Author Topic: ยันคนไทยยังรวยด้วยอเมซอนได้ แม้ถูกกฏเหล็กใหม่บีบ 1 พ.ค.นี้  (Read 1430 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Reporter

  • Moderator
  • Gold Member
  • *
  • Posts: 1093
  • Karma: +8/-0
  • Gender: Male
    • ซ่อมคอมเชียงใหม่

วันที่ 1 พฤษภาคม 2552 คือวันที่กฏใหม่ของอเมซอนมีผลบังคับใช้กับผู้ที่หารายได้จากการทำการตลาดให้อเมซอนหรือที่เรียกกันว่า Affiliate ในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย กฏใหม่นี้จะไม่อนุญาตให้ผู้ทำ Affiliate โฆษณาสินค้าใน Amazon.com ผ่านทางเสิร์ชเอนจินอย่าง Google หรือ Yahoo โดยตรงอีกต่อไปทั้งที่วิธีการดังกล่าวคือวิธีการหลักที่ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายและสะดวกง่ายดายที่สุด หลายฝ่ายกังวลว่ากฏนี้จะเกิดผลกระทบกับชาว Affiliate ทั้งในแง่การสูญเสียรายได้และต้องเผชิญขั้นตอนการดำเนินงานที่ยุ่งยากมากขึ้น ขณะที่เสิร์ชเอนจินอาจมีรายได้ลดลงหลายล้านเหรียญเพราะการประหยัดต้นทุนครั้งนี้ของอเมซอน
       
       เรื่องนี้ "ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์" กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินโฟจิเนชั่น จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจออนไลน์วิเคราะห์ถึงกฏใหม่ของอเมซอนนี้ในงานเปิดตัวหนังสือ "Amazon Make Me Rich" ว่ากฏใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเล็กแม้จะสร้างความตื่นตะลึงให้แก่สังคม Affiliate ชาวไทยหลายคน ระบุว่ายังมีทางออกให้หารายได้อีกหลายทาง อาจทำให้ผู้ทำ Affiliate ที่ไม่จริงจังถอนตัวไปเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็เป็นโอกาสอันดีที่คู่แข่งมีจำนวนน้อยลง
       
       ตราวุทธิ์ยืนยันด้วยว่า กฏใหม่นี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการ Make Me Rich หรือสร้างความร่ำรวยตามชื่อหนังสือ เพราะอเมซอนบังคับใช้กฎใหม่กับโดเมนอเมซอนบางชื่อเท่านั้น เท่ากับคนไทยยังสามารถทำโฆษณา Amazon ในโดเมนของประเทศอื่นๆได้ต่อไป เช่น อังกฤษ เยอรมัน และฝรั่งเศส
       
       หลายคนเครียดกฏใหม่
       
       Affiliate คือการเป็นตัวแทนขายสินค้าให้อเมซอนเพื่อรับค่าคอมมิชชันจากการขาย ได้รับความนิยมมากเพราะผู้สนใจสามารถหารายได้โดยไม่ต้องมีสินค้าของตัวเอง ไม่มีต้นทุนค่าสินค้าและค่าขนส่ง แต่ลงแรงทำการตลาดเพียงอย่างเดียว โดยอเมซอนไม่ได้มีสินค้าเฉพาะหนังสืออย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่มีสินค้าหลายประเภทโดยเฉพาะสินค้าที่มีราคาแพงอย่างกล้องดิจิตอล ซึ่งมีค่าคอมมิชชันสูงตามราคาจำหน่าย
       
       หนึ่งในวิธีการทำการตลาดให้อเมซอนที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือการไปประมูลคีย์เวิร์ดหรือคำสืบค้นกับผู้ให้บริการเสิร์ชเอนจินอย่างกูเกิล ยาฮู หรือไลฟ์ดอทคอม แล้วทำลิงก์ส่งให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่สืบค้นด้วยคีย์เวิร์ดซึ่งสอดคล้องกับสินค้าที่ชาว Affiliate ทำการตลาดให้ เข้าไปซื้อสินค้าบนเว็บอเมซอนได้โดยตรง ต้นทุนหลักที่เสียคือค่าประมูลคีย์เวิร์ดซึ่งคิดค่าใช้จ่ายตามจำนวนคลิกหรือ Pay Per Click (PPC) เท่านั้น ซึ่งเป็นการลงทุนให้คนเข้าไปดูสินค้า หากมีการซื้อขายเกิดขึ้นก็ได้รับส่วนแบ่ง
       
