Author Topic: บอร์ดทีโอทีอึดอัด!! ไอซีทีเลือกปฏิบัติล้วงลูกบี้ค่ายมือถือ  (Read 917 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46027
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai


      งามไส้ การเมืองยืมมือบอร์ดชำระแค้นส่วนตัวแบบไม่มียุคไหนสมัยไหนที่กรรมการบอร์ดทีโอทีจะอึดอัดลำบากใจมากเท่านี้ หลังทีโอทีเพี้ยนเตรียมส่งหนังสือแจ้งเอไอเอสให้จ่ายเงินกว่า 7.3 หมื่นล้านบาทภายในวันที่ 15 ก.พ.นี้ ผลจากการแก้สัญญาพรีเพด โรมมิ่ง และภาษีสรรพสามิต ประเภทเลือกปฏิบัติ 2 มาตรฐาน ข้ามขั้นตอน ทำทุกอย่างที่ตรงข้ามคำว่านิติรัฐ
       
       แหล่งข่าวจากบอร์ดบริษัท ทีโอที กล่าวว่า ขณะนี้กรรมการบอร์ดทีโอทีหลายคนรู้สึกอึดอัดกับพฤติกรรม รมว.ไอซีทีเป็นอย่างมาก เพราะการทำงานของบอร์ดทีโอทีในปัจจุบัน ถูกกำกับให้เป็นกลไกและเครื่องมือทางการเมืองอย่างชัดเจนกว่าบอร์ดชุดต่างๆ ในอดีตที่ผ่านมา รวมทั้งกรณีล่าสุดที่ทีโอทีเตรียมยื่นหนังสือถึงเอไอเอส 2 ฉบับเพื่อให้จ่ายเงินรวม 73,812.57 ล้านบาทเศษ พร้อมอัตราดอกเบี้ย 7.5% และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้ทีโอทีภายในวันที่ 15 ก.พ. 2554 หากเอไอเอสไม่ดำเนินการและเพิกเฉยการชำระเงินจนพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ ทีโอทีจะดำเนินการตามกฎหมายยื่นฟ้องศาลเพื่อเรียกค่าเสียหายต่อไป โดยก่อนจะส่งหนังสือจำเป็นต้องให้บอร์ดเห็นชอบก่อน
       
       โดยทีโอทีอ้างว่า การดำเนินการนี้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเกี่ยวกับสัญญาสัมปทานโทรศัพท์มือถือ คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ระหว่างทีโอทีกับเอไอเอส เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2553 ซึ่งการเรียกให้เอไอเอสชำระเงินให้ทีโอทีสอดคล้องกับศาลฎีกาฯ ที่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงเป็นข้อยุติแล้ว
       
       'บอร์ดเห็นว่ากระบวนการข้ามขั้นตอนมาก เพราะตามสัญญาหากเกิดข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญาต้องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ แต่บอร์ดกำลังจะเป็นเครื่องมือทำตามคำสั่งการเมือง เพราะการเมืองไม่ต้องการอนุญาโตฯ แต่ต้องการให้ฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายเลย ที่สำคัญคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ผูกพันระหว่างคู่คดี ไม่มีซักบรรทัดที่ระบุว่าบริษัทเอกชนทำความผิด ซึ่งบอร์ดก็ไม่สามารถมั่นใจได้ว่า ท้ายสุดแล้วกระบวนการนี้จะสามารถนำไปสู่ผลสรุปที่เอาผิดกับตัวกิจการนิติบุคคลของเอไอเอสได้จริงมากกว่าบุคคลที่ต้องรับผิดชอบกับการแก้ไขเพิ่มสัญญา ที่ทำให้ผลเสียหายเกิดขึ้น'
       
