บริการแชร์ไฟล์เอกสารออนไลน์ดาวรุ่ง Scribd (สคริบด์) เล็งเดินตามเส้นทางที่ไอจูนส์ (iTunes) ทำไว้กับตลาดเพลงออนไลน์ ล่าสุด Scribd เปิดร้านออนไลน์ของตัวเองที่จะเป็นโอกาสให้นักเขียนและสำนักพิมพ์มีช่องทางในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น สานฝันในการเป็นแหล่งสินค้าดีราคาประหยัดแก่หนอนหนังสือทั่วโลก
ช่องทางทำธุรกิจของ Scribd ถูกเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม 2552 ถือเป็นครั้งแรกที่ Scribd เตรียมคิดค่าบริการในการโพสต์ไฟล์เอกสารลงในเว็บไซต์ตลอด 2 ปีที่ให้บริการฟรีมาตลอด โดย Scribd ระบุว่าเบ็ดเสร็จแล้วไฟล์เอกสารที่ถูกอัปโหลดในเว็บไซต์มีจำนวนถึง 3.5 หมื่นล้านชิ้น ประกอบด้วยไฟล์หนังสือ บทความ ภาพเคลื่อนไหวสำหรับนำเสนอผลงาน PowerPoint บทย่อเนื้อหาหนังสือแบบถูกกฏหมาย และเอกสารอื่นๆ
รายงานระบุว่า Scribd เริ่มโครงการให้สำนักพิมพ์อัปโหลดเนื้อหาหนังสือพร้อมลิงก์สำหรับซื้อขายเนื้อหาตั้งแต่เดือนมีนาคม โดยลิงก์สำหรับเข้าสู่เอกสารต่างๆยังไม่มีการเก็บค่าบริการใดๆในขณะนี้
ได้เงินแถมสางปมละเมิด
Scribd.com คือเว็บไซต์ที่ทุกคนสามารถนำไฟล์เอกสารสารพัดนามสกุลมาฝากไว้ เพื่อให้ Scribd แปลงเอกสารให้เป็นรูปแบบเฉพาะที่สามารถอ่านออนไลน์ได้ทันทีโดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องดาวน์โหลดหรือลงโปรแกรมใดเพิ่มเติม (iPaper) ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดเนื้อหาใน iPaper มาเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ได้ หรือจะนำ iPaper ไปเผยแพร่ด้วยการติดที่เว็บไซต์ และบล็อกก็ได้ ความสามารถเหล่านี้ทำให้ Scribd ถูกขนานนามว่าเป็นห้องสมุดออนไลน์ขนาดยักษ์ เพราะทุกคนสามารถนำบางตอนของหนังสือ บทความดีๆ ในนิตยสาร เมนูเด็ดแบบเชลล์ชวนชิมที่คิดค้นขึ้นเอง หรือแม้กระทั่งวิทยานิพนธ์ระดับเกียรตินิยม มาแบ่งให้คนอื่นได้อ่านกันแบบเสรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
สำหรับโมเดลใหม่ นอกจากพื้นที่ให้บริการฟรี Scribd จะเปิดพื้นที่เฉพาะให้มีการซื้อขายหนังสือผ่านลิงค์บนเว็บไซต์โดยขอหักส่วนแบ่งจากการขายในสัดส่วน 20% ซึ่ง 80% ที่เหลือจะเป็นของผู้สร้างผลงานหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ จุดนี้นักวิเคราะห์ชี้ว่านโยบายของ Scribd มีส่วนคล้ายกับเว็บไซต์ชุมชนสำนักพิมพ์เช่น Lulu.com ก็จริง แต่เชื่อว่า Scribd จะเขย่าตลาดได้มากกว่า
