จากซ้าย นายนรันต์ จรรยาวิลาส นางสาวนาถธิดา เกตุราทร และนายณฐพล เหลืองสุวรรณ 3 นิสิตจุฬาฯผู้คว้ารางวัลซิลเวอร์อวอร์ดจากเวทีสามารถอินโนเวชันอวอร์ดส์ 2010
ปุ่ม Tracking, Alert และ Assistant บนหน้าโปรแกรม EMS ที่ผู้ใช้สามารถส่งเส้นทางเข้าระบบเฝ้าระวัง-ส่งสัญญาณแจ้งเหตุกรณีฉุกเฉิน-และขอความช่วยเหลือผ่านระบบคอลเซ็นเตอร์
หน้าต่างยืนยันให้ติดตามเส้นทาง
ผู้ใช้สามารถถ่ายรูปเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการขอความช่วยเหลือ
สามารถบันทึกเสียงได้
หน้าต่างข้อมูลที่คอลเซ็นเตอร์สามารถเข้าถึงเพื่อส่งความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
3 นิสิตจุฬาฯผู้คว้ารางวัลซิลเวอร์อวอร์ดจากเวทีสามารถอินโนเวชันอวอร์ดส์ 2010 สุดปลื้ม หลังรู้ว่า"สามารถ"มีแผนนำระบบแจ้งเหตุ EMS ที่กลุ่มใช้เวลาเขียนโปรแกรมเพียง 2 สัปดาห์ไปพัฒนาเชิงพาณิชย์อย่างจริงจัง เผยไม่คิดจะขายแอปฯแต่จะขายบริการทั้งด้านระบบแผนที่และการเฝ้าระวังจากศูนย์คอลเซ็นเตอร์ เข้าทางสามารถเพราะวิกฤตโหลดแอปฯเถื่อนไม่มีผล แถมยังบูรณาการเข้ากับหน่วยงานที่สามารถมีอยู่แล้วโดยไม่ต้องลงทุนสูง สามารถเผยเบื้องต้นกำลังรอการพัฒนาเฟส 2 ก่อนจะตัดสินใจเจรจาโอเปอเรเตอร์ไทยในอนาคต
นางสาวนาถธิดา เกตุราทร (คนกลาง) นิสิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้รับหน้าที่ทดสอบโปรแกรมและนำเสนอผลงานระบบ EMS (Emergency Mobile Service) ซึ่งได้รับรางวัลเหรียญเงินจากโครงการประกวดออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์ Samart Innovation Awards 2010 (SIA) ประเภท Business Software ให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดการพัฒนาระบบ EMS ว่าต้องการสร้างทางเลือกให้ผู้ใช้แอปฯบนสมาร์ทโฟนที่มีแต่เกมเป็นส่วนใหญ่ มั่นใจว่าความแปลกใหม่นี้จะเปิดตลาดที่น่าสนใจในประเทศไทยได้
'หน้าโปรแกรมของระบบ EMS ประกอบด้วยปุ่ม 3 ปุ่ม ได้แก่ Tracking, Alert, Assistant ผู้ใช้สามารถส่งเส้นทางเข้าระบบเฝ้าระวัง-ส่งสัญญาณแจ้งเหตุกรณีฉุกเฉิน-และขอความช่วยเหลือผ่านระบบคอลเซ็นเตอร์ได้ เรามองว่าแอปฯตอนนี้มีแต่เกม แต่อันนี้แปลกใหม่ น่าจะเปิดตลาดใหม่ได้ อนาคตไม่รู้ว่าจะได้รับการตอบรับดีไหม แต่ก็จะลองทำ'
ระบบ EMS นั้นเป็นระบบแจ้งเหตุที่ลดอันตรายและการสูญเสีย แนวคิดการพัฒนา EMS ไม่ได้เกิดจากการมองเห็นช่องโหว่ของการรักษาความปลอดภัยในประเทศไทย แต่เป็นความพยายามในการสร้างประโยชน์ด้านความปลอดภัยจากสมาร์ทโฟน ระบบจะใช้เทคโนโลยีจีพีเอสเพื่อการระบุที่อยู่แบบเรียลไทม์ การช่วยเหลือฉุกเฉินสามารถทำบนระบบรับส่งข้อความ SMS และอินเทอร์เน็ตไร้สายในโทรศัพท์มือถือโดยนอกจากการขอความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีผ่านระบบที่บอกจุดเกิดเหตุได้ชัดเจน ผู้ใช้ระบบ EMS ยังสามารถถ่ายรูป วิดีโอ และบันทึกเสียงเพื่อเป็นข้อมูลในการแจ้งเหตุได้อีกด้วย
ที่น่าสนใจคือ ระบบ EMS ไม่ได้ทำงานบนแผนที่ฟรีของกูเกิล โดยนายณฐพล เหลืองสุวรรณ (คนขวา) และนายนรันต์ จรรยาวิลาส (คนซ้าย) นิสิตภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2 มือนักออกแบบและเขียนโปรแกรม EMS ให้ข้อมูลว่าเพราะกูเกิลกำหนดห้ามนำไปใช้เพื่อการพาณิชย์ โดยเลือกพัฒนาบนแพลตฟอร์มบีบีและไอโฟนเนื่องจากทั้งคู่ใช้งานอยู่
