ตัวอย่าง=ป Nand Flash เมมโมรีซึ่งกำลังส่อแววขาดตลาดในช่วงกลางปีนี้
นักวิเคราะห์ฟันธง อุตสาหกรรมการผลิตและจำหน่ายชิปอิเล็กทรอนิกส์จะเป็นหนึ่งในส่วนที่ได้รับผลกระทบใหญ่หลวงที่สุดจากการประกาศปิดโรงงานของนานาบริษัทไฮเทคสัญชาติญี่ปุ่นหลังวิกฤตสึนามิช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ชี้ปัญหาขาดตลาดของชิปแฟลชเมมโมรีซึ่งนิยมใช้เป็นหน่วยความจำในผลิตภัณฑ์เช่นกล้องดิจิตอล เครื่องเล่นมัลติมีเดียพกพา และโทรศัพท์เคลื่อนที่ จะเกิดขึ้นแน่นอนในช่วงกลางปีนี้
รายงานล่าสุดระบุว่าบริษัทไอทีในซิลิกอนวัลเลย์แห่งสหรัฐฯ กำลังรอดูผลกระทบที่แท้จริงของพิษสึนามิที่อาจลามสู่ตลาดไอทีทั่วโลกอย่างใกล้ชิด
จิม แฮนดี้ นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมจากบริษัท Objective Analysis ในซานโฮเซ คือผู้จุดประกายว่าวิกฤตชิปแฟลชเมมโมรีขาดตลาดจะเกิดขึ้นเพราะการประกาศปิดโรงงานของบริษัทผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในญี่ปุ่น ซึ่งได้รับความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหวและสึนามิที่เกิดขึ้นในช่วงวันศุกร์ที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา โดยแฮนดี้ระบุว่า ชิปแฟลชเมมโมรีในตลาดโลกนั้นถูกผลิตในประเทศญี่ปุ่นราว 30-40% คาดว่าวิกฤตชิปขาดตลาดจะเริ่มขึ้นในไม่กี่สัปดาห์นับจากนี้
"ภาวะชิปหน่วยความจำขาดตลาดอาจเห็นชัดเจนช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้ ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินสถานการณ์ความรุนแรงของวิกฤตสินค้าขาดตลาด เพราะเหล่าผู้ผลิตอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์เองก็ยังคงจับตาศักยภาพการผลิตของโรงงานตัวเองอยู่ในขณะนี้ และหลายรายยังไม่สามารถสรุปแผนการดำเนินงานที่แน่นอนได้"
เหตุการณ์แผ่นดินไหว 8.9 ริกเตอร์ทางชายฝั่งทะเลทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น จนเกิดคลื่นยักษ์สึนามิสูง 6-10 เมตรถล่มเกาะญี่ปุ่นช่วงวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ทำให้บริษัทผู้ผลิตฮาร์ดแวร์สัญชาติญี่ปุ่นหลายรายพร้อมใจประกาศปิดโรงงานเนื่องจากความไม่ปลอดภัย โรงงานบางแห่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากคลื่นยักษ์สึนามิ จนทำให้สายการผลิตถูกทำลาย และพบภาวะน้ำท่วมจนไม่สามารถดำเนินการผลิตได้
ข้อมูลจาก Objective Analysis ระบุว่านอกจากชิปประเภท NAND แฟลชเมมโมรี 40% ยังมีชิป DRAM มากกว่า 15% ในตลาดโลกที่ถูกผลิตโดยโรงงานในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งแม้โรงงานผลิตชิปในญี่ปุ่นจะตั้งอยู่บริเวณค่อนไปทางใต้ของศูนย์กลางของแผ่นดินไหวพอสมควร ทำให้นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าผลกระทบเรื่องชิปขาดตลาดอาจไม่รุนแรง แต่เมื่อคำนึงถึงอุปสรรคจากการขนส่งสินค้าออกจากญี่ปุ่น ทั้งทางถนน รถไฟ เรือ และอากาศ ซึ่งล้วนได้รับความเสียหายโดยตรงจากสึนามิ ก็ทำให้ภาวะชิปแฟลชเมมโมรีขาดตลาดก็ยังส่อแววเกิดขึ้นอยู่
เช่นเดียวกัน แม้โรงงานผลิต NAND แฟลชเมมโมรีซึ่งโตชิบาและแซนดิสก์ร่วมกันลงทุนไว้ที่เมืองโยกาอิชิ จะถูกรายงานว่าสามารถเปิดสายการผลิตได้แล้วบางส่วนทั้งที่โตชิบาสำนักงานใหญ่ในกรุงโตเกียวได้รับความเสียหายจนต้องปิดทำการไป แต่นักวิเคราะห์ก็ยังคงมองว่าวิกฤตชิปขาดตลาดจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ โดยโรงงานในเมืองโยกาอิชิได้รับการการันตีว่าเป็นโรงงานผลิต NAND แฟลชเมมโมรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก
แผนที่ตั้งของโรงงานผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศญี่ปุ่น วงกลมสีแดงคือจุดศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 54
หากภาวะชิปแฟลชเมมโมรีขาดตลาดเกิดขึ้นจริง แปลว่าตลาดดาวรุ่งพุ่งแรงอย่างแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนซึ่งต้องใช้ชิปแฟลชเมมโมรีเป็นส่วนประกอบ ก็จะได้รับผลกระทบด้วย โดยอาจเปลี่ยนแปลงจนทำให้ตำแหน่งผู้จำหน่ายรายใหญ่ในตลาดถูกเปลี่ยนมือไป
มีการตั้งข้อสังเกตว่า แอปเปิลซึ่งเป็นบริษัทผู้สั่งซื้อ NAND แฟลชเมมโมรีรายหลักจากโตชิบา จะต้องหันไปหาทางเลือกใหม่เช่นซัมซุงหรือไมครอนเทคโนโลยีเพราะพิษสึนามิที่เกิดขึ้น
บริษัทไอทีตะวันตกที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อกรณีสึนามิที่ญี่ปุ่นในขณะนี้ มีเพียงผู้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์รายใหญ่ของโลกอย่างอินเทลที่ออกแถลงการณ์เพียงว่าพนักงานอินเทลในญี่ปุ่นจำนวนมากกว่า 600 คนนั้นปลอดภัยดี เช่นเดียวกับกูเกิลที่ยืนยันความปลอดภัยของพนักงานกูเกิลในญี่ปุ่น โดยทั้ง 2 ยืนยันว่าภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัท
นอกจากอุตสาหกรรมชิปแฟลชเมมโมรี ตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภคทั่วไปก็มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากภาวะสินค้าขาดตลาดเช่นกัน โดยบริษัทที่ถูกรายงานว่าได้รับผลกระทบมากที่สุดคือโซนี ซึ่งจำเป็นต้องปิดโรงงาน 6 แห่งชั่วคราว แยกเป็นที่ฟูกูชิมา 2 แห่ง และ มินากิอีก 4 แห่ง (แบ่งเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี เครื่องเล่นบลูเรย์ หัวอ่านดีวีดีและบลูเรย์ไดร์ฟและเครื่องเล่นเกมเพลย์สเตชัน 3) ยังมีชาร์ป ซันโย และพานาโซนิคที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากคลื่นยักษ์สึนามิ จนทำให้โรงงานถูกทำลายทั้งหมด ซึ่งคาดกันว่าจะมีผลทำให้สินค้าประเภททีวีแอลซีดีขาดแคลน
ที่มา: manager.co.th