ต้องใช้คำว่าโดนรุมฟ้องร้องแล้วในนาทีนี้สำหรับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) เริ่มที่อเมซอน (Amazon) ยักษ์ใหญ่โลกค้าปลีกออนไลน์ที่กำลังจะรุกธุรกิจร้านดาวน์โหลดแอปพลิเคชันแอนดรอยด์ในชื่อ Amazon Appstore ปรากฏว่าแอปเปิลไม่ยอมจึงฟ้องขอความเป็นธรรมจากศาลเพราะชื่อ Appstore ที่ซ้ำกัน
ด้านบาร์นสแอนด์โนเบิล (Barnes & Noble) ผู้สร้างเครื่องอ่านอีบุ๊กระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ "Nook" ถูกไมโครซอฟท์ฟ้องฐานละเมิดสิทธิบัตรเทคโนโลยีในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์
แอปเปิลฟ้องอเมซอน แอปเปิลยื่นคำร้องต่อศาลแคลิฟอร์เนียเพื่ออ้างสิทธิในการเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า App Store ซึ่งเป็นคำที่อเมซอนได้ติดไว้ในร้านดาวน์โหลดแอปฯสำหรับอุปกรณ์แอนดรอยด์ โดยขอให้ศาลออกคำสั่งห้ามอเมซอนใช้ชื่อ App Store ในชื่อบริการเพื่อป้องกันผู้บริโภคสับสน จนทำให้แอปเปิลเสียประโยชน์
สำนักข่าว Wired อ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวนิรนามว่าร้าน Amazon Appstore นั้นมีกำหนดเปิดให้บริการในวันที่ 22 มีนาคมตามเวลาในสหรัฐฯ โดยจะเป็นร้านดาวน์โหลดแอปฯสำหรับผู้ใช้อุปกรณ์แอนดรอยด์ที่มีความแตกต่างจากร้าน Google Android Marketplace ซึ่งกูเกิลเปิดไว้เป็นร้านค้ากลาง จุดต่างสำคัญคือความปลอดภัยเพราะอเมซอนยืนยันว่า แอปฯที่สามารถวางขายในร้านของอเมซอนจะต้องเป็นแอปฯที่ได้รับการอนุญาตจากอเมซอนเท่านั้น โดยอเมซอนจะดูแลและทดสอบแอปฯ อย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความปลอดภัยอย่างที่เป็นในร้านค้าแสนเสรีไม่มีการควบคุมของกูเกิล
จุดขายของร้าน Amazon Appstore นั้นคล้ายกับสิ่งที่แอปเปิลทำในร้าน iTunes App Store ซึ่งแอปเปิลเปิดไว้ให้บริการผู้ใช้อุปกรณ์ระบบปฏิบัติการ iOS ทั้งไอโฟน ไอแพด และไอพอด โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมงานอเมซอนทำงานผิดพลาดจนทำให้หน้าจำหน่ายแอปฯ บางส่วนของ Amazon Appstore ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน ทำให้สื่อมวลชนได้เห็นแอปฯมากกว่า 48 แอปฯที่พร้อมให้บริการ
เบื้องต้น มีความเป็นไปได้ว่าอเมซอนจะใช้ระบบชำระเงินของตัวเองแทน Google Checkout ซึ่งกูเกิลให้บริการในร้าน Google Android Marketplace ดั้งเดิม จุดนี้ทำให้โอกาสเติบโตของ Amazon Appstore มีสูงกว่าเนื่องจากเป็นระบบที่ถูกใช้งานแพร่หลายกว่าในหลายประเทศ โดยผู้ใช้จะสามารถซื้อแอปฯ ได้ทั้งจากหน้าเว็บไซต์บนคอมพิวเตอร์พีซี หรือผ่านแอปฯของอเมซอนบนอุปกรณ์แอนดรอยด์