       วันที่ 6 เมษายน อเมซอนส่งจดหมายแจ้งสมาชิกผู้ทำ Affiliate ในหลายประเทศนอกสหรัฐฯและแคนาดา ว่าไม่อนุญาตให้มีการส่งทราฟฟิกเข้าสู่เว็บ Amazon.com, Amazon.ca และ endless.com โดยตรงจากเสิร์ชเอนจินตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2552 เป็นต้นไป โดยบริษัทจะไม่จ่ายค่าคอมมิชชันจากการขายผ่านการตลาดวิธีนี้ ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายกว่าวิธีการอื่นมากมายนัก เช่น การสร้างเว็บไซต์ขายสินค้าโดยเฉพาะ แล้วมาปรับแต่งให้เสิร์ชเอนจินแสดงลิงก์เว็บในหน้าผลการค้นหาหน้าแรกหรือ SEO
       
       อเมซอนไม่ได้ไขข้อข้องใจว่าเหตุใดจึงตั้งกฎนี้ขึ้นมาบีบผู้ทำ Affiliate โดยคำถาม FAQ ในเว็บไซต์อเมซอนระบุเพียงว่า เป็นการตัดสินใจบนการทบทวนเรื่องการลงทุนงบการโฆษณาของบริษัท
       
       "ผมคิดว่าอเมซอนยกเลิกเรื่องนี้เพราะเห็นว่าการทำรายได้จากตรงนี้มีมูลค่าเยอะมากจนต้องคิดว่าเบรกก่อนดีกว่า กฎนี้มีผลกับเฉพาะ .com .ca แต่เทคนิกการตลาดทั้งหมดยังสามารถใช้ได้กับ .uk .de .jp หรือ .cn ที่กำลังจะเกิด เทคนิคพวกนี้เรียนรู้ครั้งเดียวใช้ได้ทั่วโลก และวิกฤตแบบนี้ก็ไม่ได้เกิดกับ Affiliate ของอเมซอนรายเดียวแต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้ เช่นกับอีเบย์ ยังมีทางออกอื่นเช่นการทำเว็บขึ้นมาแล้วใช้ SEO ให้ยิงทราฟฟิกเป็น 2 ต่อ เชื่อว่าวันที่ 1 พ.ค. จะทำให้คู่แข่ง Affiliate หายไปเกือบ 90% ถ้าเราหาอะไรมาพลิกวิกฤตได้ก็จะเป็นโอกาสที่ดี" ตราวุทธิ์กล่าว
       
       นอกจากความต้องการประหยัดต้นทุนการตลาดของอเมซอน ตราวุทธิ์เชื่อว่ากฎนี้ถูกร่างมาเพื่อแก้ไขปัญหาการโฆษณาที่ผิดกฎหมายซึ่งทำให้อเมซอนเสื่อมเสียชื่อเสียง เช่น การประกาศราคาที่ไม่ตรงความจริง เป็นต้น ขณะเดียวกันก็อาจเป็นหมากที่อเมซอนวางไว้ให้ผู้ทำ Affiliate หันมาโปรโมตอเมซอนนามสกุลอื่นที่ไม่ใช่ .com หรือ .ca ที่มีการซื้อขายมากมายอยู่แล้ว
       
       ตราวุทธิ์ยอมรับว่าคนไทยที่ทำ Affiliate ตื่นตกใจกับข่าวนี้มากในช่วงแรก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ต้องหาทางปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงที่จะตามมา แม้แต่ธนาคารกรุงเทพเองก็กังวลเกี่ยวกับกฎใหม่นี้เช่นกัน ในฐานะที่เป็นตัวกลางยอดนิยมในการโอนเงินจากอเมซอนสู่บัญชีคนไทย
       
       "ผมออกหนังสือมาสองเดือนกว่าเพิ่งได้รับเมลจากอเมซอนก็เครียด บางคนวางแผนทั้งปีไว้แล้วว่าจะทำการตลาดสินค้าให้อเมซอนอย่างไรก็ต้องเปลี่ยนแผน คนของธนาคารกรุงเทพก็ยังกังวลว่ายอดเงินโอนจะลดฮวบซึ่งผมแนะว่าต้องเปิดบริการ Direct Deposit จาก UK เลย สรุปแล้วผลที่เกิดขึ้นคือทุกคนงานหนักขึ้น ต้องคิดมากขึ้น และเรียนรู้มากขึ้น เชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเรื่องเล็ก คนที่ไม่เก่งจริงก็จะหายไป"
       
