กระทรวงไอซีทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการ หวังให้เกิดการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม ในการผลักดันยุธศาสตร์บรอดแบนด์แห่งชาติ
นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที กล่าวว่า กระทรวงไอซีทีได้มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ เพื่อให้เกิดการทำงานที่เป็นรูปธรรม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม และผลักดันแผนยุทธศาสตร์บรอดแบนด์แห่งชาติให้เกิดขึ้น หลังจากนโยบายดังกล่าวผ่านคณะรัฐมนตรีมาเมื่อวันที่ 9 พ.ย.2553
นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติเชื่อว่าจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยการริเริ่มจากกระทรวงไอซีที และมีอีก 4 กระทรวง นำร่องคือ กระทรวงการคลังกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ มีนายแอนดริว ทอมสัน อดีตรัฐมนตรีประเทศแคนาดา มาให้ความรู้เรื่องการศึกษา สาธารณสุข และการจัดการภาครัฐในยุคดิจิตอล
นางจีราวรรณกล่าวว่า หากเปรียบเทียบกับประเทศแคนาดา ไทยน่าจะดำเนินการบรอดแบนด์ได้เร็วกว่า เนื่องจากประชากรแคนาดามีจำนวนน้อยกว่าไทย ทำให้การลงทุนสูงกว่าไทย นอกจากนี้ ระบบการปกครองที่ต้องอาศัยงบประมาณจากภาครัฐด้วย ขณะเดียวกันปัญหาสัมปทานในประเทศไทย ไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงาน และต้องให้ส่วนที่รับผิดชอบการแก้สัมปทานดำเนินการต่อไป พร้อมกับส่วนที่ดำเนินการบรอดแบนด์ เพราะถ้าแก้ไขเสร็จก็จะต่อยอดกับโครงการบรอดแบนด์ได้
พร้อมกันนี้ ยังจะเป็นการบูรณาการให้ใช้งานโครงข่ายร่วมกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จากเดิมที่ทั้งภาครัฐ และเอกชนเคยแยกกันดำเนินการ โดยแผนยุทธศาสตร์ที่จะทำให้ประสบความสำเร็จมี 3 เรื่อง คือ 1.ข้อตกลงสำหรับแผนโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน เพื่อเป็นฐานของบรอดแบนด์ซึ่งแต่ละกระทรวงสามารถนำไปใช้เพื่อให้บรรลุนโยบาย 2.โครงการประเภทควิกวิน (quick-win) ของแต่ละกระทรวง รวมถึงงบประมาณ และเวลาที่ชัดเจน โดยโครงการเหล่านี้จะช่วยชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมของบรอดแบนด์แห่งชาติ และ 3.การจัดตั้งทีมงานระหว่างกระทรวงเพื่อศึกษาวิธีการที่จะใช้บรอดแบนด์เปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานของบรัฐบาลในการให้บริการ และติดต่อกับประชาชน เพื่อความสงบสุขและความเจริญของประเทศในอนาคต
ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องตามแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ฉบับที่ 2 (ปี 2552-2556) กระทรวงไอซีทีได้เร่งดำเนินการให้เข้าถึงแหล่งชุมชนในต่างจังหวัด โดยเฉพาะสถานศึกษา สถานีอนามัย และภาคการเกษตร โดยตั้งเป้าไว้ว่า ปี2556 หรือ อีก 2 ข้างหน้า จะเข้าถึงระดับอำเภอ และปี 2558 หรือ อีก 4 ปีข้างหน้า จะเข้าถึงระดับตำบล
นอกจากนี้ ยังวางแผนกระจายลงสู่สถานีอนามัย จำนวน 1.5 หมื่นแห่ง ใช้งบประมาณ 8 พันล้านบาทด้วย
ปลัดกระทรวงไอซีทีกล่าวว่า เมื่อปี 2553 ที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์ได้ศึกษางานวิจัยในประเทศกำลังพัฒนาพบว่า หากบรอดแบนด์เพิ่มขึ้น 10% จะมีผลทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ของกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้นเกือบ 1% และผลผลิตเพิ่มขึ้น 0.8% หมายความว่า หากมีจำนวนสมาชิกบรอดแบนด์รายใหม่เกิดขึ้นในประเทศไทยมากกว่า 1 แสนคน จะทำให้จีดีพี ของประเทศเพิ่มขึ้น 1% หรือคิดเป็นมูลค่า 8 หมื่นล้านบาท ขณะที่ ปัจจุบันประเทศไทยเข้าถึงบรอดแบนด์ยังไม่ถึง 5%
ด้านนายแอนดรู ทอมป์สัน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและกระทรวงเทคโนโลยี รัฐซัสแอคตเอชวัน ประเทศแคนาดา กล่าวว่า การขยายบรอดแบนด์ ในรัฐซัสแอคตเอชวัน ตั้งแต่ พ.ศ. 2541 - 2547 สามารถทำได้ครอบคลุม 90 % จากจำนวนประชากรในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมามีการลงทุนค่อนข้างสูงสำหรับการขยายบริการดังกล่าว ใช้งบประมาณ 217 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากรัฐซัสแอคตเอชวันมีปัญหาพื้นที่ใหญ่ ประชากรกระจายนอกเมืองถึง 60% มีอัตราความหนาแน่เพียง 1.6 คนต่อตารางกิโลเมตร โดยล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมารัฐบาลและเอกชนในรัฐนี้ได้ประกาศลงทุนเพิ่มอีก 126 ล้านเหรียญสหรัฐ
แอนดรูมองว่าการขยายบรอดแบนด์เอกชนมีส่วนสำคัญในการเข้ามาช่วยลงทุนโครงข่าย ซึ่งจะทำให้ภาครัฐใช้งบประมาณลงทุนเรื่องดังกล่าวน้อยลง ซึ่งภาครัฐเองต้องกระตุ้นให้ประชากรเกิดการใช้งานให้มากขึ้นเพื่อทำให้เอกชนเห็นช่องทางในการเข้ามาทำตลาดและเกิดการลงทุนของภาคเอกชนต่อไป
สำหรับรัฐซัสแอคตเอชวัน ถ้าเมืองใดมีประชากรมากกว่า 800 คน เอกชนจะเข้าไปช่วยลงทุน โดนการลงทุนในช่วง 7 ปี ของรัฐในระยะแรกใช้งบลงทุนสร้างสถานีฐานสำหรับบรอดแบนด์ที่ใช้สาย 71 ล้านเหรียญสหรัฐ ครอบคลุม 75 % ของจำนวนประชากร ต่อมาลงทุน อินเทอร์เน็ตไร้สาย 55 ล้านเหรียญสหรัฐ เข้าถึงชุมชนได้ 86 % จากจำนวนประชากร และได้ลงทุน 91 ล้านเหรียญสหรัฐเปิดให้บริการไว-ไฟ ครอบคลุม 90 % จำนวนประชากร
Company Related Link :
MICT
ที่มา: manager.co.th