ในวันที่ซูเปอร์ฮีโร่จากชาติตะวันตกกำลังอยู่ในช่วงขาขั้น ขณะที่เหล่ายอดมนุษย์จากแดนอาทิตย์อุทัยก็ยังไม่หายไปไหน … ครั้งหนึ่งเคยมีความพยายามจากผู้สร้างหนังฮ่องกงที่ต้องการส่งฮีโร่ให้เป็นขวัญใจเด็ก ๆ ในประเทศเช่นเดียวกัน แม้จะไม่สามารถสร้างกระแสยอดมนุษย์แดนมังกรให้เกิดขึ้นมาได้ แต่ก็ยังเป็นที่จดจำได้ถึงตอนนี้
“The Super Inframan” หรือ “ไอ้มดแดงแผลงฤทธิ์” เป็นยอดมนุษย์สัญชาติฮ่องกง ผลงานของ “ชอว์บราเดอร์” ยักษ์ใหญ่แห่งวงการภาพยนตร์เอเชียยุคเมื่อ 40 ปีก่อน ที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษกับหนังแนวกังฟู, กำลังภายใน แต่ก็ยังพยายามแสวงหาตลาดใหม่ ๆ เพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น ซึ่งตลาดฮีโร่ที่กำลังเฟื่องสุด ๆ ในตอนนั้นก็กลายมาเป็นเป้าหมายของชอว์จนได้
หนังใช้ผลงานแนวยอดมนุษย์จากประเทศเพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่น ที่ถือว่าเป็นยักษ์ใหญ่ในงานทำนองนี้ มาเป็นพิมพ์เขียวและแรงบันดาลใจ ทั้งในแง่งานออกแบบต่าง ๆ และเนื้อหา แตกต่างที่ The Super Inframan ถูกสร้างเป็นหนังสำหรับฉายโรง แทนที่จะออกอากาศรายสัปดาห์เหมือนกับหนังจากญี่ปุ่น
เรื่องราวเริ่มต้นด้วยเหตุแผ่นดินไหว และภูเขาไฟแห่งภูเขาปีศาจที่ดูจะสงบไปแล้ว ก็กลับปะทุขึ้นมาครั้งอีกครั้ง เป็นเรื่องผิดปกติที่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ เพราะหลังการระเบิดของภูเขาไฟ เหล่ากองทัพปีศาจได้ปรากฏตัวขึ้นมา โดยมีผู้นำคือ “เจ้าหญิงปีศาจ” นำฝูงสิ่งมีชีวิตจากใจกลางโลก กรีฑาทัพสู่พื้นผิวโลก กับคำประกาศจะทำลายล้างมนุษยชาติ และยึดครองโลกไว้เป็นของตัวเอง …
แน่นอนว่ามนุษย์โลกคงไม่งอมืองอเท้ารอวันหายนะแน่ เมื่อ “ดร. หลิวหยิงเต๋อ” นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะ ได้ดัดแปลงให้ “เรย์ หม่า” (หลี่ซิ่วเสียน) เจ้าหน้าที่แห่งหน่วยพิเศษ Science Patrol กลายเป็นมนุษย์หุ่นยนต์ “อินฟราแมน” ที่มีพละกำลังมหาศาล, มีความทนทานจากการโจมตีทุกรูปแบบ และสามารถสร้างปะจุไฟฟ้าในการต่อกรกับศัตรูตัวร้าย แห่งเหล่ากองทัพสัตว์ประหลาดได้ กลายเป็นกุญแจสำคัญในการปกป้องโลกและมนุษยชาติ
นับว่า The Super Inframan เป็นหลักไมล์สำคัญของวงการหนังฮ่องกงเลยก็ว่าได้ นอกจากการเป็น “หนังซูเปอร์ฮีโร่เรื่องแรกของจีน” แล้ว ผลงานของชอว์บราเดอร์เรื่องนี้ยังถูกบันทึกว่า เป็นหนังฮ่องกงเรื่องแรกที่ถ่ายทำกันโดยใช้ “สตอรี่บอร์ด” ด้วย
The Super Inframan เป็นผลงานของผู้กำกับที่ชื่อว่า “หัวซาน” ได้นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ และนักเขียนบทหนังกำลังภายในคนดังอย่าง “อี้กวง” มารับผิดชอบในส่วนของบทภาพยนตร์ ส่วนชุดสัตว์ประหลาดนั้นได้รับการช่วยเหลือจาก Ekisu Productions บริษัทผลิตชุดยางสัตว์ประหลาด และทำงานด้านเทคนิคพิเศษจากประเทศญี่ปุ่น ที่ตามปกติทำงานป้อนให้กับ “โตเอะ” เพราะฉะนั้นจึงมั่นใจในคุณภาพได้อย่างแน่นอน
