อินเทล (Intel) โดนอาญาอียู สั่งปรับเงิน 1.45 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5.07 หมื่นล้านบาท) ข้อหาผูกขาดตลาดโดยผิดกฏหมาย ใช้เงินส่วนลดพิเศษล่อใจจนทำให้ไม่เกิดการแข่งขันเสรีในตลาดค้าชิปคอมพิวเตอร์ของประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป เชื่อโทษปรับนี้จะเป็นแรงกดดันให้หน่วยงานการค้ายุติธรรมในสหรัฐฯเดินตามการตัดสินครั้งนี้
การตัดสินโทษปรับของคณะกรรมาธิการยุโรปหรือ European Commission ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของศึก 2 ค่ายชิปยักษ์ใหญ่อย่างอินเทล (Intel) และเอเอ็มดี (Advanced Micro Devices) หากพิจารณาเม็ดเงินค่าปรับ 1.45 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือ 1.06 พันล้านยูโรนั้น ถือว่าสูงกว่าค่าปรับ 497 ล้านเหรียญที่อียูสั่งปรับไมโครซอฟท์ในข้อหาผูกขาดการค้าเมื่อปี 2004 มากนัก
สิ่งที่ทำให้คณะกรรมาธิการยุโรปลงโทษปรับอินเทลเป็นมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท คือการพบว่าอินเทลจ่ายเงินและมีส่วนลดราคาพิเศษจนทำให้ผู้ผลิตและผู้ค้าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เลือกใช้เฉพาะชิปจากอินเทลจริงตามที่เอเอ็มดีร้องเรียน โดยอียูพบว่าอินเทลทำผิดกฏหมายตลอดปี 2002 ถึง 2007 เบ็ดเสร็จ 5 ปี แม้เอเอ็มดีจะร้องเรียนประเด็นดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2000
อินเทลพร้อมอุทธรณ์
เอเอ็มดีนั้นร้องเรียนต่อทั้งหน่วยงานกำกับดูแลการค้ายุติธรรมในสหรัฐอเมริกาและในสหภาพยุโรป ยื่นคำร้องในช่วงปี 2000, 2003 และ 2006 ซึ่งในขณะที่คณะกรรมการเอฟทีซีของสหรัฐฯออกมาระบุว่ากำลังอยู่ระหว่างการสอบสวน คณะกรรมาธิการของอียูได้ตัดสินแล้วว่าอินเทลมีความผิดจริงในตลาดยุโรป จุดนี้อินเทลย้ำชัดเจนว่าจะยื่นอุทธรณ์เพื่อแก้ข้อกล่าวหาทั้งหมด
นีลี โครส์ หนึ่งในคณะกรรมาธิการยุโรปแถลงการณ์ว่า อินเทลดำเนินการกำจัดคู่แข่งออกจากตลาดอย่างผิดกฏหมายโดยเจตนา ทำลายการค้ายุติธรรม ส่งให้แรงจูงใจในการสร้างสรรค์นวัตกรรมในตลาดลดลง ทำให้ผู้บริโภคทั่วยุโรปเสียประโยชน์
นอกจากค่าปรับ ความผิดทั้งหมดทำให้คณะกรรมาธิการยุโรปออกคำสั่งให้อินเทลเลิกจำหน่ายสินค้าที่ดำเนินการอย่างผิดกฏหมายในยุโรปโดยทันทีแม้จะไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดว่ามีผลิตภัณฑ์รุ่นใดบ้าง
พอล โอเทลินี ซีอีโออินเทลกล่าวว่ารู้สึกงุนงงกับคำสั่งที่ได้รับจากอียู แต่จะยอมทำตามกฏแม้จะตัดสินใจอุทธรณ์เรื่องโทษปรับที่ได้รับ เนื่องจากเชื่อว่าส่วนลดที่อินเทลมีให้กับคู่ค้ารายใหญ่ของอินเทลนั้นเป็นเรื่องถูกกฏหมาย และเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การแข่งขันเท่านั้น ยังไม่มีกำหนดการอุทธรณ์ที่แน่นอนในขณะนี้
