กูเกิลขายฝันในงานประชุมนักพัฒนาประจำปี Google I/O 2011 โชว์โปรเจ็คใหม่ที่จะทำให้ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือแอนดรอยด์สามารถจัดการการทำงานเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านผ่านไว-ไฟ ทั้งการเปิดปิดไฟ การเปิดเพลง รวมถึงการดึงเพลงจากแผ่นซีดีไปเก็บไว้บนกล่องเก็บเพลงออนไลน์ นอกจากนี้ยังเปิดตัวระบบปฏิบัติการสำหรับแท็บเล็ต Android Honeycomb ใหม่ในชื่อเลขเวอร์ชัน 3.1 สาธิตความสามารถครบครันเพื่อดึงให้นักพัฒนาสร้างแอปพลิเคชันสำหรับ Honeycomb ตัวต่อไปโดยไม่จำเป็นต้องรอแอนดรอยด์ "Ice Cream Sandwich" ซึ่งจะรองรับทั้งสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตอย่างที่เป็นข่าว
หนึ่งในสิ่งน่าสนใจของ Project Tungsten คือการใช้ NFC ในการเชื่อมต่อเพลงกับระบบ Google Music ที่สามารถทำได้เพียงเอากล่องซีดีแนบที่เครื่องเล่นเพลงเท่านั้น เพลงจะเล่นทันที
บริการที่กูเกิลสาธิตให้นักพัฒนาเห็นความสามารถในการควบคุมอุปกรณ์ในบ้านผ่านเครือข่ายไว-ไฟนั้นมีชื่อว่า Android@Home จากวิดีโอสาธิต บริการดังกล่าวจะทำให้ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือแอนดรอยด์แทนรีโมทในการสั่งการอุปกรณ์ในบ้าน โดยจะควบคุมการทำงานผ่านแอปพลิเคชันซึ่งกูเกิลให้ชื่อเรียกในขณะนี้ว่า "Project Tungsten" โดยกูเกิลระบุว่ายังอยู่ระหว่างการร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อทำให้อุปกรณ์ในบ้านสามารถเชื่อมต่อกันผ่านเครือข่ายข้อมูลไร้สาย (ไว-ไฟ)
นอกจากการเปิดไฟบ้าน กูเกิลสาธิตว่า Project Tungsten ยังสามารถนำมาใช้เชื่อมกับรายการเพลง Google Music ซึ่งกูเกิลทดลองให้ผู้ใช้ส่งเพลงขึ้นไปเก็บบนเซิร์ฟเวอร์กลุ่มเมฆของกูเกิลได้ ทำให้เครื่องเสียงหรือคอมพิวเตอร์ในบ้านสามารถเล่นเพลงออนไลน์ได้เพียงสัมผัสหน้าจอโทรศัพท์ แถมยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยี NFC เช่น หากกล่องซีดีเพลงมีการติดชิป NFC ไว้ เพียงนำโทรศัพท์แอนดรอยด์ไปแตะบนกล่อง ระบบก็สามารถดึงเพลงจากซีดีไปเก็บไว้บนบริการ Google Music ได้โดยไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์
แจก Galaxy Tab ล่อนักพัฒนาเขียนแอป Honeycomb ต่อไป
รายงานต่างประเทศระบุว่าทีมพัฒนาแอนดรอยด์ของกูเกิลขอให้นักพัฒนาที่ร่วมงาน Google I/O พัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับทำงานบนแท็บเล็ตระบบปฏิบัติการ Honeycomb ต่อไป โดยแจกเครื่อง Samsung Galaxy Tab 10.1 แท็บเล็ต Honeycomb แก่นักพัฒนาที่ร่วมงานทุกคน พร้อมกับอธิบายให้เห็นถึงความสามารถมากมายในเวอร์ชัน 3.1 ที่ถูกเปิดตัวในงานนี้
สิ่งที่ถูกเพิ่มขึ้นจาก Android 3.0 Honeycomb ระบบปฏิบัติการที่กูเกิลพัฒนาขึ้นมาเพื่อคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตโดยเฉพาะ คือส่วนติดต่อผู้ใช้หรือหน้าตาโปรแกรมที่ปรับให้ดีขึ้น เร็วขึ้น และลื่นไหลมากขึ้น โดยรายงานระบุว่าผู้ใช้จะสามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงด้านการแสดงผลโฮมสกรีนหรือหน้าหลักที่เร็วและสะดวกขึ้น รวมถึงการปรับหน้าตั้งค่าที่ใช้งานง่ายขึ้นเพื่อให้ผู้ใช้รู้จักข้อมูลเครื่องตัวเองได้ดีกว่าเดิม
