อากิฮิโกะ ซาไก ประธานกรรมการบริหารด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท ไซโก้ เอปสัน คอร์ปอเรอชัน ประเทศญี่ปุ่น ในงานประชุม Epson Environmental Press Forum 2010
ผู้บริหารเอปสันเผยจะเริ่มโครงการนำร่องรีไซเคิลตลับหมึกเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ตในประเทศไทยช่วงปี 2011 รับลูกล่วงหน้า "พ.ร.บ.การดูแลซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์" ที่จะเริ่มบังคับใช้จริงปี 2014 ระบุจะดึงบริษัทเฉพาะทางด้านการรีไซเคิลในประเทศไทยมาเป็นผู้ดำเนินการ ไม่ผ่านโรงงานรีไซเคิลของเอปสันอย่างที่เป็นในญี่ปุ่น โดยจะรับรีไซเคิลตลับหมึกพิมพ์ทุกแบรนด์ทุกค่าย ถือเป็นการปัดฝุ่นโครงการรีไซเคิลตลับหมึกในเมืองไทยที่เคยมีขึ้นแล้วแต่เงียบหายไปเมื่อหลายปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยกำลังตกเป็นรองประเทศในกลุ่มอาเซียนด้านการแก้ไขปมปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพราะเวียดนามและฮ่องกงนั้นจะเริ่มประกาศผลบังคับใช้กฏหมายลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างจริงจังในปีหน้านี้แล้ว ทำให้เอปสันประกาศว่าจะ "เดินทางไปศึกษาความเป็นไปได้"ใน 2 ประเทศนี้ช่วงต้นปี เพื่อลุยโครงการรีไซเคิลตลับหมึกพิมพ์ร่วมกับคู่แข่ง 6 รายใหญ่ในตลาดเครื่องพิมพ์ สไตล์เดียวกับที่ปฏิบัติในญี่ปุ่นตั้งแต่กลางปี 2008
ไทยยังได้แต่ทดลอง อากิฮิโกะ ซาไก ประธานกรรมการบริหารด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท ไซโก้ เอปสัน คอร์ปอเรชัน ประเทศญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในงานประชุม Epson Environmental Press Forum 2010 ว่าการขยายโครงการ "ซาโตกาเรอิ (Satogaeri)" ออกจากญี่ปุ่นมาสู่ประเทศอื่นในเอเชีย จะต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านกฏหมายและนโยบายการสนับสนุนของประเทศนั้นๆ ซึ่งทั้งหมดยังไม่ปรากฎในประเทศไทย
"ถ้ามีโอกาส เราก็จะเข้าไปเจรจากับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เราจะเข้าไปศึกษาในฮ่องกงและเวียดนามช่วงกุมภาพันธ์ปีหน้า แต่เรายังไม่มีโอกาสนั้นในประเทศไทย"
สิ่งที่เกิดขึ้นคือความร่วมแรงร่วมใจเรื่องการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศญี่ปุ่นจะยังไม่ขยายตัวสู่ประเทศไทย อย่างที่กำลังจะเกิดขึ้นในฮ่องกงหรือเวียดนาม เพราะการรีไซเคิลตลับหมึกในไทยที่เอปสันจะเริ่มโครงการในช่วงปีหน้าจะเป็นการทดลองในช่วงที่สังคมไทยยังไม่ตื่นตัวกับปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น
ซาโตกาเรอิ เป็นชื่อโครงการที่ 6 ผู้นำอุตสาหกรรมเครื่องพิมพ์ต่างค่ายมาร่วมมือกันเพื่อทำกระบวนการรีไซเคิลตลับหมึกพิมพ์เลเซอร์พรินเตอร์เก่าในประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ เอปสัน บราเดอร์ แคนนอน เดลล์ เอชพี และเล็กซ์มาร์ก ทั้งหมดถอดหมวก"คู่แข่ง"ทิ้งไปเพื่อความหวังในการลดจำนวนขยะอิเล็กทรอนิกส์จากการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องพิมพ์ โดยเปิดกว้างให้ผู้บริโภคนำตลับหมึกพิมพ์ไม่ใช้แล้วทุกยี่ห้อมาหย่อนในกล่องรวบรวม เพื่อเข้ากระบวนการรีไซเคิลของแต่ละค่ายตามชื่อ"ซาโตกาเรอิ"ซึ่งให้ความหมายว่าการส่งตลับหมึกพิมพ์กลับบ้าน