ตรงกันข้ามกับ เดิร์ก เมเยอร์ ซีอีโอเอเอ็มดีที่กล่าวชื่นชมคำตัดสินของอียูว่าจะเป็นก้าวสำคัญในการสร้างสรรค์ตลาดที่มีการแข่งขันยุติธรรมอย่างแท้จริง โดยเอเอ็มดีจะตั้งตารอในการออกจากโลกที่อินเทลเป็นคนกำหนดกฏเกณฑ์ในการแข่งขันเอง ไปเป็นโลกอีกโลกที่มีผู้บริโภคเป็นผู้กำหนด
อาจโดนสองเด้ง
นักวิเคราะห์เชื่อว่า อินเทลอาจถูกหวยสองเด้งจากการรับโทษจากอียูและเอฟทีซี เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯภายใต้การจัดการของโอบามานั้นประกาศชัดเจนว่าจะจัดระเบียบการค้ายุติธรรมให้เกิดขึ้นในสหรัฐฯอย่างเข้มข้นกว่ารัฐบาลบุช เพื่อพิทักษ์สิทธิ์ให้กับผู้บริโภคทุกคน แต่ขณะนี้ทางเอฟทีซียังไม่ออกมาให้ความเห็นใดๆเกี่ยวกับการตัดสินของอียู
อย่างไรก็ตาม สตีเฟน คินเซลลา ทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมายการค้าผูกขาดของยุโรปเชื่อว่า การตัดสินโทษครั้งนี้จะถูกประณีประนอมแน่นอนแม้คณะกรรมาธิการยุโรปจะมีภาพลักษณ์เป็นนักปราบการผูกขาดตลาดที่เข้มงวด เนื่องจากจำนวนเงินค่าปรับมหาศาลของอินเทลนั้นคำนวณจากมูลค่าตลาดของอินเทล แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าโทษปรับดังกล่าวเป็นโทษสูงสุดของความผิดในลักษณะนี้
อินเทลและเอเอ็มดีนั้นเป็นคู่แข่งกันมานานในตลาดชิปคอมพิวเตอร์ ซึ่งแบ่งออกเป็นส่วนการจำหน่ายให้ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ และส่วนจำหน่ายปลีกให้ผู้ค้านำไปขายปลีกแก่ผู้บริโภค เบอร์สองอย่างเอเอ็มดีนั้นตั้งข้อสงสัยการครองตลาดของอินเทลทั้งสองส่วน ซึ่งเอเอ็มดีร้องเรียนไปตั้งแต่ก่อนปี 2002 ที่อียูพิจารณาโทษครั้งนี้
ส่วนแรก เอเอ็มดีกล่าวหาว่าอินเทลใช้ความเป็นเบอร์หนึ่งในตลาด เสนอส่วนลดมหาศาลให้กับผู้ผลิตพีซีโดยแลกกับการสัญญาว่าจะซื้อเฉพาะชิปอินเทล ส่วนลดดังกล่าวมีมูลค่ามากจนทำให้คำสั่งการผลิตชิปบางส่วนเป็นการผลิตให้ฟรี ผู้ผลิตพีซีที่เอเอ็มดีอ้างว่าอินเทลมีการเสนอส่วนลดพิเศษให้คือเอเซอร์ เดลล์ เอชพี เลอโนโว และเอ็นอีซี
ส่วนที่สอง เอเอ็มดีเชื่อว่าอินเทลมีการจ่ายเงินให้ผู้ค้าปลีกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่สัญชาติเยอรมนี แลกกับการสั่งและจัดเก็บสินค้าของอินเทลลงในคลังสินค้าเท่านั้น และให้ผู้ค้าปลีกช่วยเหลือด้วยการประชาสัมพันธ์สินค้าของอินเทลรายเดียว
จุดนี้คินเซลลาอธิบายว่าการให้ส่วนลดนั้นเป็นเรื่องปกติในการค้า แต่จะเกิดปัญหาขึ้นแน่นอนเมื่อบริษัทที่เป็นเบอร์หนึ่งในตลาดนำกลยุทธ์นี้มาใช้ โดยหลังจากที่รายงานนี้ถูกเผยแพร่สู่ผู้บริโภค มูลค่าหุ้นของอินเทลลดลง 8 เซนต์ ปิดที่ 15.13 เหรียญ ขณะที่มูลค่าหุ้นเอเอ็มดีเพิ่มขึ้น 3 เซนต์ ปิดที่ 4.38 เหรียญ
ที่มา: manager.co.th