Author Topic: ตลาดไอซีทีไทยปีนี้โต 11.7% มูลค่า 6.7 แสนล้านบาท  (Read 1020 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai


เนคเทค สวทช. ทริดี้ จับมือซิป้า สำรวจตลาดไอซีทีไทยปี 53 โต 9.2% คิดเป็นมูลค่า 6 แสนล้านบาท มีตลาดสื่อสารเป็นตัวนำ คิดเป็นมูลค่าถึง 3.8 แสนล้านบาท ส่วนปี 54 คาดโตอีก 11.7% คิดเป็นมูลค่า 6.7 แสนล้านบาท เนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว และความต้องการใช้เทคโนโลยีไร้สายมากขึ้น
       
       นายมนู อรดีดลเชษฐ์ ที่ปรึกษาโครงการ และคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (กวทช.) กล่าวถึงการสำรวจภาพรวมตลาดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ในประเทศไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (ทริดี้) และสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้าว่า ตลาดรวมไอซีทีใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ประกอบด้วย ตลาดคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ ตลาดสื่อสาร ตลาดซอฟต์แวร์และบริการด้านคอมพิวเตอร์ระหว่างเดือนก.ย. 2553-ม.ค.2554 โดยในปี 2553 ตลาดไอซีทีมีมูลค่า 607,385 ล้านบาท โตขึ้น 9.2% แบ่งเป็นมูลค่าตลาดสื่อสารสูงสุด รองลงมาคือตลาดคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ คอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ และตลาดบริการคอมพิวเตอร์ ส่วนตลาดไอซีทีไทยโดยรวมในปี 2554 จะโตอีกขึ้น 11.7% หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดรวม 678,648 ล้านบาท
       
       สำหรับตลาดรวมคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ในปี 2553 เติบโตกว่าปีก่อนหน้า 13.3% โดยปี 2554 คาดว่าตลาดจะเติบโต 9.7% หรือมีมูลค่า 100,511 ล้านบาท ส่วนตลาดสื่อสารปี 2553 มีสัดส่วนในตลาดไอซีทีรวมของประเทศอยู่ที่ 63% หรือคิดเป็นมูลค่า 382,999 ล้านบาท คาดว่าในปี 2554 มูลค่าตลาดจะเพิ่มขึ้นเป็น 418,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9.2% จากปัจจัยความต้องการใช้เทคโนโลยีไร้สาย
       
       ขณะที่ตลาดคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ปี 2553 อยู่ที่ 72,400 ล้านบาท และตลาดบริการด้านคอมพิวเตอร์อยู่ที่ 60,390 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่ารวมของตลาดทั้งสองกลุ่มที่ 132,790 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าปี 2554 มูลค่าตลาดคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์จะเพิ่มขึ้นเป็น 84,233 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าตลาดบริการด้านคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นเป็น 75,560 ล้านบาทโดยมีปัจจัยจากการเป็นโครงการต่อเนื่องที่ดำเนินงานมาตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปี 2553 ถึงต้นปี 2554
       
       ส่วนมูลค่าตลาดคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ 72,400 ล้านบาท แบ่งเป็นซอฟต์แวร์กลุ่ม Enterprise Software (ซอฟต์แวร์องค์กร) มูลค่า 54,165 ล้านบาท รองลงมาคือ Embedded Software (สมองกลฝังตัว) มูลค่า 9,127 ล้านบาท และ Mobile Application (โมบายล์ แอปพลิเคชัน) มูลค่า 6,326 ล้านบาท ที่เหลือเป็นซอฟต์แวร์อื่นๆ ขณะที่สัดส่วนของมูลค่าตลาดระหว่างซอฟต์แวร์แบบ Proprietary Software (ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์) กับ Open Source Software (โอเพนซอร์ส) ยังอยู่ที่ 76.5% และ 23.5% โดย Open Source Software มีการใช้งานขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
       
       ปัจจัยที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยในปี 2553 ขยายตัวประกอบด้วย การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก การขยายตัวของการใช้ซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ การปรับตัวของผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ที่ทำธุรกิจโดยเน้นบริการมากขึ้น เช่น อัปเกรดซอฟต์แวร์เก่า หรือผลิตซอฟต์แวร์ที่มีขนาดเล็กลงและกลุ่มภาคเศรษฐกิจหลักอย่างกลุ่มการศึกษา โทรคมนาคม การเงินและธนาคารยังมีเงินลงทุนในด้านซอฟต์แวร์
       
       ส่วนปัจจัยด้านลบที่คอยฉุดให้การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์สะดุดอยู่บ่อยครั้งได้แก่ ความขัดแย้งทางการเมือง การเบิกจ่ายงบประมาณไทยเข้มแข็งทำได้ล่าช้า และการขาดแคลนบุคลากรทางเทคนิคที่มีคุณภาพ
       
       สำหรับปี 2554 ที่คาดว่าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้น 16.34% มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 84,233 ล้านบาท มีปัจจัยมาจากภาวะเศรษฐกิจของโลกและเศรษฐกิจของไทยที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้แนวโน้มการลงทุนขยายตัวอยู่ที่ 8.7% รวมทั้งการปรับตัวของผู้ประกอบการที่พัฒนาซอฟต์แวร์ให้มีขนาดเล็กลง กลุ่มภาคเศรษฐกิจหลักยังมีงบประมาณในการลงทุนด้านซอฟต์แวร์และการขยายตัวของการใช้งานซอฟต์แวร์ทั้ง Embedded Software และ Mobile Application
       
       นอกจากนี้ แนวโน้มของเทคโนโลยีใหม่ ที่กำลังเข้าสู่สังคมก็เป็นตัวกระตุ้นให้ตลาดซอฟต์แวร์มีการเติบโต เช่น การให้บริการซอฟต์แวร์ในรูปแบบ Cloud Computing ซึ่งบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ได้มีการแนะนำการใช้งานซอฟต์แวร์ในรูปแบบดังกล่าวแล้ว และมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี รวมทั้งการขยายตัวของอุปกรณ์เคลื่อนที่สำหรับสื่อสารข้อมูลแบบพกพา ทั้ง ไอแพด ไอโฟน และสมาร์ทโฟนที่มีราคาถูกลง ซึ่งส่งผลให้ Application Programs ในอุปกรณ์เหล่านี้เติบโตตามไปด้วย

ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)