       ทั้งนี้ หนังสือ 2 ฉบับที่ทีโอทีเตรียมจะยื่นเรียกร้องให้เอไอเอสจ่ายเงินรวมกว่า 73,000 ล้านบาท ประกอบด้วย หนังสือฉบับ 1 ให้เอไอเอสจ่ายเงิน 36,995.63 ล้านบาท จากกรณีการแก้ไขสัญญาครั้งที่ 6 ที่มีการปรับลดส่วนแบ่งรายได้สำหรับบริการพรีเพดให้เหลือ 20% ตลอดอายุสัญญา จากเดิมต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ในอัตราก้าวหน้า ปีที่ 1-5 ในอัตรา 15% ปีที่ 6-10 ในอัตรา 20% ปีที่ 11-15 ในอัตรา 25% และปีที่ 16-20 ในอัตรา 30% ซึ่งทีโอทีเรียกร้องในส่วนนี้เป็นเงิน 29,533.50 ล้านบาท
       
       รวมทั้งในการแก้ไขสัญญาครั้งที่ 7 ที่ให้เอไอเอสนำค่าใช้การโรมมิ่งเครื่อข่ายที่ต้องจ่ายให้ผู้บริการโทรศัพท์มือถือรายอื่น มาหักออกจากการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ที่นำส่งทีโอทีนั้นเป็นการแก้ไขสัญญาที่ไม่ชอบ ทำให้กลุ่มชินคอร์ป ได้รับประโยชน์ แต่ทีโอทีเสียหายรวมเป็นเงิน 7,462.11 ล้านบาท
       
       นอกจากนี้ ยังให้เอไอเอสจ่ายค่าส่วนแบ่งรายได้จากบริการพรีเพดและการโรมมิ่ง ในอัตราก้าวหน้า 35% ตั้งแต่ปีที่ 20-25 หรือไปจนกว่าสัญญาจะสิ้นสุด
       
       ส่วนหนังสือฉบับที่ 2 ทีโอทีได้เรียกเงินจากเอไอเอสอีก 36,836.94 ล้านบาท จากกรณีที่มีมติ ครม.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคมและให้เอกชนคือ เอไอเอสจ่ายค่าภาษีและนำส่วนที่จ่ายไปแล้วมาหักออกจากส่วนแบ่งรายได้ที่เอไอเอสต้องนำส่งให้ทีโอที ทำให้ทีโอทีได้รับความเสียหาย
       
       'สิ่งที่ไอซีทีพยายามยืมมือบอร์ดจัดการกับเอไอเอสไม่รู้ว่าเป็นความอาฆาตส่วนตัวหรือไม่ เพราะถือเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน ทั้งนี้นายกฯเองก็เริ่มเอือมกับพฤติกรรมไอซีทีแล้วเพราะได้สั่งการให้นำการแก้ไขสัญญาทุกครั้งเข้าครม.ให้พิจารณาเพื่อทำให้เห็นว่าไม่ได้เลือกปฏิบัติ ในขณะที่ความเสียหายเรื่องภาษีสรรพสามิต ก็เป็นเรื่องกระเป๋าซ้ายกระเป๋าขวา รัฐได้เหมือนเดิมและเกิดกับทุกบริษัทโทรคมนาคม แต่ทำไมไม่ทำหนังสือเรียกจากผู้ประกอบการรายอื่นด้วย' แหล่งข่าวจากกระทรวงไอซีทีตั้งข้อสังเกต
       
       ** กรรมการไม่เคยชี้ความผิด **
       
       แหล่งข่าวกล่าวว่า ความพยายามไล่ล่าความผิดเอไอเอสเกิดขึ้น 2 ครั้ง เมื่อปี 2550 ภายหลังการยึดอำนาจการปกครองและอีกครั้งเมื่อปี 2553 ในสมัยระนองรักษ์ สุวรรณฉวี เป็นรมว.ไอซีที แต่ก็ไม่สามารถระบุชัดเจนว่าเอไอเอสทำผิดจริง
       
