พิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ลั่น 3BB เตรียมฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก TT&T 2 พันล้านบาท
โบราณว่าสงครามไม่เคยปราณีใคร กรณีพิพาทในวงการให้บริการอินเทอร์เน็ตระหว่างคนเคยรัก "ทริปเปิลที บรอดแบนด์ (3BB)" และ "ทีทีแอนด์ที (TT&T)" ก็ไม่มีใครได้รับความปราณีเช่นกัน วันนี้ลูกค้าอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 3BB ก็ยังฝังใจกับคำว่าถูกลอยแพในกว่า 20 จังหวัดทั่วไทย ขณะที่ 3BB ก็มีแผลเหวอหวะจากการสูญเสียลูกค้ามากกว่า 150,000 รายในเวลาไม่ถึง 3 เดือน พร้อมกับ TT&T ที่มีแววหมดตัวต้องควักกระเป๋าจ่าย 3BB เป็นเงินสูงถึง 2,000 ล้านบาทเพราะ 3BB ประกาศเตรียมพร้อมฟ้องเรียกค่าเสียหายแล้วในขณะนี้
จุดเริ่มต้นของบทสรุปแสน "อนาถ" นี้มาจากความไม่ลงรอยกันเองของ 3BB และ TT&T ก่อนหน้านี้ การให้บริการอินเทอร์เน็ตในต่างจังหวัดของ 3BB เป็นการทำสัญญาใช้บริการวงจรเช่าจาก TT&T แต่เมื่อ TT&T ประสบปัญหาทางการเงิน และมีการตั้งบริษัทเอกชนเข้ามาทำแผนฟื้นฟูกิจการ การเข้าไปใช้สิทธิของ 3BB ในการใช้วงจรเช่าตามสัญญาจึงมีผลกระทบ เช่น มีการเปลี่ยนกุญแจล็อคชุมสายทำให้ 3BB ไม่สามารถให้บริการได้ การสร้างเงื่อนไขการเข้าพื้นที่ชุมสายและมีเหตุรุนแรงถึงขั้นฟ้องร้องกันกับพนักงาน
ทั้งหมดนี้ทำให้ 3BB ไม่อาจใช้วงจรเช่าในพื้นที่ชุมสายของ TT&T เพื่อให้บริการกับลูกค้าได้ตามปกติ
3BB ระบุว่าได้ดำเนินการแก้ปัญหามาตั้งแต่ปี 2552-2553 ก่อนจะตัดสินใจลดการใช้งานวงจรเช่าของ TT&T จากที่เคยใช้งานอยู่ 320,278 วงจร เหลืออยู่เพียง 12,333 วงจรเท่านั้น โดยมีแผนลดจำนวนวงจรเช่าจนเหลือ 0 ภายในระยะเวลาไม่นานนี้
ผลคือผู้บริโภคต้องรับกรรมจากบาปที่ไม่ได้ก่อ ลูกค้า 3BB ออกมารวมตัวร้องเรียนปัญหา"ถูกลอยแพ"ตั้งแต่กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพราะถูกตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า เมื่อสอบถามก็ได้รับแจ้งว่า บริษัทฯ ยุติการให้บริการแล้ว ผู้ได้รับความเดือดร้อนคือผู้ที่ต้องทำธุรกิจเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต และประชาชนทั่วไปในพื้นที่มากกว่า 20 จังหวัด
แน่นอนว่าการยกเลิกให้บริการโดยพลการของ 3BB ถือเป็นการยกเลิกสัญญาที่ผิดกฎหมาย สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) จึงออกมาเรียกร้องให้ผู้บริโภครวมตัวเพื่อกดดันให้ 3BB หาทางดิ้นรนให้บริการต่อ ก่อนที่ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวทั้งผู้บริโภคที่ร้องเรียน และผู้บริโภคที่ไม่ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนแต่อยู่ในสภาพเดียวกัน
โดยมีมติให้ TT&T ระงับการรื้อถอนคู่สายหรือการหยุดการให้บริการ ทำให้ 3BB จึงยังคงมีสิทธิ์ใช้โครงข่าย TT&T เพื่อให้บริการต่อไปก่อนตามสัญญาเดิม
แม้จะให้บริการได้อย่างเดิม แต่วิบากกรรมที่ 3BB ได้รับเต็มๆ คือการสูญเสียลูกค้าไปประมาณ 150,000 รายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 54 ขณะเดียวกัน 3BB ก็ได้รับภาพแง่ลบในฐานะ"คนไร้ความรับผิดชอบ"แบบปฏิเสธไม่ได้ เพราะท่ามกลางปัญหาความเดือดร้อนของผู้ใช้บริการจำนวนมากจากการถูก 3BB เลิกให้บริการ แต่ 3BB ยังคงมีการเผยแพร่สื่อโฆษณาเกี่ยวกับการให้บริการอินเทอร์เน็ตอยู่ ทั้งทางสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อโทรทัศน์ ไม่มีการให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับผู้บริโภคว่าพื้นที่ไหนเปิดให้บริการ พื้นที่ไหนจะยุติบริการ
3BB จึงถูกมองว่ากำลังใช้กลยุทธ์เหมือนที่เคยทำมาในอดีตคือโฆษณาไปก่อน จากนั้นก็เก็บทั้งค่าติดตั้งและเก็บค่าบริการล่วงหน้า แต่พอพื้นที่ไหนไม่คุ้มก็ไม่ขยายโครงข่าย แล้วจึงเรียกลูกค้าไปรับเงินคืน ทั้งหมดนี้ถือเป็นการกระทำที่ไม่ใช่สุภาพบุรุษและแสนจะไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค
