9 หน่วยงาน ภาครัฐ การศึกษา เอกชน รวมตัวตั้ง กลุ่มเอ็มทีสแควร์ กำหนดทิศทางพัฒนาซอฟต์แวร์มือถือคนไทยที่มีมูลค่าตลาดเกือบหมื่นล้านบาท
ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (ทริดี้) ในฐานะประธานกลุ่มเอ็มทีสแควร์ กล่าวว่า กลุ่มเอ็มทีสแควร์ (Mobile Technology for Thailand) เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของ 9 หน่วยงาน เพื่อความร่วมมือในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีทางด้านโทรศัพท์มือถือให้กับนักพัฒนาในประเทศไทย รวมถึงการระดมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์จากองค์กรสมาชิกให้เป็นในทิศทางเดียวกันเพื่อสร้างอุตสาหกรรมนี้ในช่องทางที่ถูกต้อง อาทิ การร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อการสื่อสาร
“จุดสำคัญของการตั้งกลุ่มเอ็มทีสแควร์ขึ้นในครั้งนี้คือ การร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนาแอปฯบนโทรศัพท์มือถือ”
ทั้งนี้จากผลสำรวจตลาดซอฟต์แวร์ประเทศไทยในปีนี้ที่ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า พบว่า ตลาดโมบายแอปฯของไทยในปี 2554 นั้นมีมูลค่าตลาดประมาณ 9,800 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2553 ที่มีมูลค่าตลาด 6,300 ล้านบาท
ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ ซอฟต์แวร์พาร์ค กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดโทรศัพท์มือถือประเภทสมาร์ทโฟนมีการเติบโตมากทั้งในตลาดโลกและตลาดประเทศไทย โดยประเทศไทยมียอดขายสมาร์ทโฟนแล้วกว่า 3 ล้านเครื่อง เพิ่มจากปีที่แล้วซึ่งมียอดขายเครื่อง 1.2 ล้านเครื่อง ขณะที่ยอดขายสมาร์ทโฟนในตลาดโลกมียอดการขายสูงถึง 54 ล้านเครื่อง มีมูลค่าซอฟต์แวร์อยู่ที่ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการรวมกลุ่มเอ็มทีสแควร์เป็นการเร่งให้เกิดการผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ แอปฯของโทรศัพท์มือถือ
"การตั้งกลุ่มเอ็มทีสแควร์ ทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีนักพัฒนาซอฟต์แวร์โทรศัพท์มือถืออยู่ที่ไหนบ้าง โดยซอฟต์แวร์พาร์คจะทำหน้าที่รวบรวมฐานข้อมูลนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ร่วมกันผลักดันการทำตลาดของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทย และการจัดอบรมสัมมนา"
สำหรับการรวมกลุ่มเอ็มทีสแควร์ช่วงแรกมีทริดี้ทำหน้าที่เป็นประธานกลุ่ม และซอฟต์แวร์พาร์ค ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ วาระดำรงตำแหน่งและโครงสร้างของกลุ่มจะมีการพิจารณาใหม่หลังจากที่มีการเปิดรับสมาชิกผู้เข้าร่วมได้จำนวนหนึ่ง โดยสมาชิกใหม่ที่จะเข้าร่วมนั้นจะรับเฉพาะสมาชิกแบบองค์กร ส่วนนักพัฒนาซอฟต์แวร์โทรศัพท์มือถือทุกคนถือเป็นกลุ่มผู้รับผลประโยชน์และเข้าร่วมกิจกรรมได้โดยอัตโนมัติไม่จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิกแต่อย่างใด
พันธมิตรที่ร่วมตัวกันในครั้งนี้ 9 หน่วยงาน ประกอบด้วย ทริดี้ ซอฟต์แวร์พาร์ค คณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ม.เกษตรศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) บริษัท อินเทล ไมโครอิเลคทรอนิกส์ (ประเทศไทย) บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท สปริง เทเลคอม
Company Related Link :
TRIDI
ที่มา: manager.co.th