       ทั้งนี้ กรรมการชุดแรกถูกตั้งขึ้นเพื่อหาความผิดกรณีการทำสัญญาอนุญาตให้บริการโทรมือถือระหว่างทีโอทีกับเอไอเอสที่กฤษฎีการะบุว่าในการแก้ไขสัญญาของเอกชนที่ทำกับทีโอทีและ กสทที่ผ่านมาไม่สอดคล้องกับพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2535 สมัยนายสิทธิชัย โภไคยอุดม เป็น รมว.ไอซีทีและมี พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตรเป็นประธานบอร์ดทีโอที เมื่อวันที่ 2 พ.ย.2550 ประกอบด้วย พล.ต.ท.จงรัก จุฑานนท์ เป็นประธาน มีกรรมการ 4 คน โดยมีหน้าที่หลักคือ ตรวจสอบข้อเท็จจริงการทำสัญญาที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอน และหาข้อเท็จจริงว่าใครต้องรับผิดชอบต่อผลเสียหาย และเชิญคนที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลและขอเอกสารจากหน่วยงานต่างๆมาดำเนินการด้วย
       
       ภายหลังการพิจารณา กรรมการชุดนี้สรุปยืนยันว่า 'ไม่พบมีการกระทำผิด และหรือปฏิบัติที่มีเจตนาเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ในการทำสัญญาต่อท้ายสัญญาหลัก และไม่เกิดความเสียหายต่อบริษัท ทีโอที แต่อย่างใด'
       
       ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลและเปลี่ยนบอร์ดทีโอทีชุดใหม่ ในการประชุมครั้งที่ 11/2551 เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2551 ที่มีนายธีรวุฒิ บุณยโสภณเป็นประธาน จึงเห็นสมควรให้ยุติเรื่อง
       
       มาในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ในปี 2553 หลังจากมีคำพิพากษาคดียึดทรัพย์ ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รมว.ไอซีที พรรคเพื่อแผ่นดินได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด โดยมี พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย เป็นประธาน เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2553 เพื่อพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้อง ใน 3 เรื่องคือ 1.กรณีการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ของบริการพรีเพด และ 2.กรณีครม.มีมติเห็นชอบให้คู่สัญญาเอกชน สามารถนำภาษีสรรพสามิตที่เสียให้แก่กรมสรรพสามิต มาหักออกจากค่าสัมปทาน และ 3.กรณีแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ใช้โรมมิ่งและให้หักค่าใช้จ่ายจากรายรับและการปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วม
       
       กรรมการชุดนี้ได้สรุปรายงานเมื่อ 12 พ.ค.2553 ที่ผ่านมาโดยประเด็นที่รัฐให้ความสำคัญที่สุด คือการแก้ไขสัญญาบริการพรีเพดนั้น กรรมการสรุปว่า
       
       'เป็นเรื่องที่คู่สัญญามีวัตถุประสงค์ต้องการสร้างสินค้าตัวใหม่ ในการให้บริการเพื่อเข้าถึงประชาชนที่มีรายได้น้อย โดยคาดหมายว่าสินค้านี้จะมีคนใช้บริการจำนวนมาก แม้อัตราส่วนแบ่งรายได้เข้ารัฐจะลดลง แต่ผลรวมของรายรับของรัฐน่าจะมากขึ้น และจากผลประกอบการที่ทีโอที นำส่งให้มาที่คณะกรรมการ พบว่าตั้งแต่ดำเนินกิจการมารัฐได้รับส่วนแบ่งเฉพาะพรีเพดมากถึง 430,015.93 ล้านบาท ในขณะที่ระบบโพสต์เพดมีรายได้ที่ 250,956.78 ล้านบาท
       
       ดังนั้น คณะกรรมการจึงมีเห็นว่า ความเสียหายที่รัฐได้รับจากการลดค่าส่วนแบ่งสัมปทาน ยังมิอาจคำนวณได้เป็นตัวเลขที่แท้จริง เพราะไม่สามารถยืนยันว่าหากคิดอัตราค่าส่วนแบ่งตามสัญญาสัมปทานเดิมแล้ว รายรับก่อนนำมาคิดคำนวณค่าส่วนแบ่งตามสัญญาสัมปทาน จะมีจำนวนเช่นเดียวกับที่ปรากฎตามข้อเท็จจริงข้างต้นหรือไม่'
       
