Tri-Gate ทรานซิสเตอร์ 3 มิติ จากอินเทล
อินเทลปฏิวัติวงการอุตสาหกรรม เปิดตัว "Tri-Gate" ทรานซิสเตอร์ 3 มิติรุ่นแรกของโลก หลังจากมีการประดิษฐ์ซิลิกอนสทรานซิสเตอร์ขึ้นมาเมื่อ 50 ปีก่อน ทรานซิสเตอร์ดังกล่าวจะช่วยให้ชิปทำงานโดยใช้พลังงานต่ำลง ประหยัดพลังงานไฟฟ้า และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานให้แก่อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตด้วยเทคโนโลยีขนาด 22 นาโนเมตรเพื่อรองรับการผลิตในปริมาณมาก โดยชิปรุ่นนี้ใช้ชื่อรหัสว่า “ไอวี่ บริดจ์” (Ivy Bridge) หน่วยของหนึ่งนาโนเมตรเทียบได้กับขนาดหนึ่งในพันล้านของหนึ่งเมตร
นายเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ทรานซิสเตอร์ Tri-Gate 3 มิติ มีโครงสร้างพื้นฐานที่แตกต่างกันอย่างมากกับทรานซิสเตอร์ 2 มิติ บริษัทต่างๆ สามารถนำทรานซิสเตอร์ไปใช้เป็นองค์ประกอบหลักของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ทุกชนิด โทรศัพท์มือถือ และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ นอกจากนั้นยังสามารถนำเอาทรานซิสเตอร์ไปใช้เป็นระบบควบคุมในรถยนต์ ยานอวกาศ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอุปกรณ์อื่นๆ อีกหลายพันชนิดมานานหลายทศวรรษแล้ว
"นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งแล้วที่นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรของอินเทลได้รังสรรค์โครงสร้างของทรานซิสเตอร์ขึ้นมาใหม่ โดยในครั้งนี้มีการใช้โครงสร้างแบบ 3 มิติ ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะกลายเป็นต้นกำเนิดของอุปกรณ์ที่น่าทึ่งได้อีกมากในอนาคต นอกจากนี้ ผลสำเร็จครั้งนี้ยังทำให้ “กฎของมัวร์” ก้าวหน้าไปสู่อีกระดับหนึ่งด้วย”
บรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างทราบกันดีว่า โครงสร้างแบบ 3 มิติจะช่วยทำให้ “กฎของมัวร์” ยังคงเป็นความจริงต่อไป เนื่องจากอุปกรณ์ต่างๆ มีขนาดที่เล็กลงเรื่อยๆ จนกระทั่งกฎของธรรมชาติกลายเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไปแล้ว ความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในตอนนี้ คือ อินเทลสามารถนำเอาการออกแบบทรานซิสเตอร์ Tri-Gate 3 มิติ มาใช้กับกระบวนการผลิตในปริมาณมากได้ ซึ่งเป็นการนำ “กฎของมัวร์” เข้าสู่ยุคใหม่ และช่วยเปิดประตูไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมสำหรับอุปกรณ์ได้อีกหลากหลายชนิด
โดยกฎของมัวร์ทำนายแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีซิลิกอนเอาไว้ว่า ในทุกๆ 2 ปี จำนวนทรานซิสเตอร์จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ขณะเดียวกัน ประสิทธิภาพการทำงานกลับเพิ่มสูงขึ้นและต้นทุนจะลดลง กฎข้อนี้ได้กลายเป็นโมเดลพื้นฐานของการทำธุรกิจในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ติดต่อกันมานานกว่า 40 ปีแล้ว
++ ประหยัดพลังงาน ทำงานเร็วขึ้น ++
