากในเรื่องของการแสดงออกทางด้านอารมณ์ เช่นอยากด่าก็ด่าออกมาเลย สีหน้าแววตาเข็ดเขี้ยวเคี้ยวฟัน เป็นการแสดงออกที่ชัดเจนซึ่งในชีวิตจริงหรือว่าตัวละครที่เป็นตัวดีอื่นๆ จะทำไม่ได้ แต่ทั้งนี้มันก็ขึ้นอยู่กับตัวนักแสดงด้วยว่าจะตีความหรือว่ามีวิธีการแสดงการเล่นของตนเองแบบไหน มากน้อยเพียงใด อย่างบางเรื่องก็มีนะที่แบบว่ามาร้ายแบบเนียนๆ แต่มีแผนซ่อนไว้ ก็เป็นความร้ายอีกรูปแบบหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นตัวละครที่มันมีมิติในการแสดง มีอะไรให้เล่นค่อนข้างเยอะทีเดียว"
       
          ทำไมนางร้ายไทยส่วนใหญ่ต้องแว้ดๆๆๆ ต้องร้ายแบบให้เห็นว่าร้าย?
          "ก็อย่างที่บอกค่ะ อยู่ที่เรื่อง อยู่ที่บท อยู่ที่นักแสดง ส่วนใหญ่ที่ต้องร้ายชัดเจนก็เพราะมันง่ายในการสื่อสารให้คนดูเข้าใจ ดูปั๊บรู้เลย คือมันก็ยากนะที่จะบอกด้วยสีหน้าท่าทางคำพูดด้วยความนิ่งเพื่อให้รู้ว่าตัวเองคิดอะไรไม่ดีอยู่ เพราะมันไม่แอ็กชั่น ซึ่งข้อดีอย่างหนึ่งของการมีตัวร้ายแบบนี้ก็คือมันจะเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนกับตัวละครตัวอื่นๆ ที่เป็นคนดี ทำให้ตัวละครที่เป็นตัวดีดีมากขึ้น"
       
          "แล้วตอนท้ายตัวร้ายก็จะได้รับผลกรรมอะไรสักอย่าง ไม่ติดคุกก็ต้องตาย ก็ทำให้คนดูอยากจะเลียนแบบตัวที่ดีๆ มากกว่า มันคงไม่มีใครที่อยากจะเลียนแบบตัวร้ายในละครหรอก คือถ้าเป็นเรื่องเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายอันนั้นอาจจะมี ดูแล้ว สวยจัง อยากหามาสวมใส่บ้างอะไรอย่างนี้ แต่เรื่องพฤติกรรมหรือว่านิสัยคงไม่มีใครอยากเอาเป็นตัวอย่างแน่"
          
          เป็นเครื่องยืนยันว่า "นางร้าย" คงจะต้องอยู่คู่กับละครไทยไปอีกนานแสนนาน


ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)