หนังเรื่องนี้เข้าฉายในปี 1975 เป็นปีเดียวกับที่ “คาเมนไรเดอร์แอมะซอน” และ “อุลตร้าแมนเลโอ” เข้าฉาย แน่นอนว่าซูเปอร์ฮีโร่ของชอว์บราเดอร์นั้นต้องได้รับอิทธิพล และใช้ส่วนผสมของสองหนังฮีโร่ที่ดังที่สุดตลอดกาล มาเป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ (หรือลอกเลียนแบบ ?) ด้วย
Inframan เป็นมนุษย์แปลงผู้มีความสามารถในการต่อสู้ประชิดตัวแบบ “ไอ้มดแดง” ขณะเดียวกันเหล่าสมุน “โครงกระดูก” ทหารเลวระดับล่างของเหล่ากองทัพปีศาจ ก็ดูแล้วก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกับเหล่า “กองทัพกี้กี้” ในไอ้มดแดงเลย
ในเวลาเดียวกันหนังยังมีองค์ประกอบหลาย ๆ อย่างที่ชวนให้นึกถึง “อุลตร้าแมน” อาทิ การขยายร่างใหญ่ในฉากหนึ่งของเรื่อง, ชุดสีแดงสด, ตัวเอกสังกัดอยู่ในกองกำลังของรัฐบาลในแบบเดียวกับที่ปรากฏในอุลตร้าแมนทุกภาค รวมถึงท่าไม้ตายผสานมือปล่อยแสง ที่ชวนให้นึกถึงท่าพิฆาตของยอดมนุษย์จากดาว M 78 อย่างไม่ต้องสงสัย
ขณะที่ท่าไม้ตาย “หมัดสายฟ้าฟาด” ที่ยิงกำปั้นออกไปโจมตีศัตรูนั้น ก็คล้ายคลึงกับท่าโจมตีของหนังหุ่นยนต์ยักษ์เรื่อง “มาชินก้า” เหลือเกิน
นอกจากตัวของยอดมนุษย์อย่าง Inframan แล้ว สัตว์ประหลาดก็เป็นจุดขายที่น่าสนใจสำหรับผู้ชมด้วยเหมือนกัน หนังที่มีความยาวไม่ถึงสองชั่วโมง แต่ก็สามารถขนตัวประหลาดออกมากำนัลคนดูได้มากมาย นอกจากนั้นยังมีสัตว์ประหลาดที่ขยายร่างยักษ์ได้ เหมือนเหล่าร้ายในหนัง “ขบวนการเซนไต” เสียด้วย
ในหมู่กองทัพสัตว์ประหลาด ยังมีตัวละครสาว ๆ ที่คอยมาสีสันสร้างความกระชุ่มกระชวย ทั้งตัวของเจ้าหญิงปีศาจ และ “ดวงตาแม่มด” ปีศาจสาวที่มีเอกลักษณ์อยู่ที่ ดวงตาที่ฝ่ามือ คอยมีหน้าที่ช่วยเหลือจัดการเรื่องต่าง ๆ เป็นเหมือนเสนาธิการของเหล่าปีศาจก็คงได้
ด้วยรายละเอียดต่าง ๆ ที่ว่าไปแล้ว The Super Inframan อาจจะไม่ได้มีอะไร “พิเศษ” หรือแตกต่างจากหนังประเภทยอดมนุษย์ที่สร้างออกมากันอย่างเป็นล่ำเป็นสันในประเทศญี่ปุ่น
แต่ด้วยความที่ชอว์บราเดอร์เน้นการจัดจำหน่ายหนังไปยังต่างประเทศเป็นเป้าหมายหลักอย่างหนึ่ง The Super Inframan จึงได้เข้าไปฉายในประเทศแถบตะวันตกหลาย ๆ ประเทศ และถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสวยงามในตอนที่ออกฉาย นอกจากจะโด่งดังเป็นขวัญใจเด็ก ๆ ในเอเชียแล้ว ยังสร้างความประทับใจให้กับเด็กฝรั่งในหลายประเทศด้วย
ผู้กำกับดังอย่าง เควนติน ตารันติโน่ ก็เคยเอ่ยถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ ขณะที่นักวิจารณ์คนดังอย่าง โรเจอร์ อีเบิร์ต ก็เคยหยิบเอา The Super Inframan ไปวิจารณ์และให้คะแนน 3 ดาวจากเต็ม 4 ดาวมาแล้ว
แม้หนังจะถือว่าประสบความสำเร็จอยู่บ้าง แต่สุดท้ายผู้สร้างอย่างชอว์บราเดอร์ก็ไม่ได้ต่อยอดกระแสหนังประเภทยอดมนุษย์ของตนเอง ปล่อยให้ “ไอ้มดแดงแผลงฤทธิ์” ของพวกเขาเป็นเพียงไฟไหม้ฟาง เป็นความสำเร็จประเภทชั่ววูบ ที่รุ่งขึ้นมาแล้วก็เงียบลงไปอย่างรวดเร็ว จะเหลืออยู่ก็ในความทรงจำของเด็ก ๆ ในยุคนั้น ที่ตอนนี้ก็คงหง่อมกันหมดแล้วเท่านั้น
ที่มา: manager.co.th