แม้ 3BB จะรู้ดีว่าความเชื่อมั่นในใจผู้บริโภคย่อมไม่กลับมาใน 3 วัน 7 วัน แต่บริษัทก็ยืนยันว่าได้พยายามดำเนินการแก้ไขจนทำให้พนักงานของ 3BB กว่า 60 คนถูกแจ้งข้อหาบุกรุก รวมทั้งยังมีการโอนลูกค้าให้ไปใช้บริการกับคู่แข่งอย่างทีโอทีแทนแล้ว และบางพื้นที่ 3BB ก็ลงทุนดำเนินการลากสายตรงไปให้บริการด้วยตัวเอง แทนที่จะใช้เครือข่ายของ TT&T ตามปกติ ทั้งหมดนี้ 3BB เชื่อว่าภายใน 3 ปีข้างหน้า จะมีผู้ใช้บริการบรอดแบนด์ 3BB ถึง 2 ล้านรายในประเทศไทย
ขณะนี้ 3BB มีคดีความกับ TT&T ราว 100 คดีทั้งแพ่งและอาญา ล่าสุด 3BB ตัดสินใจยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายประมาณ 2,000 ล้านบาทจาก TT&T ฐานทำให้สูญเสียลูกค้าประมาณ 150,000 ราย ซึ่งหมายถึงรายได้มหาศาลของ 3BB ที่หายวับไปกับตา
แน่นอนว่า TT&T ก็ได้รับผลเสียจากข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเช่นกัน นั่นคือมีโอกาสสูญเงินเพราะการฟ้องร้อง ซึ่งแม้จะพยายามชี้แจงด้วยความหวั่นใจที่อาจถูกเข้าใจผิดว่า TT&T เป็นผู้ตัดสัญญาณ แต่คำแก้ตัวก็ไม่ได้ทำให้ TT&T ดูดีขึ้น
TT&T นั้นชี้แจงว่าไม่ได้ให้บริการอินเทอร์เน็ต จึงไม่สามารถตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตหรือกระทำการสิ่งใดๆได้ โดยอ้างว่าจากการตรวจสอบกับผู้ใช้ที่ร้องเรียน สัญญาณโทรศัพท์บ้านยังสามารถใช้งานได้ดี โดยบอกว่าเป็นหน้าที่ของ "บริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต" ที่ต้องรับผิดชอบและไปต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้เรียบร้อย
"TT&T มีโครงข่ายที่ทันสมัยครอบคลุมเกือบทั่วประเทศ เปรียบเสมือนถนนสายหนึ่งที่ระบบสัญญาณต่างๆ สามารถวิ่งผ่านโครงข่ายนี้ได้ แต่ผู้ควบคุมสัญญาณจะอยู่ที่ผู้ให้บริการนั้นๆ ดังนั้นผู้ควบคุมสัญญาณอินเทอร์เน็ตจึงไม่ใช่ TT&T"
แต่ TT&T ไม่ได้พูดถึงอุปสรรคที่ทำให้ 3BB ไม่สามารถใช้โครงข่ายของ TT&T ได้ตามปกติแม้แต่น้อย มีเพียงการให้ข้อมูลว่าได้รับร้องเรียนจากลูกค้าใน 38 จังหวัด ได้แก่ สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อยุธยา อ่างทอง ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี เพชรบุรี กาฬสินธุ์ พิจิตร สุโขทัย กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ อุทัยธานี ลำปาง น่าน เชียงใหม่ ลำพูน ชุมพร ระนอง สงขลา กระบี่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้วโดยเฉพาะที่จังหวัด นครปฐม พะเยา เชียงราย กาญจนบุรี มหาสารคาม เลย อุตรดิตถ์ แม่ฮ่องสอน และพังงา แถมแนะนำให้ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตที่ประสบปัญหา สามารถทำเรื่องร้องเรียนกับสบท. หรือมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รวมถึงสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โดยตรง ไม่ต้องผ่าน TT&T
ถึงบรรทัดนี้ผู้บริโภคหลายคนฟังแล้วงง แม้จะเข้าใจแจ่มแจ้งว่า"การถูกลอยแพ"มันเป็นอย่างนี้่นี่เอง
เพราะในช่วงแรก (ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 54) ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครออกมารับผิดชอบกรณีที่เกิดขึ้น 3BB ประกาศจุดยืนป้ายความผิดให้ TT&T ชัดเจน ขณะที่ TT&T ก็โบ้ยให้ไปยื่นเรื่องกับสบท. แต่บอร์ดกสทช.กลับระบุว่ายังไม่สามารถนำกรณีลูกค้า 3BB ถูกลอยแพเข้าที่ประชุมบอร์ดได้เพราะ สบท.ยังไม่ออกประกาศคุ้มครอง และต้องรอการยืนยันอำนาจหน้าที่หลังมีพ.ร.บ. กสทช. ด้วยซ้ำ ผ่านไป 5 วัน กสทช. จึงมีคำสั่งเยียวยาผู้บริโภค 3BB ในที่สุด
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอะไร ทุกคนที่เกี่ยวข้องคงรู้ดี
ที่มา: manager.co.th