(คนใส่แว่น) - นายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส เยี่ยมชมศูนย์อินเทอร์เน็ตโรงเรียน ที่โรงเรียนเมืองยาววิทยาคม จ.ลำปาง
เอไอเอสร่วมมือกับกสทช. ควัก 120 ล้านบาท คืนกำไรสู่สังคม มอบศูนย์อินเทอร์เน็ตกว่า 60 แห่งใน 5 จังหวัดทั่วประเทศ หวังกระจายการสื่อสารให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และลดช่องว่างดิจิตอล ประเดิมแห่งแรกที่โรงเรียนในจังหวัดลำปาง
นายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส กล่าวว่าการจัดทำอินเทอร์เน็ตชุมชนและโทรศัพท์สาธารณะเป็นหนึ่งในโครงการ ยูเอสโอ (Universal Service Obligation) หรือการจัดให้มีบริการคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และบริการเพื่อสังคม โดยต้องการให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลมีโอกาสใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกับประชาชนในเมืองหลวง
ในปี 2553 บริษัท เอไอเอ็น โกลบอลคอม และบริษัทซุปเปอร์ บรอดแบรนด์ เน็ทเวิร์ค ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเอไอเอส ได้ใช้งบประมาณจำนวน 120 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งศูนย์อินเทอร์เน็ตโรงเรียนจำนวน 30 แห่ง, อินเทอร์เน็ตชุมชนกว่า 30 แห่ง และโทรศัพท์สาธารณะจำนวน 140 หมู่บ้าน ใน 5 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง ลำพูน สกลนคร อุดรธานี และสุราษฎร์ธานี
โครงการดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ต้องการเปิดโอกาสด้านการเรียนรู้ และการเข้าถึงข้อมูลให้กับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนในพื้นที่ห่างไกล อีกทั้งยังเป็นการนำเทคโนโลยีที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือมีอยู่มาใช้ประโยชน์เพื่อสังคม
พร้อมกันนี้ยังได้มีพิธีส่งมอบศูนย์อินเทอร์เน็ตโรงเรียน และตู้โทรศัพท์สาธารณะให้แก่โรงเรียนเมืองยาววิทยาคม จังหวัดลำปาง เป็นแห่งแรก ก่อนจะกระจายส่งมอบในที่อื่นๆ โดยได้ดำเนินการติดตั้งอุปกรณคอมพิวเตอร์ จำนวน 11 เครื่อง และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รวมทั้งโทรศัพท์สาธารณะที่ใช้เทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่มาประยุกต์ใช้แทนการเดินสายโทรศัพท์
"ศูนย์แห่งนี้ใช้อินเทอร์เน็ต ADSL ความเร็ว 6Mbps สอดคล้องกับข้อกำหนดของกสทช.ที่ว่าต้องไม่ต่ำกว่า 2Mbps ในส่วนของโทรศัพท์สาธารณะนั้นก็มีสัญญาณชัดเจนไม่ต่างจากโทรศัพท์แบบเดินสาย"
ด้านนางสาว อรอุมา แลวริด คุณครูสอนวิชาคอมพิวเตอร์ ประจำโรงเรียนเมืองยาววิทยาคมกล่าวว่า ที่ผ่านมาโรงเรียนมีคอมพิวเตอร์เพียง 10 เครื่อง โดยจะใช้สอนนักเรียน 3 คนต่อ 1 เครื่อง ใน 1 ชั่วโมง อีกทั้งอินเทอร์เน็ตที่ใช้ยังค่อนข้างช้า ทำให้การเรียนการสอนมีความล้าช้าตาม
"ปัจจุบันนักเรียนชั้นประถมศึกษาจะได้เรียนวิชาคอมพิวเตอร์ 1ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนมัธยมศึกษา 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ การมีศูนย์คอมพิวเตอร์แห่งใหม่ที่มีศักยภาพจะช่วยให้นักเรียนสามารถใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ไม่ต้องย้ายไปเรียนในตัวเมือง"
ในส่วนของการดูแลศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตที่มีการส่งมอบไปแล้วนั้น ทั้งเอไอเอสและกสทช. จะดูแลร่วมกันตลอดระยะเวลา 3 ปี หากครบกำหนดจะต้องปรึกษาหารือกันอีกครั้ง ซึ่งเอไอเอสอาจดูแลต่อ หรือให้ทางโรงเรียนรับผิดชอบไป
Company Related Link :
AIS
ที่มา: manager.co.th