       ตราวุทธิ์ประเมินว่าที่ผ่านมา คนไทยสามารถทำรายได้จาก Affiliate หลายล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ รายได้เฉลี่ยผู้ที่ทำจริงจังอยู่ที่หลักพัน-หมื่นเหรียญ สินค้าที่นิยมมากๆเคยมีสถิติขายได้ 6 ชิ้นต่อวินาที คิดว่าเมื่อกฎนี้มีผลบังคับใช้จะทำให้รายได้ในส่วนนี้ลดลงบ้างแต่ไม่สามารถประมาณค่าได้ เช่นเดียวกับเว็บเสิร์ชเอนจินที่รายได้อาจหดหายไป
       
       "นอกจากทำโฆษณาบนอเมซอนประเทศอังกฤษ เยอรมนี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ออสเตรีย และจีนแทน ผมเองเตรียมเขียนโปรแกรมสำหรับดึงรายการสินค้าของอเมซอนขึ้นมาโชว์ตามคีย์เวิร์ดบนเว็บของตัวเอง ขณะที่บางคนก็ใช้วิธีหาสินค้าอเมซอนมา Feed บนเว็บล็อก Wordpress ได้เลย เชื่อว่าถ้าวางเป้าหมายรายได้ที่ 100 เหรียญต่อเดือน เทคนิกที่ผมเขียนในหนังสือเล่มนี้สามารถทำได้อยู่แล้ว"
       
       Affiliate เว็บไทยไม่ได้เงิน
       
       ตราวุทธิ์บอกว่าการทำ Affiliate แก่เว็บขายปลีกไทยนั้นทำได้แต่ไม่ค่อยได้รับเงิน เนื่องจากพฤติกรรมคนไทยที่ยังขาดความเชื่อมั่น ใช้วิธีโทรไปสั่งของกับทางเว็บโดยตรงซึ่งทำให้ไม่เกิดการซื้อขายผ่านคนกลางเช่นอเมซอน โดยสาเหตุที่อีคอมเมิร์ซเมืองไทยไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรทั้งที่ความนิยมของการทำ Affiliate ของคนไทยนั้นมีมูลค่าสูงและมีทิศทางขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตราวุทธิ์เชื่อว่าเป็นเพราะขาดการสนับสนุนจากภาครัฐและพฤติกรรมเฉพาะตัวของคนไทย
       
       "หนึ่งคือรัฐบาลต้องช่วย ช่วงแรกคนอเมริกันก็ไม่ซื้อสินค้าออนไลน์แต่พอรัฐฯกระตุ้นด้วยการประกาศลดภาษี และกำหนดนโยบายคืนสินค้าให้ การซื้อสินค้าออนไลน์ก็เป็นที่นิยม สองคือต้องแก้ที่ความคิดคนไทย คนไทยยังไม่เชื่อมั่นการซื้อสินค้าออนไลน์เพราะกลัวจะถูกหลอกลวง คนที่ซื้อมักเป็นคนกรุงเทพฯที่สามารถซื้อสินค้าตามห้างได้ สามคือเรื่องไอเดียหรือความคิด ต่างชาติมี Twitter มีโมเดลใหม่มาต่อยอดธุรกิจออนไลน์สม่ำเสมอขณะที่คนไทยยังยึดติดกับการทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์รูปแบบเดิมๆ ที่สำคัญ คนไทยต้องอย่ากลัวเรื่องภาษา ต้องทำเป็นภาษาอังกฤษ ขอบอกว่าทำเว็บหนึ่งขึ้นมานั้นเหนื่อยเท่ากัน แต่ถ้ามีภาษาอังกฤษนั้นกลุ่มตลาดคนละขนาดเลย เพราะมันทั่วโลก" ตราวุทธิ์กล่าว
       
       นอกจาก Amazon Make Me Rich อินโฟจิเนชันยังเปิดตัวหนังสือ Flixya Make Me Rich ซึ่งให้ความรู้ถึงวิธีการสร้างรายได้จากการโฆษณาบนเว็บไซต์เครือข่ายสังคมอย่าง Flixya ที่ไม่ต้องมีต้นทุนการจดโดเมนเนมหรือการเช่าโฮส วางจำหน่ายแล้วตามร้านหนังสือทั่วไป

ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)