เหตุผลหลักคือระบบแชร์ไฟล์เอกสารของ Scribd นั้นมีพัฒนาการสูงที่สุดจนทำให้ไฟล์เอกสารสามารถถูกเปิดอ่านบนอุปกรณ์ชนิดใดก็ได้ ทั้งคอมพิวเตอร์พีซี เครื่องอ่านอีบุ๊ก หรือแม้แต่โทรศัพท์มือถือ เชื่อว่าความสำเร็จของ Scribd จะผลักดันให้นักเขียนหนังสือและสำนักพิมพ์ร่วมโครงการกับ Scribd มากกว่าเว็บอื่น
Trip Adler ซีอีโอของ Scribd เชื่อว่าปัญหาการเผยแพร่บทความแบบผิดกฤหมายใน Scribd ซึ่งขยายตัวขึ้นตามการเติบโตของ Scribd จะเบาบางลงด้วยเมื่อโมเดลทำเงินบน Scribd เกิดขึ้น โดยระบบใหม่ของ Scribd จะมาพร้อมเครื่องมือจัดการลิขสิทธิ์บทความเพื่อให้นักเขียนหนังสือสามารถกำหนดจำนวนอุปกรณ์สำหรับเก็บไฟล์ที่ผู้ใช้ซื้อไปจาก Scribd ได้ ลักษณะเดียวกับการซื้อเพลงในร้านออนไลน์
รายงานระบุว่า ร้านขายไฟล์หนังสือของ Scribd ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับสำนักพิมพ์ O'Reilly Media แล้ว โดย O'Reilly จะโพสต์ต้นฉบับเนื้อหาหนังสือตัวเองไว้ใน Scribd และจะทำการตลาดผ่านเว็บไซต์ข้อความบล็อกสั้น Twitter เพื่อขายหนังสือก่อนที่รูปเล่มหนังสือจะวางแผง
สิ่งที่เกิดขึ้นคือร้านขายหนังสือ Scribd จะทำให้ผู้เขียนหนังสือสามารถบอกลาวงจรอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ได้เพื่อให้หนังสือสามารถวางจำหน่ายได้อย่างรวดเร็ว และยังสามารถสร้างเงินกำไรได้สูงกว่าการจำหน่ายหนังสือแบบเดิมๆ แน่นอนว่าหนอนหนังสือก็จะได้รับประโยชน์เพราะราคาจำหน่ายหนังสือที่ถูกลง เมื่อเทียบจากการซื้อในร้านหนังสือหรือแม้แต่การซื้อกับ Amazon.com
Adler ระบุว่า ขณะนี้มีผู้แต่งหนังสือ 3 รายที่ตกลงใจขายหนังสือของตัวเองในราคา 2 เหรียญสหรัฐต่อ 1 ไฟล์สำเนาบน Scribd แล้ว คาดว่าราคาจำหน่ายหนังสือในร้าน Scribd จะเริ่มต้นที่ 1 เหรียญเป็นต้นไป ขณะที่รายงานวิจัย เช่น รายงานวิจัยเกี่ยวกับเศรษฐกิจในประเทศจีน คาดว่าจะมีราคาเริ่มต้นที่ 5,000 เหรียญสหรัฐ
ซีอีโอ Scribd ย้ำว่าผู้เขียนหรือสำนักพิมพ์สามารถจำหน่ายหนังสือเฉพาะบทได้ เช่นเดียวกับที่ไอจูนส์เปิดโอกาสให้ค่ายเพลงจำหน่ายแบบแยกเพลงในอัลบัม จุดนี้หนังสือท่องเที่ยวอย่าง Lonely Planet เตรียมการใช้ Scribd เพื่อจำหน่ายเนื้อหาแบบแยกคอลัมน์ เชื่อว่าจะตอบโจทย์คนที่ไม่ต้องการอ่านบทความท่องเที่ยวในพื้นที่ที่ตนเองอาศัยอยู่หรือมีความรู้ท้องถิ่นดีอยู่แล้ว
ทั้งหมดนี้ Adler ไม่ได้ระบุว่า Scribd หวังทำรายได้จากโมเดลใหม่นี้กี่ล้านเหรียญต่อปี ระบุเพียงว่าเป้าหมายหลักของ Scribd คือการปลดปล่อยข้อจำกัดของโลกแห่งการเขียนหนังสือเท่านั้น
ที่มา: manager.co.th