อินเทล (Intel) ยอมควักกระเป๋าจ่ายเงินคู่รักคู่แค้นอย่างเอ็นวิเดีย (Nvidia) มูลค่า 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 45,000 ล้านบาทเพื่อเป็นค่าลิขสิทธิ์ในการผลิตชิปพ่วงหน่วยประมวลผลกราฟิกตลอดช่วง 6 ปีนับจากนี้ โดยจะมีผลกับสายการผลิตชิปอินเทลตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2011 ปิดฉากการฟ้องร้องเรื่องลิขสิทธิ์ผลิตชิประหว่างกันทุกคดี
รายงานระบุว่า ผลจากข้อตกลงระหว่างอินเทลและเอ็นวิเดียที่เกิดขึ้นจะทำให้อินเทลสามารถดึงเทคโนโลยีการผลิตหน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU : graphics processing unit) และชิปสำหรับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ซึ่งเอ็นวิเดียถือสิทธิบัตรอยู่มาใช้ได้ทั้งหมด แต่เอ็นวิเดียจะมีสิทธิ์เข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตชิปหน่วยประมวลผลกลาง (CPU : central processing unit) ของอินเทลได้บางจุดเท่านั้น โดยจะยกเว้นในส่วนของสถาปัตยกรรม x86 และเทคโนโลยีแฟลชเมมโมรีของอินเทล
อินเทลและเอ็นวิเดียนั้นมีคดีความฟ้องร้องกันเรื่องสิทธิบัตรผลิตชิปตั้งแต่ปี 2009 โดยเฉพาะช่วงหลังซึ่งอินเทลพยายามผนวก GPU ลงไปบนชิป CPU เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำงานของชิปคอมพิวเตอร์ ฝ่ายเอ็นวิเดียนั้นเป็นบริษัทผู้ผลิต GPU รายใหญ่ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากความเคลื่อนไหวของอินเทล ยิ่งเมื่ออินเทลพัฒนาปรับปรุงเรื่อยมากระทั่งล่าสุดคือชิปรุ่น Sandy Bridge ที่ได้รับการการันตีว่าคุณภาพด้านกราฟิกไม่เป็นรองใคร สถานการณ์ระหว่างอินเทลและเอ็นวิเดียจึงอยู่ในขั้นวิกฤติมาระยะหนึ่ง
สัญญาการยอมความที่เกิดขึ้นจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2016 เท่ากับระหว่างนี้ การพ่วง GPU กับชิป CPU ของอินเทลในอนาคตจะทำได้อย่างสะดวกโยธินยิ่งขึ้น ซึ่งมีการคาดหวังว่าการแสดงผลกราฟิกของชิปอินเทลในยุคหน้าจะได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด
เอเอ็มดี (AMD) หนีไม่พ้นการถูกเพ่งเล็งเพราะความเคลื่อนไหวนี้ เนื่องจากเอเอ็มดีเองก็มีนโยบายเพิ่มความสามารถในการประมวลผลกราฟิกเช่นกัน โดยล่าสุด เอเอ็มดีกำลังอยู่ในช่วงผลัดใบผู้บริหาร เพราะเดิร์ก เมเยอร์ (Dirk Meyer) ซีอีโอคนปัจจุบันนั้นประกาศลาออกเพื่อหลีกทางให้ผู้บริหารคนใหม่ได้แสดงฝีมือ
เอเอ็มดีเองก็เคยได้รับเงินค่ายอมความจากอินเทลเรื่องค่าสิทธิบัตรเทคโนโลยี โดยปี 2009 อินเทลได้ประกาศยอมจ่ายเงิน 1,250 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งทำให้คดีความระหว่างทั้ง 2 คู่แข่งจบลงในที่สุด
Company Related Link :
Intel
ที่มา: manager.co.th