แฮกเกอร์แสบ! ล้วงข้อมูลผ่าน MSN ส่งข้อความตุ๋นเพื่อน อ้างลำบากอยู่ต่างประเทศ ขอให้ส่งเงินช่วยเหลือ สอบพบเป็นแก๊งต่างชาติเข้าแฮกข้อมูล
เหตุการณ์แก๊งต่างชาติแฮกข้อมูลส่งข้อมูลหลอกเพื่อนเหยื่อให้ส่งเงินช่วยเหลือ ถูกเปิดเผยเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม น.ส.อรพินธ์ วงศ์วรจรรย์ หรือก้อย อายุ 30 ปี พนักงานฝ่ายขายบริษัทแห่งหนึ่งร้องเรียน "คม ชัด ลึก"ว่า ถูกคนร้ายแฮกข้อมูลในอีเมลล์ส่วนตัวแล้วหลอกเรียกเงินจากเพื่อน ๆ ว่า ใช้บริการฟรีอีเมลล์ของ Hotmail เพื่อติดต่อกับเพื่อน ๆ มาหลายปีแล้ว ส่วนใหญ่จะใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุคเปิดโปรแกรม MSN ออนไลน์ติดต่อกับเพื่อน ๆ ก่อนการเข้าใช้จะต้องใส่ชื่ออีเมลล์และพาสเวิร์ดของผู้ที่จะเล่นลงไป ในส่วนของตนได้ตั้งรูปแบบลงชื่อเข้าใช้แบบอัตโนมัติไว้เพราะเห็นว่าเป็นคอมพิวเตอร์ส่วนตัว
แต่วานนี้ (19 พ.ค.52) จะเข้าเช็คอีเมลล์ปราฏว่า พาสเวิร์ดถูกปฏิเสธ คิดว่าเปิดทิ้งไว้นานเครื่องอาจค้างจึงรีสตาร์ทและเริ่มเข้าโปรแกรม MSN และอีเมลล์ใหม่ ก็ยังไม่สามารถเข้าโปรแกรมได้ จึงพยายามเข้าอยู่ตลอด และลองเข้าไปที่ลืมพาสเวิร์ดเพื่อตอบคำถามส่วนตัวและตั้งพาสเวิร์ดใหม่ ปรากฏว่าไม่ทัน แฮกเกอร์ได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลส่วนตัวแล้ว
น.ส.อรพินธ์ กล่าวอีกว่า ต่อมาได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนบอกว่า ได้รับอีเมลล์จากตนใจความว่า ขณะนี้ฉันอยู่ที่ประเทศมาเลเซียตกอยู่ในภาวะลำบากเพราะทำกระเป๋าหายไม่มีเงินจะจ่ายค่าโรงแรม ขอให้ส่งเงินค่าโรงแรมและค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับให้ด้วย ฉันกำลังเดือนร้อนมาก กลับบ้านแล้วจะคืนให้" จึงบอกเพื่อนว่าเป็นอีเมลล์หลอกเพราะอีเมลล์ของตนได้ถูกเปลี่ยนพาสเวิร์ดไม่สามารถเข้าใช้ได้ และอย่าส่งเงินไปเด็ดขาด
น.ส.อรพินธ์ ยังกล่าวต่อว่า ได้พยายามติดต่อกับเจ้าหน้าที่ Hotmail ทางอีเมลล์อีกทางหนึ่งเพื่อขอความช่วยเหลือ โดยบอกเจ้าหน้าที่ว่าเป็นเจ้าของอีเมลล์ตัวจริง ขณะนี้ไม่สามารถเข้าใช้ได้เพราะมีแฮกเกอร์เข้าไปเปลี่ยนพาสเวิร์ดและข้อมูลส่วนตัว และได้ส่งเมลล์หลอกเรียกเงินเพื่อน ๆ จากรายชื่อในโปรแกรมดังกล่าวซึ่งมีจำนวนอยู่หลายร้อยคน ตนได้พยายามติดต่อกับเจ้าหน้าที่อยู่หลายครั้ง ระหว่างรอการติดต่อกลับจากเจ้าหน้าที่ก็ได้พยายามหาข้อมูลจากเวบไซด์ต่าง ๆ จนพบกระทู้จากนายพิชัย พ้นภัย อายุ 56 ปี 1191/288 ถนนเทอดดำริ แขวงดุสิต กรุงเทพฯที่เคยประสบปัญหาเช่นเดียวกันและนายพิชัยได้เคยส่งอีเมลล์รายงานให้ตำรวจและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันภัยทางอินเตอร์เนตแต่กลับไม่ได้รับคำตอบใดๆ เรื่องนี้ถือเป็นอุทาหรณ์แก่ทุกคนเพราะปัจจุบันนี้อีเมลล์เข้ามามีบทบาทในชีวิตของเราเป็นอย่างมาก