'อยากให้มีคนเห็นไอเดีย ว่าโทรศัพท์มือถือไม่ได้มีไว้โชว์หรือเล่นเกม แต่เอาไว้ดูแลความปลอดภัยได้ ใครชอบไอเดียนี้สามารถเอาไปใช้ได้เลย เราไม่ได้อยากเห็นว่าแอปฯนี้ขายได้เยอะ แต่อยากเห็นว่าถูกใช้เยอะมากกว่า แต่ถ้าแอปฯนี้ขายดีก็ถือว่าเป็นโบนัสไป เราพัฒนาระบบบนแผนที่ของบริษัท Ecart Studio ซึ่งให้แผนที่เรามาใช้ ที่ไม่ใช้กูเกิลเอิร์ธเพราะกูเกิลกำหนดห้ามใช้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้การต่อยอดด้านธุรกิจไม่สามารถทำได้ ระหว่างเขียนโปรแกรมเราต้องคุยปรับทุกข์กันทุกวัน สิ่งที่เรียนรู้จากการแข่งขันครั้งนี้คือการบริหารเวลาให้สามารถรับผิดชอบงานประกวด เรียน และสอบได้, ความจริงที่ว่าโปรแกรมที่ใช้ได้จริงไม่จำเป็นต้องดูหรูหรา แต่ควรต้องดูว่าประโยชน์แท้จริงคืออะไร และเปิดรับแนวคิดของกรรมการที่ค้านการคิดค่าบริการเป็นรายเดือน ซึ่งเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ'
นรันต์ให้ความเห็นว่าความยากของการเขียนโปรแกรมบนไอโฟนคือภาษาที่ใช้เขียน (Objective C) เป็นภาษาเขียนโปรแกรมบนเครื่องแมคอินทอชซึ่งต้องเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด แต่โชคดีที่แอปเปิลมีเอกสารอธิบายโดยละเอียด และสามารถค้นหาในกูเกิลได้ง่ายเมื่อเจอปัญหา ความลำบากจึงอยู่ที่ณฐพลซึ่งพัฒนาบนแพลตฟอร์มบีบี ซึ่งมีทรัพยากรให้ศึกษาได้น้อยกว่า
"หนังสือในไทยไม่มีเลย ต้องศึกษาจากในอินเทอร์เน็ต ตอนแรกเห็นว่าเป็นภาษาจาวาก็คิดว่าง่าย แต่จาวาของบีบีไม่เหมือนกัน ตอนนี้ระบบยังมีปัญหาเรื่องจีพีเอสซึ่งต้องพัฒนาต่อไปอีก จีพีเอสที่ส่งกับเสาสัญญาณและดาวเทียมตลอดเวลาจะทำให้เครื่องแบตเตอรี่หมดเร็ว เรากำลังปรับโครงสร้างโปรแกรมให้ยืดอายุแบตเตอรี่ได้อีก ขณะเดียวกันก็ยังมีข้อจำกัดที่ต้องทำงานบนเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพราะระบบนี้จะทำงานไม่ได้ถ้ามีจีพีเอสแต่อยู่ในป่าซึ่งไร้สัญญาณ"
ทั้งนรันต์และณฐพลเริ่มสนใจคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ป.4 โดยใช้ห้องสมุดในโรงเรียนเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาเรื่องการเขียนโปรแกรมช่วงมัธยมต้น ทั้งคู่เป็นนักล่ารางวัลบนเหตุผลว่า "มีเวลาเพียง 4 ปี เพราะถ้าเรียนจบแล้วจะไม่สามารถประกวดได้อีก" โดยนรันต์ส่งประกวดผลงานมาแล้วไม่ต่ำว่า 5 งาน ขณะที่ณฐพลทำสถิติที่ 10 งาน
"รู้สึกดีที่ได้รู้ว่าบริษัทสามารถจะนำไปต่อยอดและสนับสนุนเพิ่ม เพราะปกตินักศึกษาสร้างแอปฯอะไรก็มักถูกโยนทิ้งไป รู้สึกดีว่าครั้งนี้เราทำแล้วไม่ได้จบหรือถูกเอาเก็บเข้ากล่อง"
เบื้องต้น ประชาสัมพันธ์สามารถระบุว่าบริษัทมีแผนจะเจรจากับโอเปอเรเตอร์ในประเทศไทยถึงรูปแบบธุรกิจที่อาจเกิดขึ้นจากระบบ EMS ในอนาคต โดยจะใช้ความสามารถจากระบบคอลเซ็นเตอร์ที่สามารถเปิดให้บริการอยู่แล้ว ผนวกเข้ากับความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในระบบ EMS ที่บริษัทสามารถถือครองไว้ครึ่งหนึ่ง โดยขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่าคนไทยจะได้เห็นและรับบริการความปลอดภัยจากบริการ EMS ได้เมื่อไร
สำหรับโครงการประกวดในปีนี้ สามารถระบุว่าโครงการประกวด SIA 2011 (ครั้งที่ 9) จะเป็นการประกวดในหัวข้อ Travel&Leisure เพื่อค้นหาแอปพลิเคชันที่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจท่องเที่ยว ผู้สนใจสามารถส่งใบสมัครได้ทางเว็บไซต์บริษัทสามารถ ภายในวันที่ 30 มิถุนายนนี้
"ปีหน้าเป็นธีมการท่องเที่ยวซึ่งจะมีประโยชน์มาก ผมคิดว่าต้องใช้ความรู้ของการแข่งขันธีมปีนี้เข้าไปด้วย ปีนี้แข่งในธีมแอปพลิเคชัน 3G ซึ่งต้องได้เห็นรูป ได้เห็นว่าอยู่ที่ไหน ตรงนี้เทคโนโลยี 3G ให้ได้ ที่จะแนะนำผู้สมัครปีต่อไปคือต้องเอาสิ่งที่ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมต้องการออกมาให้กรรมการเห็น"
Company Related Link :
สามารถ
ที่มา: manager.co.th