สามารถอินโนเวชั่นปี 7 การันตีเข้มข้นเพิ่มประเภทการแข่งขันออกแบบ ซอฟต์แวร์บิสิเนส เน้นซอฟต์แวร์อีเลิร์นนิ่งเป็นหลักเปิดรับสมัครบุคคลทั่วไป เผยปีนี้กำหนดเงื่อนไขเข้มหวังผลักดันผลงานสู่การให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างแท้จริง ยอมรับปีที่ผ่านมาติดปัญหาผู้เข้าประกวดถอดใจไม่พัฒนาแอปพลิเคชันต่อ
นายยุคลอาจ ชาญพานิยชกิจการ Assistant Vice President-Research & Development บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่าว่าการแข่งขันในโครงการ สามารถอินโนเวชั่น อวอร์ด ปี 2009 จะมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น โดยปีนี้จะเป็นปีแรกที่เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมการแข่งขัน และเพิ่มประเภทอีเลิร์นนิ่ง และออกแบบซอฟต์แวร์ ซึ่งในการจัดการแข่งขัน เมื่อ 6 ปี ที่ผ่านมาจัดประกวดการออแบบแอปพลิเคชัน เฉพาะนักศึกษาเท่านั้น
อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวได้เปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมแข่งขันไปแล้วตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงวันที่ 16 มิถุนายนนี้ ซึ่งขณะนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมประกวดอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะมีมาสมัครเป็นจำนวนมากในช่วง 2-3 วันก่อนปิดรับสมัคร
การประกวดครั้งนี้จะแยกรางวัลสำหรับนักเรียนนักศึกษา กับบุคคลทั่วไปอย่างชัดเจน โดยผู้ที่ชนะโครงการมีสิทธิได้เข้าร่วมงานเป็นทีมพัฒนาแอปพลิเคชันบนมือถือ และบิสิเนสซอฟต์แวร์ เน้นระบบอีเลิร์นนิ่งเป็นหลัก โดยผลงานจะถูกนำไปให้บริการในเชิงพาณิชย์ต่อไป สำหรับในกลุ่มบุคคลทั่วไปเชื่อว่าบริษัทขนาดเล็กต้นทุนน้อยจะเข้าร่วมประกวดในโครงการนี้เพราะการประกวดจะช่วยให้บริษัทเหล่านี้มีช่องทางในการทำธุรกิจมากขึ้น
สำหรับการประกวดผลงานแอปพลิเคชันบนมือถือช่วง 6 ปีที่ผ่านมามีหลายแอปพลิเคชันที่สามารถนำมาพัฒนาและให้บริการต่อยอดเชิงพาณิชย์ แต่ประสบปัญหานักศึกษาผู้ออกแบบแอปพลิเคชันไม่ต้องการพัฒนาต่อ เนื่องจากต้องการกลับไปเรียนต่อ ฉะนั้นในปีนี้บริษัทจึงมีการกำหนดเงื่อนไขการสมัครที่เข้มงวดขึ้น เพื่อผลักดันให้ผลงานต่างสามารถต่อยอดให้บริการในเชิงพาณิชย์ได้จริง โดยแอปพลิเคชันที่ชนะการประกวดจะถูกนำมาใส่ลงไปในเครื่องลูกค้าไอ-โมบายเป็นรายแรกก่อนนำไปให้บริการดาวโหลดบน BUG
“ที่ผ่านมายอมรับว่าเราประสบปัญหาผู้เข้าร่วมการประกวดไม่ต้องการพัฒนาแอปพลิเคชันต่อทำให้ไม่สามารถนำมาให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ ดังนั้นในปีนี้เราจึงมีการวางเงื่อนไขที่รัดกุมมากขึ้น ส่วนผลงานที่นิยมส่งเข้าประกวดยังเป็นเกม และแอปพลิเคชันเกี่ยวกับบันเทิงเป็นหลัก สำหรับปีนี้คาดว่าจะได้เห็นแอปพลิเคชันบนไอโฟน จำนวนมากตามกระแสนิยม”
อย่างไรก็ดี จากกการจัดการประกวดสามารถอินโนเวชั่นฯ พบว่าผู้เข้าร่วมประกวดมีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันผู้ประกวดมีการนำซอฟต์แวร์ออนไลน์มาใช้ในการออกแบบแอปพลิเคชัน และปรับรูปแบบให้เข้ากับเครื่องลูกค้าที่มีความสามารถเพิ่มมากขึ้น
นายยุคลอาจ กล่าวต่อว่าสำหรับภาพรวมแอปพลิเคชันบนมือถือนั้นมองว่ายังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากเครื่องที่มีความสามารถใช้งานสูงราคาถูกลง จึงสามารถกระจายไปยังต่างจังหวัดมากยิ่งขึ้นทำให้มีปริมาณการใช้งานเติบโต 100% ในปีที่ผ่านมา
ที่มา: manager.co.th