ทรานซิสเตอร์ Tri-Gate 3 มิติ จะช่วยให้ชิปทำงานโดยใช้พลังงานที่ต่ำลง มีอัตราการรั่วไหลของกระแสไฟลดลง นำไปสู่ประสิทธิภาพในการทำงานที่เพิ่มสูงขึ้นและประหยัดพลังงานมากกว่าทรานซิสเตอร์รุ่นก่อนหน้านี้ ซึ่งจะช่วยให้นักออกแบบชิปมีอิสระในการนำทรานซิสเตอร์ไปใช้กับอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ไฟน้อยหรืออุปกรณ์ที่ต้องการประสิทธิภาพสูงได้โดยขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้งาน
Tri-Gate 3 มิติ ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตขนาด 22 นาโนเมตร จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากถึงร้อยละ 37 และใช้ไฟน้อยลงเมื่อเทียบกับทรานซิสเตอร์ที่ใช้เทคโนโลยี 32 นาโนเมตรของอินเทล ประสิทธิภาพที่เพิ่มสูงขึ้นจะช่วยให้ทรานซิสเตอร์รุ่นนี้เหมาะสำหรับอุปกรณ์มือถือขนาดเล็กซึ่งต้องใช้พลังงานน้อยลงในขณะที่ต้อง “สลับ” โหมดของการทำงานกลับไปกลับมา นอกจากนั้นทรานซิสเตอร์รุ่นใหม่นี้ยังใช้พลังงานน้อยลงครึ่งหนึ่ง ถ้าหากเทียบกับทรานซิสเตอร์แบบ 2 มิติที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตขนาด 32 นาโนเมตรที่ให้ประสิทธิภาพออกมาเท่ากันอีกด้วย
“ประสิทธิภาพที่เพิ่มสูงขึ้นและพลังงานที่ประหยัดได้มากกว่าเดิมของ Tri-Gate 3 อยู่ในระดับที่เรายังไม่เคยเห็นมาก่อน ความสำเร็จในครั้งนี้จึงไม่ใช่แค่การทำให้ “กฎของมัวร์” เป็นจริงต่อไปเท่านั้น แต่อัตราการการใช้พลังงานที่ลดลงนี้ยังเป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในระดับเกินกว่าที่เราคาดว่าจะได้รับจากการเปลี่ยนขั้นตอนการผลิตจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง คุณสมบัติข้อนี้จะช่วยให้นักออกแบบผลิตภัณฑ์มีความคล่องตัวในการพัฒนาอุปกรณ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้ชาญฉลาดมากขึ้น และนำไปสู่ความเป็นไปได้อื่นๆ อีกมาก ความก้าวหน้าในครั้งนี้จะช่วยตอกย้ำความเป็นผู้นำของอินเทลในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ต่อไป” นายเอกรัศมิ์ กล่าว
นายเอกรัศมิ์ กล่าวเสริมว่า อินเทลจะนำ Tri-Gate 3 มิติ ไปใช้ในกระบวนการผลิตรุ่นถัดไปของบริษัท ซึ่งใช้ชื่อว่าโหนด 22 นาโนเมตร ตัวเลขนี้อ้างอิงจากขนาดของทรานซิสเตอร์แต่ละชิ้น หากเปรียบเทียบเครื่องหมายจุดหนึ่งจุด จะใส่ทรานซิสเตอร์ Tri-Gate ขนาด 22 นาโนเมตร ได้มากถึง 6 ล้านชิ้น
"อินเทลได้ทำการสาธิตประสิทธิภาพของไมโครโปรเซสเซอร์ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตขนาด 22 นาโนเมตรรุ่นแรกของโลก ซึ่งมีชื่อรหัสว่า “ไอวี่ บริดจ์” ซึ่งใช้งานในโน้ตบุ๊ก เซิร์ฟเวอร์ และพีซี โปรเซสเซอร์ตระกูล Intel Core รุ่น “ไอวี่ บริดจ์” จะเป็นชิปรุ่นแรกที่ใช้ทรานซิสเตอร์ Tri-Gate 3 มิติ โดยซีพียู ”ไอวี่ บริจน์” จะพร้อมรองรับการผลิตในปริมาณมากได้ภายในปลายปีนี้
ความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นกับเทคโนโลยีซิลิกอนในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ฟังก์ชั่น และความเหมาะสมของซอฟต์แวร์ที่ใช้กับสถาปัตยกรรมของอินเทลให้แก่ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ระบบประมวลผล Intel Atom ไปพร้อมๆ กับการตอบสนองต่อความต้องการโดยรวมทั้งในเรื่องของประสิทธิภาพ ต้นทุน และขนาด สำหรับผู้บริโภคของตลาดแต่ละกลุ่มได้
ทรานซิสเตอร์ แบบโครงสร้าง 3 มิติ
ที่มา: manager.co.th