“หน่อง” เผย ไม่ทราบเรื่องที่มีเด็กเลียนแบบพฤติกรรม “เรยา” จนผู้เป็นแม่รับไม่ได้กระโดดน้ำฆ่าตัวตาย ย้ำ มีเจตนาดีทำ “ดอกส้มสีทอง” ให้เป็นละครสะท้อนสังคม เหน็บ ละครแนวนี้ต้องมีทั้งขาวและดำ ถ้าปิดกั้นไม่ให้นำเสนอทุกแง่มุมก็คงต้องเลิกทำละครสะท้อนสังคม
กำลังเป็นประเด็นฮือฮาที่พูดถึงกันในสังคม สำหรับละครเรื่อง “ดอกส้มสีทอง” ที่กล่าวถึงความแรงของเรยา จนกระทรวงวัฒนธรรมต้องออกโรงจัดเรตติ้งละครใหม่ พร้อมชี้แนะให้เขียนข้อความวิ่งเตือนชมอย่างมีวิจารณญาณขณะชม แต่ล่าสุดก็ยังมิวายมีข่าวว่ามีเด็กอายุ 14 คนรายหนึ่งได้เลียนแบบตัวละคร “เรยา” แล้วไปด่าแม่ จนทำให้แม่กระโดดน้ำตาย เมื่อสอบถามความคิดเห็นไปยัง “หน่อง อรุโณชา ภาณุพันธุ์” ผู้จัดละครค่ายบรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น เจ้าตัวกลับบอกยังไม่ทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้น พร้อมย้ำว่าละครเรื่องนี้เป็นละครสะท้อนสังคม
“อันนี้ไม่ทราบจริงๆ ถามว่ารู้ข่าวนี้ไหม จริงๆ ตอนนี้ยุ่งมากๆ เลย โดยเนื้อหาเรื่องราวที่ปรากฏเราก็พยายามกลับไปทบทวนและดูแลให้ออกมาดีที่สุด หลายคนคงได้เห็นอย่างอาทิตย์ที่ผ่านมา เรื่องราวก็เดินมาถึงช่วงท้ายแล้ว จริงๆ เราทุกคนอยู่ในสังคม ทุกคำติชมก็น้อมรับไว้ และขอบคุณทุกเสียงจริงๆ เพราะการที่เราทำละครออกไป เราต้องเปิดใจกว้างๆ และรับฟังทุกเสียงเลย ก็ขอบคุณมากๆ กับทุกกำลังใจที่ส่งเข้าจากทุกๆ สื่อ”
“ต้องบอกว่าผลงานที่ผ่านมาของเรา ปกติก็เป็นแนวสร้างสรรค์สังคมตลอด เรื่องนี้ก็มีเจตนารมณ์ที่ดี และตั้งใจสะท้อนสังคมครอบครัว ซึ่งเรื่องนี้เป็นการหยิบเอาความจริงของสิ่งที่เกิดขึ้นในครอบครัวอีกแง่มุมนึง ถ้าหลายคนได้ดูคงได้แง่คิด สาระที่ดีๆ กลับไป”
“อย่างผู้ชายก็คิดว่าถ้ามีเมียน้อยมันยุ่งขนาดนี้ ก็ไม่กล้ามี ก็มีผู้ปกครองบอกกับเรามาจริงๆ ว่า พ่ออย่ามีกิ๊กนะ เดี๋ยวเหมือนในละคร ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นละครที่ค่อนข้างมีมิติในหลายๆ มิติ อย่างเช่น เรื่องครอบครัว เรื่องการเลี้ยงดูลูก อย่างภรรยาก็มีทั้งแบบเด่นจันทร์ เป็นแบบนึง และแบบคุณดี๋ ซึ่งเป็นภรรยาที่ครอบครัวเลี้ยงมาอีกแบบนึง คอยให้สติ ทำให้มีภูมิต้านทานในชีวิตของเขา ทำให้เขาผ่านวิกฤตการณ์ในชีวิตได้อย่างไร”
“ทุกตัวละครให้แง่คิดต่างมุมมองกัน และเนื่องจากทำเป็นละครที่สะท้อนสังคม ก็คงต้องจะแยกว่าขาวและดำอย่างชัดเจน อย่างตรงนี้คนเขียนบทก็พยายามสอดแทรกตลอดทั้งเรื่อง ก็จะเห็นคำสอนที่ดีๆ หรืออย่างตัวละครของนัทที่ออกมาให้สติ คอยเตือนเพื่อนตลอด”
“ถ้าจะบอกว่าเราชี้นำสังคมให้รุนแรง ก็ต้องเลิกทำละครสะท้อนสังคม(หัวเราะ) ผู้ผลิตเองเห็นตัวอย่างการทำละครสะท้อนสังคมแล้วก็คงมาคิดว่าเราจะทำดีไหม เราเองก็ชี้นำในส่วนที่ดีนะคะ อยากให้มองในจุดที่ดี อย่างบทละครได้เขียนสอนไว้มากมาย จริงๆ แล้วเราระมัดระวังมาตลอด ต้องบอกว่าเราทำละครแนวสร้างสรรค์สังคมแล้วทุกครั้งที่เราทำละครแนวสะท้อนสังคมมันก็จะเกิดเรื่องราวแบบนี้ขึ้นมา”
ที่มา: manager.co.th