Author Topic: บรอดแบนด์ไทย ยังไร้การควบคุมคุณภาพบริการ  (Read 959 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Reporter

  • Moderator
  • Gold Member
  • *
  • Posts: 1093
  • Karma: +8/-0
  • Gender: Male
    • ซ่อมคอมเชียงใหม่

ตัวแทนสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต แจง ยังไม่มีมาตรฐานบังคับใช้เกี่ยวกับความเร็วขั้นต่ำ-สูงสุดที่ใช้เชื่อมต่อได้จริง ขณะที่ สบท.พบว่ามีคนร้องเรียนกว่า 200 ราย แต่ไม่อาจพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ เพราะเครื่องมืออยู่ที่ไอเอสพี...

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (13 พ.ค.) ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอทีพีซี) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดงานเสวนาจิบน้ำชาครั้งที่ 1 ประจำปี 2552 ในหัวข้อ “รู้ทันโปรโมชั่น บรอดแบนด์” เนื่องจาก ขณะนี้ ราคาบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ที่ถูกลงทำให้ประชาชนหันมาใช้บริการมากขึ้น และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) ต่างหันมาแข่งขันทำการตลาดอย่างดุเดือด ในการออกโปรโมชั่นความเร็วที่มากกว่า 3 Mbps โดยมีข้อสงสัยว่าผู้บริโภคที่ใช้งานบรอดแบนด์ จะได้รับคุณภาพการให้บริการตามที่โฆษณาไว้หรือไม่ และหน่วยงานที่คุ้มครองผู้บริโภคในด้านการใช้บริการสื่อสารโทรคมนาคม มีการปกป้องผู้บริโภค รวมถึงดูแลแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง

นายประพนธ์ สินลิขิตกุล ตัวแทนจากสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย (TISPA) กล่าวว่า ไอเอสพีที่ได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จากข้อมูลเมื่อวันที่ 25 ม.ค.2552 พบว่ามีทั้งหมด 132 ราย โดยสัดส่วนตลาดบรอดแบนด์ยังอยู่ที่ผู้ให้บริการรายใหญ่ แบ่งเป็นบมจ.ทีโอที 37% บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น 34% และบมจ.ทริปเปิ้ลที บรอดแบนด์ 22% ที่เหลือ 7% เป็นผู้ประกอบการอีกกว่า 50 ราย จากจำนวนผู้ใช้บรอดแบนด์ 1.2 ล้านคน ในปี 2550 และเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านคนในปี 2551

ตัวแทนสมาคม TISPA กล่าวต่อว่า แนวโน้มการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะคนใช้งานน้อย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าปลายปี 2551 มีผู้ใช้บรอดแบนด์ประมาณ 2 ล้านคนเพิ่ม 67% จากปี 2550 โดยเฉพาะการเติบโตในต่างจังหวัด และแบนด์วิธไปต่างประเทศในปี 2550 เพิ่มเป็น 2 เท่า หรือ 200% จากปี 2549 ส่วนการแข่งขันให้บริการจะมีมากขึ้น การแข่งขันปัจจัยด้านราคาจะมีบทบาทมากที่สุด เทคโนโลยีในการเชื่อมต่อเร็ว มีเสถียรภาพไม่ล่ม ออกใบอนุญาตการให้บริการง่าย มีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศรายใหม่ๆ (IIG) มากขึ้น จึงเกิดการแข่งขันในระดับต้นน้ำ แต่สิ่งที่เร่งการเติบโต คือ แอพลิเคชันบนอินเทอร์เน็ต จากเดิมที่เป็นตัวอักษร แต่เมื่อส่งรูป คลิปวิดีโอจึงต้องการบรอดแบนด์ อีคอมเมิร์ซ เกมออนไลน์ อินเทอร์เน็ตทีวี จะมากระตุ้น

นายประพนธ์ กล่าวถึงการแข่งขันของผู้ให้บริการบรอดแบนด์ว่า การแข่งขันรุนแรงอาจจะทำให้ผู้ให้บริการรายย่อยหายไป อีกทั้งตลาดผู้ใช้งานยังกระจุกตัวอยู่ในเมือง การลงทุนลากสายทองแดง หรือใยแก้วนำแสงไปพื้นที่ห่างไกลไม่คุ้มทุน ทำให้การขยายตัวไม่เติบโต ส่วนผู้ให้บริการแบบมีโครงข่ายที่จะเลิกใช้สายทองแดง จะต้องลงทุนมองหาเทคโนโลยีใหม่ เช่น ไฟเบอร์ทูโฮม (FTTH) ไวแมกซ์ หรือ พาวเวอร์ไลน์บรอดแบนด์ หรือ มือถือ 3G ที่หลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตที่ยังมีความล่าช้าและทาง กทช.ไม่ชัดเจนในเรื่องนี้