โครงการนี้ไม่ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลญี่ปุ่น แต่รัฐบาลสนับสนุนให้กระบวนการรวบรวมตลับหมึกใช้แล้วทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ งบประมาณที่เอปสันใช้เป็นงบประมาณการทำ CSR โดยค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ผู้ผลิตทั้ง 6 ก็แชร์กันเอง
เอปสันอธิบายว่า ตลับหมึกเก่าจะผ่านกระบวนการย่อยสลายหมึกตกค้าง โดยที่ทำการไปรษณีย์ญี่ปุ่น และหน่วยงานศูนย์กลางชุมชนในแต่ละท้องถิ่นจะสร้างกล่องเพื่อรวบรวมตลับหมึกอิงค์เจ็ทที่ใช้แล้ว จำนวนการตั้งกล่องทั่วประเทศจากเดิม 400 จุดกำลังจะเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 จุดในเร็ววันนี้
เอปสันเผยว่าตั้งแต่เริ่มโครงการในเดือนมิถุนายน 2008 ตลับหมึกมากกว่า 960,000 ชิ้นถูกรวบรวมมาสู่โรงงานรีไซเคิลของเอปสันในญี่ปุ่น (คำนวณจากยอดจำนวนกล่องที่รวบรวมได้ 2,400 กล่องต่อวัน กล่องละประมาณ 400 ตลับ) ทั้งหมดจะถูกคัดแยกและส่งคืนกลับไปยังแต่ละแบรนด์ที่ระบุไว้ในตลับ เพื่อเข้ากระบวนการรีไซเคิลและผลิตออกมาเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ และนำไปสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์อื่นต่อไป
ซาไกระบุว่า โครงการนี้สามารถขยายผลไปดำเนินการในเมืองใหญ่ทั่วเอเชียทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง กรุงเทพฯ ไทเป และจาการ์ต้า ยังไม่มีกำหนดการที่แน่นอนว่าจะเริ่มขึ้นเมื่อไรในขณะนี้ เพราะโครงการต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายในประเทศนั้นๆ ทั้งพฤติกรรมผู้บริโภค และนโยบายภาครัฐ
"ทั้ง 6 บริษัทในโครงการนี้เป็นคู่แข่งกัน แต่เรื่องสิ่งแวดล้อมเราต้องร่วมมือกัน การทำงานนี้จะไม่สำเร็จถ้าทำคนเดียว เราต้องร่วมมือกันโดยเฉพาะในเอเชีย หากประเทศในเอเซียยอมรับหลักการนี้ เอปสันก็ยินดีจะขยายโครงการนี้อย่างเต็มที่"
ขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-waste คือเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เสียหรือไม่มีใครต้องการแล้ว ตลับหมึกเครื่องพิมพ์ถือเป็นหนึ่งในขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นประเด็นวิตกกังวล เนื่องจากชิ้นส่วนหลายชิ้นในอุปกรณ์เหล่านั้น ถือว่าเป็นพิษ และไม่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้
กระแสไทยยังไม่แรง นายอนันต์พล นนทพันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป ด้านการบริการและบริหารองค์กร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่าสังคมไทยตื่นตัวด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่ไม่ตื่นตัวด้านการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้โครงการด้านสิ่งแวดล้อมของเอปสันในประเทศไทยขณะนี้อยู่ที่แนวคิดอนุรักษ์ป่าและโลกเป็นส่วนใหญ่
"โครงการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าจะเป็นการทดลองล่วงหน้าก่อนการบังคับใช้จริงของพ.ร.บ.ขยะอิเล็กทรอนิกส์ คนไทยยังไม่ให้ความสำคัญเรื่องการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์เท่ากับญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศอุตสาหกรรมหนัก ประกอบกับเราไม่มีโรงงานรีไซเคิลอย่างในญี่ปุ่น การทดลองจึงจะเป็นการร่วมมือกับบริษัทอื่นเพื่อส่งตลับหมึกที่รวบรวมได้เพื่อนำไปรีไซเคิลแบบให้เปล่าและไม่มีค่าใช้จ่าย เราจะโปรโมตในนามเอปสันแต่พร้อมรับตลับหมึกจากทุกค่าย โดยโครงการนี้จะไม่ทำให้ราคาผลิตภัณฑ์เอปสันสูงขึ้นแน่นอน"
เอปสันระบุว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นเพียงส่วนเดียวของนโยบายรักษาสิ่งแวดล้อมของบริษัท เพราะยังมีแนวคิดลดการใช้สารพิษในผลิตภัณฑ์ และเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน ซึ่ง 2 ส่วนนี้สะท้อนออกมาในรูปนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เอปสัน
โครงการรีไซเคิลตลับหมึกพิมพ์ในไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้บริษัทคู่แข่งของเอปสันอย่างบราเดอร์สได้เคยนำร่องโครงการนี้แล้ว แต่ถูกยกเลิกไปเพราะเรื่องดังกล่าวไม่มีผลกระทบในวงกว้างเนื่องจากปริมาณการใช้ตลับหมึกพิมพ์ของแท้ของคนไทยในยุคนั้นยังมีน้อย
อนันต์พลเชื่อว่าหลังการประกาศบังคับใช้พ.ร.บ.การดูแลซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ในปี 2014 สังคมไทยจะได้รับการกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ยิ่งขึ้น คาดว่าในช่วงปีดังกล่าวจะได้เห็นกล่องรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์แหร่หลายยิ่งขึ้น
"บริษัทผู้ขายก็จะมีจุดรวบรวมมากขึ้น เอปสันก็จะวางจุดรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามศูนย์บริการในห้างไอทีมากขึ้น ส่วนการขยายความร่วมมือกับบริษัทเครื่องพิมพ์คู่แข่ง ยังต้องรอการตัดสินใจของเอปสันสิงคโปร์ ซึ่งดูแลภูมิภาคอาเซียนทั้งกลุ่ม"
ผู้บริหารเอปสันยืนยันว่า การเก็บรวบรวมตลับพิมพ์เก่าเพื่อนำมารีไซเคิลและรักษาสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นการกระทำที่เอปสันไม่ได้รับประโยชน์ในรูปตัวเงินโดยตรง แต่แนวทางนี้ทำให้เอปสันสามารถดึงดูดความสนใจของสื่อ จึงทำให้ตั้งแต่ปี 2008 ที่เอปสันเริ่มกิจกรรมนี้ เอปสันสามารถลดงบประมาณประชาสัมพันธ์ลงได้หลายสิบล้านเยน แถมยังทำให้ยอดจำหน่ายของเอปสันดีขึ้นอีกด้วย
"ถึงไม่สร้างเงิน แต่โครงการก็สร้างคุณค่าให้บริษัทเราได้ เราไม่ได้ทำธุรกิจเพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมก็จริง แต่เพราะเราเป็นบริษัท สิ่งแวดล้อมจึงเป็นระบบแวดล้อมหนึ่งที่จะสนับสนุนให้บริษัทก้าวไปได้ ขณะเดียวกัน สิ่งแวดล้อมก็เป็นความต้องการของลูกค้าในญี่ปุ่น เราเป็นธุรกิจเราจึงต้องฟังเสียงผู้บริโภคให้มากที่สุด" ซาไกระบุ
เอปสันให้ข้อมูลว่า ยอดจำหน่ายของบริษัทในไตรมาสที่ 3 ปี 2010 นั้นมีมูลค่าราว 985,300 ล้านเยน ถูกแบ่งมาเป็นค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาความสามารถด้านสิ่งแวดล้อมราว 2,800 ล้านเยน โดย 73% ของ 2,800 เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
Company Related Link :
Epson
ที่มา: manager.co.th