หลังจากเฟซบุ๊กจุดพลุลุยทดสอบบริการซื้อขายส่วนลดออนไลน์ใน 5 เมืองใหญ่ของสหรัฐฯ ล่าสุดบริษัทรักษาความปลอดภัยอินเทอร์เน็ตนาม Check Point เปิดตัวซอฟต์แวร์ใหม่ที่เปิดช่องให้พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถดูแลบุตรหลานของตัวเองได้ว่ามีความเคลื่อนไหวอย่างไรบนเครือข่ายสังคมยอดฮิตอย่างเฟซบุ๊ก (Facebook) จุดเด่นคือการไม่ต้อง"แอดเป็นเพื่อน"กับลูก ซึ่งจะทำให้ลูกไม่รู้ตัวเลยว่าถูกแอบดูเฟซบุ๊กอยู่
ซอฟต์แวร์ใหม่ล่าสุดนี้มีชื่อว่า ZoneAlarm SocialGuard ข้อมูลระบุว่าซอฟต์แวร์นี้จะแจ้งเตือนพ่อแม่ผู้ปกครองถึงสัญญาณอันตรายที่ปรากฏในบัญชีเฟซบุ๊กของบุตรหลาน โดยผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องไล่ตรวจข้อความโพสต์ ความเห็น รูปภาพ วิดีโอ หรือดิจิตอลคอนเทนต์ซึ่งบุตรหลานส่งต่อแบ่งปันกับเพื่อนบนเฟซบุ๊กแบบที่เคยเป็นมาในอดีต เพราะซอฟต์แวร์นี้จะสามารถสแกนหาข้อความที่เข้าข่ายการข่มขู่ การรุกรานทางเพศ การพูดคุยเรื่องยาเสพติด ความรุนแรง และการฆ่าตัวตายได้แบบอัตโนมัติ
ข้อมูลเบื้องต้นระบุว่า การสแกนในซอฟต์แวร์นี้จะทำบนอัลกอริธึมซึ่งถูกออกแบบโดยเฉพาะ โดยจะทำงานด้านหลัง (แบคกราวน์) ซึ่งไม่สามารถสังเกตเห็นได้ ซึ่งหากพบข้อความหรือมูลเหตุต้องสงสัย ก็จะส่งสัญญาณเตือนไปยังผู้ปกครอง
บาริ อับดุล (Bari Abdul) รองประธานฝ่ายขายของ Check Point ซึ่งมีสำนักงานในเมืองเรดวูดซิตี้ แคลิฟอร์เนีย ให้สัมภาษณ์ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการป้องกันบุตรหลานจากภัยสังคมในปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็ยังรักษาความเป็นส่วนตัวและคงรูปแบบการสื่อสารเสรีให้ลูกหลานไว้เช่นเดิม โดยอับดุลเชื่อว่าซอฟต์แวร์นี้คือหนทางแสนง่ายในการเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
นอกจากนี้ ซอฟต์แวร์ SocialGuard ยังสามารถตรวจจับการถูกแฮกชื่อบัญชี ลิงก์โปรแกรมประสงค์ร้าย และการล่อลวงออนไลน์อื่นๆที่อาจแฝงมากับการปลอมตัวเป็นเพื่อนหรือ friend ของคนแปลกหน้าด้วย
ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กคือหนึ่งในช่องทางการสื่อสารเสรีที่พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นห่วงว่าบุตรหลานจะสื่อสารแลกเปลี่ยนสิ่งที่ไม่ดีกับเพื่อนฝูงหรือคนแปลกหน้า สิ่งที่ผู้ปกครองพอทำได้คือการขอเป็นเพื่อนกับบุตรหลานเพื่อให้มีสิทธิ์เข้าไปอ่านข้อความเพื่อให้ทราบว่าบุตรหลานมีความคิดเห็นอย่างไรในขณะนั้น แต่การสำรวจพบว่าวัยรุ่นกว่า 38% ไม่ยอมรับพ่อแม่ผู้ปกครองของตัวเองเป็นเพื่อน ซึ่งทำให้ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบหรือระวังภัยใดๆได้
ซอฟต์แวร์ SocialGuard เปิดให้ดาวน์โหลดที่ zonealarm.com อัตราค่าบริการ 2 เหรียญสหรัฐต่อเดือน หรือ 20 เหรียญต่อปี
ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจากเฟซบุ๊กเปิดตัวทดสอบบริการ Deals on Facebook บริการโฆษณาส่วนลดจากร้านค้าในท้องถิ่นอย่างเป็นทางการใน 5 เมืองใหญ่ของสหรัฐฯ ได้แก่ แอตแลนตา ออสติน ดัลลัส ซานดิเอโก และซานฟรานซิสโก ถือเป็นขั้นต่อจากการให้บริการในยุโรปบางประเทศ โดยการบุกตลาดบ้านเกิดของเฟซบุ๊กในครั้งนี้ถูกวิจารณ์ว่ามีความน่าสนใจมาก คาดว่าจะทำให้ธุรกิจการค้าบนเครือข่ายสังคมหรือ social commerce ทวีความร้อนแรงยิ่ง เพราะบริการนี้จะทำให้เฟซบุ๊กเป็นคู่แข่งของเจ้าตลาดผู้ค้าส่วนลดอย่าง Groupon และ LivingSocial เต็มตัว
ข้อเสนอส่วนลดของร้านค้าต่างๆ จะถูกแสดงในส่วน newsfeed ซึ่งผู้ใช้เฟซบุ๊กต้องอ่านเพื่อรับความเคลื่อนไหวล่าสุดจากกลุ่มเพื่อนผู้ติดต่อ โดยเฟซบุ๊กจะเลือกแสดงข้อเสนอที่เหมาะสมตามผู้ใช้แต่ละราย
นอกจากนี้ เฟซบุ๊กยังเปิดตัวปุ่ม Send ซึ่งเป็นคุณสมบัติใหม่สำหรับให้เว็บไซต์ทั่วไปนำไปติดบนเพจ เพื่อให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กสามารถส่งต่อเพจที่ชื่นชอบแก่เพื่อนได้อย่างสะดวก ข้อแตกต่างของปุ่ม Send และปุ่ม Like ซึ่งเฟซบุ๊กเปิดใช้งานแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ คือ Send เป็นการแชร์ข้อมูลให้เฉพาะบุคคลที่ต้องการเท่านั้น โดยต้องมีการพิมพ์ชื่อเพื่อน กลุ่ม หรืออีเมล เพื่อให้ลิงก์ถูกส่งไปยังกล่องข้อความ Facebook Message หรืออีเมลที่ถูกพิมพ์ไป แต่ปุ่ม Like จะเป็นการแสดงลิงก์ให้ทุกคนที่ปรากฏในรายชื่อเพื่อน
รายงานเบื้องต้นพบว่า ขณะนี้มีการใช้งานปุ่ม Send แล้วในมากกว่า 50 เว็บไซต์ คาดว่าจะเพิ่มจำนวนต่อเนื่องในอนาคต
Company Related Link :
Facebook
ที่มา: manager.co.th