“สำหรับผู้บริโภคที่ไม่สามารถใช้งานตามความเร็วที่โฆษณา สามารถเข้ามาตรวจสอบความเร็วในเว็บไซต์ของผู้ให้บริการแต่ละรายได้ เนื่องจากขณะนี้ สมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย ยังไม่มีมาตรฐานบังคับใช้เกี่ยวกับความเร็วบรอดแบนด์ขั้นต่ำ-สูงสุดที่ใช้เชื่อมต่อได้จริง เมื่อเปรียบเทียบกับความเร็วที่ผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ตโฆษณา TISPA พยายามที่จะสร้างมาตรฐานความเร็วสูงสุด-ต่ำสุด ในการให้บริการบรอดแบนด์ของผู้ให้บริการ เพราะผู้ประกอบการแต่ละรายมีมาตรฐานที่ต่างกัน ซึ่งปัจจุบันที่ยังทำไม่ได้เพราะสมาคมมีสมาชิกไม่ถึง 20 % ของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต” นายประพนธ์ กล่าว

นายประพนธ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม หากจะให้บรอดแบนด์เกิดการขยายตัวอย่างทั่วถึง รัฐบาลควรลงทุนโครงข่ายและให้เอกชนเช่าใช้เพื่อบริการประชาชน เช่นเดียวกับประเทศเกาหลีใต้และอังกฤษ ที่ประสบความสำเร็จเรื่องของการให้บริการบรอดแบนด์ เพราะรัฐบาลมีเป้าหมายและการสนับสนุนที่ชัดเจน โดยรัฐบาลเป็นผู้ลงทุนเรื่องของโครงข่าย และสนับสนุนให้เอกชนดำเนินการเรื่องของการให้บริการที่เข้าถึงประชาชน และจัดให้มีการรณรงค์อบรมการใช้อินเทอร์เน็ตที่ถูกต้อง แต่ต้องดูว่ารับบาลจะสนับสนุนหรือไม่ มีนโยบายพัฒนาไปทางไหน เพราะไอเอสพีลงทุนเองไม่ได้ เพราะต้นทุนที่เพิ่มต้องสะท้อนไปที่ราคาให้บริการแบกไว้ขาดทุน   

ด้าน นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) หน่วยงานในกำกับของ กทช. กล่าวว่า ปี 2551 ที่ผ่านมา สบท.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภครวม 314 ราย เป็นเรื่องของอินเทอร์เน็ตประมาณ 10% โดยส่วนมากร้องเรียนเกี่ยวกับความเสถียรในการใช้งาน ความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ไม่เป็นไปตามโฆษณา และการเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตไม่ได้ โดยเมื่อรับร้องเรียนแล้ว สบท.จะแจ้งให้ผู้ประกอบการที่ถูกร้องเรียนทราบ เพื่อให้แก้ไข โดยปีนี้ สบท.มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาแล้ว 200 กว่าราย

ผอ.สบท.กล่าวด้วยว่า การแก้ปัญหาข้อร้องเรียนเกี่ยวกับความเร็วของบรอดแบนด์  เป็นเรื่องยากที่จะหาข้อเท็จจริงเพื่อพิสูจน์ เนื่องจากเทคโนโลยีอยู่ในมือของผู้ประกอบการทั้งหมด โดยปัจจุบัน สบท.ทำได้เพียงรับเรื่องร้องเรียนเพื่อแจ้งต่อให้ผู้ประกอบการรับทราบและแก้ไข โดยล่าสุด สบท.ได้หารือกับ สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ในแผนการที่จะนำเซิร์ฟเวอร์ไปติดตั้งยังบริษัทของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทุกราย แล้วให้ผู้บริโภคคลิกเข้ามาเพื่อตรวจสอบความเร็วของบรอดแบนด์ที่เชื่อมต่ออยู่ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลของความเร็วบรอดแบนด์ในแต่ละพื้นที่ที่ผู้บริโภคคลิกเข้ามา แล้วทำการประเมินว่า ในแต่ละพื้นที่สามารถใช้บรอดแบนด์ได้ด้วยความเร็วต่ำสุด-สูงสุด เฉลี่ยที่เท่าใด คาดว่าจะใช้งบประมาณดำเนินงานไม่เกิน 1 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดทำเอกสารอย่างเป็นทางการเพื่อทำข้อตกลง

ที่มา: thairath.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)