อีกความเปลี่ยนแปลงใน Android 3.1 ที่เห็นชัดที่สุดคือการรองรับ USB ที่ดีกว่าเดิม โดยกูเกิลสาธิตว่าผู้ใช้สามารถเสียบอุปกรณ์ควบคุมเกมเข้ากับแท็บเล็ตแอนดรอยด์ผ่านพอร์ต USB เพื่อการเล่นเกม 3 มิติใหม่ๆ บนแท็บเล็ต แถมยังรองรับกล้อง คีย์บอร์ด เมาส์ เครื่องพิมพ์ รวมถึงนานาอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อผ่านยูเอสบีได้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้แท็บเล็ต Honeycomb สามารถพัฒนาทั้งในด้านความสามารถในการทำงาน ด้านสื่อ และบันเทิงอย่างชัดเจน
แม้ Android 3.0 จะทำได้ดีในเรื่องการเปิดหลายแอปพลิเคชันพร้อมกัน (multitasking) แต่ Android 3.1 ยังเพิ่มให้ผู้ใช้สามารถเปิดแอปพลิเคชันได้พร้อมกันแบบไม่จำกัดจำนวน นอกจากนี้ยังปรับให้โปรแกรมจิ๋วหรือ widget สามารถปรับขนาดได้ ทำให้ผู้ใช้สามารถเพิ่ม ลด ยืด หรือย่อวิดเจ็ทได้ตามใจต้องการ
นอกจากนี้ แอนดรอยด์เวอร์ชันใหม่ยังเพิ่มความสามารถของการรองรับเครือข่ายไว-ไฟ พร้อมกับเพิ่มระดับการรักษาความปลอดภัย และยังปรับให้โปรแกรมที่มาพร้อมกับแอนดรอยด์เช่น โปรแกรมเบราว์เซอร์ โปรแกรมแกเลอรีภาพ โปรแกรมปฏิทินงาน รายชื่อผู้ติดต่อ รวมถึงระบบอีเมล ให้สามารถอ่านง่าย สะอาดตา และบริโภคพลังงานน้อยลง
เบื้องต้น ข้อมูลระบุว่าผู้ใช้แท็บเล็ตโมโตโรลาซูม (XOOM) จะได้รับการอัปเกรดเป็นเวอร์ชัน 3.1 ตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค. เป็นต้นไป ขณะที่ผู้ใช้แท็บเล็ตตัวอื่นยังต้องรอ
ก้าวต่อไปแอนดรอยด์ รวมโอเอสสมาร์ทโฟน-แท็บเล็ต
ตามคาด กูเกิลระบุว่าแอนดรอยด์รุ่นต่อไปถัดจาก Honeycomb จะมีชื่อว่า "Ice Cream Sandwich" โดยจะเป็นระบบปฏิบัติการที่รองรับได้ทั้งโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ต กลายเป็นระบบปฏิบัติการครบวงจรที่สามารถใช้กับอุปกรณ์ใดก็ได้
ที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์แอนดรอยด์ในตลาดนั้นมีปัญหาว่ามีเวอร์ชันที่ต่างกันมากเกินไป ทำให้นักพัฒนาเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงในการลงแรงพัฒนาแอปพลิเคชันที่ไม่สามารถให้บริการได้ครบทุกอุปกรณ์ เหตุผลนี้ทำให้ Ice Cream Sandwich ถูกคาดหวังว่าจะแก้ปัญหานี้ด้วยการเป็น"ระบบปฏิบัติการหนึ่งเดียว"ที่สามารถใช้บนอุปกรณ์ทุกชนิด
แม้กูเกิลจะยังไม่แสดงตัวอย่างภาพหน้าจอของ Ice Cream Sandwich แต่มีการเปิดเผยว่าได้นำหน้าตาบางส่วนและระบบมัลติทาสกิงของ Honeycomb มาติดตั้งใน Ice Cream Sandwich แถมมีการเรียกน้ำย่อยด้วยการโชว์ตัวอย่างการทำงานวิดีโอคอลล์ของ Ice Cream Sandwich ว่าตัวกล้องสามารถประมวลผลตามความเคลื่อนไหวของผู้ใช้ เช่น การปรับภาพใหม่เมื่อผู้ใช้วิดีโอคอลล์มีการเปลี่ยนแปลงหรือขยับตำแหน่ง
กูเกิลไม่เปิดเผยกำหนดการวางจำหน่ายอุปกรณ์ Ice Cream Sandwich ระบุเพียงว่าขณะนี้ จำนวนอุปกรณ์แอนดรอยด์ที่ถูกเปิดใช้ในตลาดทั้งหมดมีเกิน 100 ล้านเครื่องแล้วใน 112 ประเทศ โดยมีสถิติการใช้งานแอนดรอยด์อยู่ที่มากกว่า 400,000 เครื่องต่อวัน ท่ามกลางจำนวนแอปพลิเคชันในร้านออนไลน์ 200,000 แอปพลิเคชัน ซึ่งถูกติดตั้งไปแล้วมากกว่า 4,500 ล้านครั้ง
Company Related Link :
Google Android
ที่มา: manager.co.th