สำหรับกรณีล่าสุดที่แอปเปิลส่งฟ้องศาลให้อเมซอนเลิกใช้ชื่อ Appstore ก่อนที่จะได้เปิดให้บริการจริง แม้ว่าคำว่า App Store จะเป็นคำทั่วไปแต่แอปเปิลอ้างว่าชื่อ Appstore เป็นหนึ่งในรายการ"เครื่องหมายบริการ"ที่แอปเปิลจดทะเบียนไว้เพื่อใช้บนเว็บไซต์ ซึ่งทางกฎหมาย เครื่องหมายบริการนั้นมีนัยไม่ต่างจากเครื่องหมายการค้า แต่ต่างที่เครื่องหมายการค้านั้นจะถูกใช้กับสินค้า ดังนั้นแอปเปิลจึงมีสิทธิขอให้อเมซอนยกเลิกการใช้ชื่อ Appstore ก่อนจะสายเกินแก้
แมรี่ โอซาโกะ (Mary Osako) ประชาสัมพันธ์ของอเมซอนระบุว่าไม่สามารถให้ความเห็นเกี่ยวกับการฟ้องร้องที่เกิดขึ้นได้ เช่นเดียวกับแอปเปิลที่ไม่มีการให้ความเห็นใดเพิ่มเติมเช่นกัน
ไมโครซอฟท์ฟ้อง"Nook" ไมโครซอฟท์ยื่นคำร้องต่อศาลวอชิงตันตะวันตกว่าบริษัทบาร์นสแอนด์โนเบิล ได้ละเมิดสิทธิบัตรเทคโนโลยีไมโครซอฟท์ในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ซึ่งถูกใช้ในเครื่องอ่านอีบุ๊กนามว่า"นุ๊ก (Nook)" การฟ้องร้องครั้งนี้ตอกย้ำภาพชัดเจนว่าไมโครซอฟท์จะไม่ฟ้องร้องกูเกิล ผู้พัฒนาแอนดรอยด์โดยตรง แต่เลือกที่จะฟ้องร้องผู้พัฒนาอุปกรณ์แอนดรอยด์ซึ่งไม่ยอมเข้าโครงการและจ่ายค่าลิขสิทธิ์เทคโนโลยีให้ไมโครซอฟท์แทน
Horacio Gutierrez ทนายความทั่วไปของไมโครซอฟท์ระบุว่าการฟ้องร้องบาร์นสแอนด์โนเบิลครั้งนี้เป็นการฟ้องเรื่องเดียวกับที่ไมโครซอฟท์เคยฟ้องโมโตโรล่า ซึ่งเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์เช่นกัน โดยเป็นการฟ้องร้องเพื่อปกป้องสิทธิบัตรเทคโนโลยี 25 จุดซึ่งถูกละเมิดในสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และนานาอุปกรณ์แอนดรอยด์ เช่น เทคโนโลยีการสร้างแท็บเพื่อควบคุมหน้าต่างแสดงผล เทคโนโลยีแสดงภาพเว็บไซต์ขณะภาพยังถูกดาวน์โหลดอยู่ รวมถึงเทคโนโลยีการเลือกข้อความบนอุปกรณ์
บริษัทยักษ์ใหญ่โลกหนังสืออย่างบาร์นสแอนด์โนเบิลปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อการฟ้องร้องที่เกิดขึ้น
ก่อนหน้านี้ ไมโครซอฟท์ย้ำมาตลอดว่าแอนดรอยด์นั้นละเมิดสิทธิบัตรของไมโครซอฟท์หลายจุด ทำให้ไมโครซอฟท์ตั้งกฎเกณฑ์เพื่อเปิดให้ผู้ผลิตอุปกรณ์แอนดรอยด์สามารถใช้สิทธิบัตรเหล่านั้นอย่างถูกต้อง ทั้งหมดนี้ไมโครซอฟท์ระบุว่าอเมซอนและเอชทีซีได้เข้าร่วมโครงการแล้ว แต่สำหรับเครื่องอ่านอีบุ๊ก"นุ๊ก" ผู้จัดจำหน่ายอย่างบาร์นสแอนด์โนเบิล ผู้ผลิตอย่างฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) และผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างอินเวนเทค (Inventec) นั้นปฏิเสธที่จะเข้าร่วมโครงการนี้
ทั้ง 2 คดียังไม่มีความคืบหน้าการพิจารณาใดๆ
ที่มา: manager.co.th