ผู้บริหารกูเกิลยอมรับ ปริมาณมัลแวร์หรือซอฟต์แวร์ประสงค์ร้ายที่ออกแบบมาเพื่อทำงานบนอุปกรณ์พกพาระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์นั้นมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากกว่า 400% ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2010 ที่ผ่านมา ทำให้ขณะนี้มีซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสสำหรับแอนดรอยด์แจ้งเกิดสู่ตลาดมากขึ้นต่อเนื่องในขณะนี้
Vic Gundotra รองประธานอาวุโสฝ่ายวิศวกรรมของกูเกิลกล่าวในงาน Google I/O งานประชุมนักพัฒนาประจำปีที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ว่าในบรรดาแอปพลิเคชัน 200,000 แอปฯที่เปิดให้ดาวน์โหลดในร้านออนไลน์ Android Market นั้นมีแอปฯประสงค์ร้ายแฝงอยู่จำนวนมากโดยทิศทางการเพิ่มขึ้นนี้ส่อแววขยายตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะแอปฯที่ออกแบบมาเพื่อการขโมยข้อมูลผู้ใช้
แม้ผู้บริหารกูเกิลจะไม่ระบุว่าสาเหตุของการขยายตัวของโปรแกรมประสงค์ร้ายบนแอนดรอยด์เพิ่มขึ้นเพราะอะไร แต่เรื่องนี้ก็ถูกทุกฝ่ายตัดสินว่าเป็นความผิดของกูเกิลที่เปิดเสรีเรื่องการอนุมัติแอปฯในร้าน Android Market มากเกินไป ผิดกับร้าน iTunes App Store ที่แอปเปิลคุมเข้มจนทำให้อัตราซอฟต์แวร์ประสงค์ร้ายบนอุปกรณ์ระบบปฏิบัติการไอโอเอส (iOS) เกิดขึ้นน้อยมาก
สถิติการเพิ่มขึ้นของโปรแกรมมัลแวร์บนแอนดรอยด์ 400% นี้สอดคล้องกับการศึกษาของบริษัท Juniper Networks ที่พบว่าร้านแอปฯออนไลน์นั้นเป็นแหล่งแพร่กระจายมัลแวร์บนโทรศัพท์มือถือที่ใหญ่ที่สุด จุดนี้ Jeff Wilson หัวหน้าทีมวิเคราะห์บริษัท Infonetics Research มองว่าช่วงเวลา 1 ปีครึ่งที่ผ่านมานั้นสะท้อนว่าภัยออนไลน์ได้ขยายออกจากคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะมาสู่อุปกรณ์พกพาอย่างชัดเจน
หนึ่งในตัวอย่างที่ดีที่สุดคือแอปฯนามว่า DroidDream เป็นโปรแกรมประสงค์ร้ายที่เชื่อว่าถูกติดตั้งในอุปกรณ์แอนดรอยด์มากกว่า 50,000 เครื่องก่อนที่กูเกิลจะสามารถแก้ปัญหาได้
สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้นาทีนี้มีซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสสำหรับอุปกรณ์แอนดรอยด์ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ผู้ร่วมเล่นรายล่าสุดในตลาดคือบริษัท Webroot และผู้ให้บริการซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสอย่าง AVG ซึ่งแจ้งเกิดซอฟต์แวร์ทั้งแบบฟรีและเสียค่าบริการหลักการทำงานของโปรแกรมแอนตี้ไวรัสบนแอนดรอยด์ส่วนใหญ่คือการตรวจสอบแอปฯ ที่ผู้ใช้ต้องการติดตั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าแอปฯนั้นๆมีความปลอดภัยจริง พร้อมกับตรวจสอบลิงก์และที่อยู่เว็บไซต์ (URL) เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ใช้ถูกล่อลวงให้หลงเชื่อกรอกข้อมูลส่วนตัวใส่หน้าเว็บไซต์ปลอม (phishing)
อีกเหตุผลที่ทำให้แอนดรอยด์มีปริมาณภัยมัลแวร์เพิ่มขึ้นต่อเนื่องคือความแพร่หลายของอุปกรณ์ ปัจจุบัน อุปกรณ์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์นั้นถูกใช้งานมากกว่า 100 ล้านเครื่องทั่วโลก โดยประเมินว่าอุปกรณ์แอนดรอยด์นั้นถูกเปิดใช้งานใหม่ราว 400,000 เครื่องต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาของปีที่แล้วซึ่งมีสถิติที่ 100,000 เครื่อง เหล่านี้ทำให้แฮกเกอร์รู้สึกคุ้มค่าในการสร้างโปรแกรมร้ายเพราะสามารถโจมตีได้ในวงกว้าง
อย่างไรก็ตาม สื่อต่างประเทศตั้งคำถามกับประชาสัมพันธ์กูเกิลว่าการเพิ่มขึ้นของมัลแวร์แอนดรอยด์นั้นแปลว่าโปรแกรมแอนตี้ไวรัสบนแอนดรอยด์นั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ใช้ทุกคนควรมีหรือไม่ คำตอบที่ได้นั้นไม่ตรงตัวว่าใช่หรือไม่ โดยระบุเพียงว่ากูเกิลมุ่งมั่นสร้างประสบการณ์ที่ปลอดภัยบน Android Market แก่ผู้ใช้เสมอ และดำเนินการตรวจสอบโปรแกรมที่ผิดนโยบาย เพื่อลบออกจากร้าน Android Market ตลอดเวลา
ที่มา: manager.co.th