       คณะกก.เห็นควรให้ไอซีทีและหน่วยงานและองค์กรรัฐที่อยู่ในการควบคุมกำกับที่เกี่ยวข้องกับสัญญาสัมปทาน นำประเด็นที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทาน นำเข้าสู่คณะกรรมการประสานงาน(ตามมาตรา 22 ของพ.ร.บ.ร่วมการงานรัฐและเอกชน2535) เพื่อให้มีความเห็นเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
       
       อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกรณีการแก้ไขสัญญาเรื่องที่เหลือคือ เรื่องกรณีการนำภาษีสรรพสามิตมาหักจากค่าสัมปทานตามคำสั่งคณะรัฐมนตรีในอดีต และ กรณีแก้ไขสัญญาครั้งที่7ของเอไอเอสที่อนุญาตให้หักค่าโรมมิ่งจากรายรับก่อนนำส่งส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ และการปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วมที่เกิดขึ้นระหว่างเอไอเอสกับดีพีซีนั้น
       
       คณะกรรมการระบุว่า กรณีภาษีสรรพสามิต หักออกจากค่าสัมปทานย่อมทำให้ทีโอทีได้รับค่าสัมปทานลดลง ส่วนกรณีการแก้ไขสัญญาครั้งที่ 7 ของเอไอสนั้นทำให้ผลต่างจากสัญญาหลักแต่เดิมลดลงถึงเดือนมีนาคม 2553 ราว 7,296 ล้านบาท โดยกรรมการเห็นว่าควรให้ไอซีทีและหน่วยงานและองค์กรรัฐที่อยู่ในการควบคุมกำกับที่เกี่ยวข้องกับสัญญาสัมปทาน นำประเด็นที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทาน นำเข้าสู่คณะกรรมการประสานงานตามมาตรา 22 เช่นกัน
       
       ด้านพ.อ.นที ศุกลรัตน์ รักษาการกรรมการ กสทช. อดีตกรรมการบอร์ดทีโอทีและอดีตรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอทีในยุค พล.อ.สพรั่ง เป็นประธานบอร์ดกล่าวถึงเรื่องนี้ว่าข้อพิจารณาของคณะกรรมการชุดต่างๆในอดีต ไม่ได้สรุปว่าเอไอเอสในฐานะนิติบุคคลมีความผิดจากการดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาในอดีตโดยเฉพาะในคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ตั้งขึ้นเมื่อ 2 พ.ย. 2550 ที่มีหน้าที่หนึ่งที่สำคัญคือหาข้อเท็จจริงให้ได้ความกระจ่างว่าบุคคลใดบ้างที่ต้องรับผิดชอบต่อผลเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งในมุมนี้หากจะพิจารณาความผิดน่าจะมองไปที่ผู้ที่ทำให้เกิดการแก้ไขสัญญาขึ้นมา และต้องพิจารณาด้วยว่าในฐานะนิติบุคคลสามารถทำให้เกิดการแก้ไขสัมปทานได้เองหรือไม่
       
       'หนึ่งนิ้วที่ชี้ไประบอบทักษิณว่าทุจริตคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายทำให้เอไอเอสได้ประโยชน์ แต่สี่นิ้วที่ชี้กลับมายัง รมว.ไอซีทีประชาธิปัตย์ กลับเลวร้ายยิ่งกว่าเพราะเลือกเอื้อประโยชน์เอกชนบางราย เลือกปฏิบัติ 2 มาตรฐาน และกำลังจะทำลายอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ทำลายความน่าเชื่อถือของนักลงทุนต่างชาติลงไปในพริบตา' แหล่งข่าวกล่าว
       
       Company Related Link :
       TOT

ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)