พรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย
ไอบีเอ็มเผยกลยุทธ์สร้างสมาร์ท ซิตี้ เชียงใหม่ สร้าง 2 จุดเด่น ฮัปทางการแพทย์ และศูนย์ผลิตทางการเกษตร หลังระดมทีม ESC ที่ปรึกษาระดับหัวกะทิของไอบีเอ็มทั่วโลก ศึกษาข้อมูลเชียงใหม่แค่ 3 สัปดาห์
นางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย กล่าวว่า เพื่อฉลอง 100 ปี การก่อตั้งไอบีเอ็ม คอร์ปอเรชัน ไอบีเอ็มจึงได้จัดทำโครงการ IBM Executive Service Corps (ESC) โดยมีเป้าหมายในการนำเทคโนโลยี ทักษะและความรู้ของไอบีเอ็มเข้ามาช่วยกำหนดแผนยุทธศาสตร์หรือโรดแมปให้แก่เมืองสำคัญที่ไอบีเอ็มเลือกเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย สมาร์ท ซิตี้ ตามวิสัยทัศน์ของไอบีเอ็ม
ไทยได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 20 ประเทศในกลุ่มที่กำลังเจริญเติบโต โดยไอบีเอ็มสนับสนุนเงินลงทุนทางด้านเทคโนโลยีและบริการทั้ง 100 เมืองในระยะเวลา 3 ปี เป็นจำนวน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินลงทุนในแต่ละเมืองประมาณ 400,000 ดอลลาร์สหรัฐ
'ไอบีเอ็ม ประเทศไทยได้ผลักดันให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองแรกในการคิกออฟภายใต้โครงการ ESC ที่จะดำเนินจัดวางโรดแมปให้กับเมืองสำคัญๆ ในปีนี้ให้ได้ 22 เมือง'
ทีม ESC จะเป็นทีมผู้บริหารระดับสูงที่มีความเชี่ยวชาญในแขนงสาขาต่างๆ ของไอบีเอ็มทั่วโลกจำนวน 5 คนจาก 100 คนที่ได้รับการคัดเลือกจากผู้ที่อาสาสมัครเข้าร่วมกับโครงการกว่า 10,000 คน ลงพื้นที่ทำงานร่วมกับคณะผู้บริหารเมืองเชียงใหม่ในการสร้างสมาร์ทเตอร์ ซิตี้ เชียงใหม่ ตามแนวทางสมาร์ทเตอร์ ซิตี้โมเดลของไอบีเอ็ม โดยคณะทำงานใช้เวลาทำงานร่วมกัน 3 สัปดาห์เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ให้เชียงใหม่บรรลุเป้าหมายหลัก 2 ด้าน คือ การสร้างเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ และศูนย์กลางผลผลิตและจัดส่งสินด้านการเกษตร
นายเดวิด แฮทอเวย์ (Divid Hathaway US Air Force Account Leader, Public Sector ไอบีเอ็ม โกบอล บิสิเนส เซอร์วิส หนึ่งในทีม ESCกล่าวถึงยุทธศาสตร์การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ว่า สิ่งแรกที่เชียงใหม่ควรจะดำเนินการคือ 1. Hospital Efficiencies สร้างเสริมประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่และศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ โดยนำเทคโนโลยีและกระบวนการทางการวิเคราะห์ข้อมูล มาใช้ในการตรวจรักษา ปรับปรุงเวลาในการให้บริการ เพิ่มความถูกต้องของการใช้อุปกรณ์ สร้างระบบอาคารอัจฉริยะ เพื่อประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่าย
2. Ecosystem Integration สร้างระบบการรักษาและสถานพยาบาลในเชียงใหม่ให้เชื่อมต่อเป็นข้อมูลเดียวกันทั้งโรงพยาบาลของรัฐ เอกชน สปา สถานบริการนวดแผนไทย โดยการนำเทคโนโลยีมาช่วยเก็บรวบรวมข้อมูล ประวัติการรักษา ยา การให้บริการ เพื่อสะดวกในการรักษาคนไข้ และ 3.Service Identification and Marketing เสริมศักยภาพการรักษาพยาบาลให้มีคุณภาพมาตรฐานและความแตกต่างในการให้บริการ จัดลำดับความต้องการในการรักษาพยาบาลของคนไข้กลุ่มต่างๆ พร้อมกับการพัฒนาสร้างแบรนด์และการตลาดให้เกิดการรับรู้ในการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและคนไข้จากต่างประเทศ
ส่วนกลยุทธ์การเป็นศูนย์การผลิต จัดส่งสินค้าทางการเกษตรนั้น นางนาตาลี กูเทล Director of Power Systems, ไอบีเอ็ม ซิสเต็มส์ แอนด์ เทคโนโลยี กรุ๊ป ประเทศฝรั่งเศส กล่าวว่า กลยุทธ์แรก สร้างข้อมูลเชิงลึกเพื่อให้รัฐบาลและเกษตรกรมีข้อมูลที่มากพอที่จะช่วยในการตัดสินใจ เกี่ยวกับการวางแผนการปลูก เก็บเกี่ยว พยากรณ์อากาศในพื้นที่ ตลาดการซื้อขาย ตั้งราคาผลผลิต ด้วยการใช้ อี-ฟาร์มเมอร์ เว็บพอร์ทัล (e-Farmer Portal) พร้อมทั้งมีเอสเอ็มเอสแจ้งเตือนทางโทรศัพท์มือถือ
สอง สร้างตราสินค้าด้านอาหารของเชียงใหม่ โดยกำหนดตำแหน่งทางการตลาด ให้เป็นอาหารจากธรรมชาติที่มีความปลอดภัยสูงเพื่อบริโภคในประเทศ และเป็นอาหารที่มีราคาเหมาะสมมีคุณภาพดีเพื่อการส่งออก และ สาม มุ่งเน้นปรับปรุงด้านการตรวจสอบแหล่งที่มาทุกขั้นตอนของอาหาร (Food Tracebility) การบริหารจัดการเรื่องน้ำ แหล่งน้ำบริเวณไหนที่เหมาะสมกับการปลูก และการจัดการเรื่องน้ำท่วม
โครงการนี้ช่วยทำให้ผลผลิตการเกษตรทั้งระบบของเชียงใหม่ดีขึ้นช่วยสร้างศักยภาพในการแข่งขันให้แก่เชียงใหม่ทั้งในระดับประเทศและการส่งออกผลผลิตอาหารไปยังต่างประเทศ
รศ.นพ.นิเวศน์ นันทจิต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า โรดแมปดังกล่าวสอดคล้องกับสิ่งที่ทางคณะดำเนินการอยู่ทั้ง 3 เรื่อง เพียงแต่ดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปเท่านั้น แต่เชื่อว่า หลังจากที่เห็นโรดแมปดังกล่าว ทางคณะก็เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่า มาถูกทางแล้ว โดยจะเร่งดำเนินการในส่วนต่างๆ ให้เร็วขึ้น
Company Related Link :
IBM
ที่มา: manager.co.th