เจ้าหน้าที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศคนหนึ่งให้ข้อมูลว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องการใช้โปรแกรมที่เป็นฟรีอีเมลล์ เท่ากับไม่เสียค่าใช้จ่ายในการสมัครเข้าใช้งาน เมื่อเกิดปัญหาขึ้นทางบริษัทจะไม่ตามเรื่องให้ สิ่งที่จะทำได้คือให้พาสเวิร์ดใหม่และรีเซตข้อมูลใหม่ ทางเราไม่สามารถที่จะไปแทรกแซงหรือควบคุมดูแลในส่วนนี้ได้
แหล่งข่าวจากศูนย์ตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำผิดทางเทคโนโลยีเปิดเผยว่า การท่องโลกไซเบอร์ปัจจุบันนี้ควรมีสติอย่าเชื่ออะไรง่ายๆจนกว่าจะมีการตรวจสอบ เมื่อได้รับอีเมลล์ต่างๆ อย่าเกิดความโลภ เพราะโลกไซเบอร์นี้ไม่มีอะไรได้มาฟรี ควรมีการตรวจสอบจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ เมื่อตกเป็นเหยื่อสิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกคือแจ้งความกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้เพื่อเป็นเบาะแส หากหลงเชื่อโอนเงินไปแล้วควรเตรียมข้อมูลทั้งอีเมลล์ที่ใช้ติดต่อกับแฮกเกอร์หลักฐานการโอนเงิน เพื่อทางเจ้าหน้าที่จะใช้ข้อมูลนี้เป็นเบาะแสในการตามตัวคนร้าย ที่ผ่านมาเคยจับแก๊งค์คนร้ายชาวไนจีเรียที่มาอาศัยและส่งอีเมลล์ตุ๋นเงินในประเทศไทย ความผิดของพวกแฮกเกอร์คือ การเข้าระบบของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต หลอกลวงผู้อื่นโดยหวังผลทางการเงิน นำเข้าโปรแกรมอันไม่พึงประสงค์ โทษจะแล้วแต่กรณีไปหากต้องส่งตัวกลับประเทศ ทางประเทศไทยจะขึ้นเป็นบัญชีรายชื่อไว้เพื่อป้องกันการเดินทางกลับมาก่อเหตุในประเทศไทยอีก
แหล่งข่าวคนเดิมกล่าวด้วยว่า การหลอกลวงรูปแบบนี้ทางเราเคยได้รับแจ้งอยู่บ่อยครั้ง บางจะเป็นการตุ๋นเงินจากหญิงไทยที่หวังจะมีแฟนชาวต่างชาติ การใช้อินเตอร์เนตในสถานที่ต่างๆควรดูให้แน่ใจว่าเป็นที่ๆไว้ใจได้ น่าเชื่อถือเพราะเครือข่ายการให้บริการทางอินเตอร์เนตปัจจุบันมีอยู่ทั่วไปตามห้างสรรพสินค้า ร้านกาแฟ ป้ายรถเมย์ ทั้งนี้จะมีระบบ WiFi ระบบBluetooth ระบบสายแลน การรับบริการจากสถานที่เหล่านี้ก็อาจจะมีแฮกเกอร์เข้ามาแฮกข้อมูลของเราการโหลดข้อมูลต่างๆเมื่อเราโหลดข้อมูลมา ข้อมูลนี้จะมาพร้อมโปรแกรมไม่พึงประสงค์หรือไวรัส ซึ่งเจ้าของเว็ปไซน์ที่เปิดให้เราโหลดจะส่งตัวไวรัสมาพร้อมกับข้อมูลเพื่อเข้าไปแฝงอยู่ในคอมพิวเตอร์ของเรา ทำให้เจ้าของเว็ปที่เราไปโหลดมารู้ข้อมูลต่างๆในคอมพิวเตอร์ของเรา
"การป้องกันทำได้โดยต้องมีโปรแกรมตรวจสอบสแกนไวรัส โปรแกรมสแกนไวรัสนี้หากเราไปโหลดมาก็จะมีไวรัสตามมากับตัวโปรแกรมด้วย ถ้าคอมพิวเตอร์ของเรามีข้อมูลที่เป็นความลับหรือต้องทำธุรการทางการเงินผ่านอินเตอร์เนตบ่อยๆ แนะนำให้ใช้โปรแกรมสแกนที่เป็นของแท้แทนการดาวน์โหลดและหมั่นตรวจสอบชื่อไวรัสใหม่ๆอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการแฮกข้อมูลจากพวกแฮกเกอร์"แหล่งข่าว กล่าว
ที่มา: bangkokbiznews.com