ฟอร์ติเน็ตมุ่งเน้นตลาดองค์กรโทรคมนาคม หลังแนวโน้มเทคโนโลยีที่มีการใช้ไอพีมากขึ้น พร้อมให้ความสำคัญกับพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งเป็นแขนขา และหัวหอกในการทำตลาด
นาย พีระพงศ์ จงวิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท ฟอร์ติเน็ต อินเตอร์เนชันแนล อิงค์ ผู้ให้บริการผลิตภัณฑ์ความปลอดภัยเครือข่ายด้านการจัดการภัยคุกคามแบบหลอมรวม หรือ Unified Threat Management (UTM) กล่าวว่า การทำตลาดเกี่ยวกับอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยบนเครือข่ายก่อนหน้านี้จะเป็นการซื้อเฉพาะชิ้น แต่ด้วยวิวัฒนาการและวัฎจักรของเทคโนโลยีทำให้ การทำตลาดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประเภทนี้เปลี่ยนตามสถานการณ์ ฟอร์ติเน็ตจึงหันมาทำตลาดแบบโซลูชันที่ผสมผสานเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยไว้ ในตัวเดียว หรือที่เรียกว่า UTM และเป็นเจ้าเดียวที่สามารถทำได้ในขณะนี้
“การทำตลาดเรื่องซิเคียวริตีจะทำเหมือนยามแค่เปิดประตูดูบัตรคงไม่ได้ เพราะภัยคุกคามมาหลายรูปแบบ โปรดักส์จะต้องตอบโจทย์ลูกค้ได้ทั้งหมด เราจึงทำเป็นโซลูชัน เพราะเทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถเชื่อมต่อกันได้หมด”
สำหรับฟอร์ติเน็ตดำเนินธุรกิจมาครบ 10 ปี จนติด 1 ใน 10 ของตลาดระบบความปลอดภัยบนเครือข่ายโลก ส่วนในไทยเข้ามาทำตลาดได้ประมาณ 7 ปี และมีส่วนแบ่งตลาด 23% รองจากซิสโก้ที่ส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 26%
“เรากับซิสโก้แชร์ห่างกันไม่มาก แต่ถ้าดูเฉพาะเรื่องของผลิตภัณฑ์ด้านความปลอดภัยหรือซิเคียวริตี”
สิ่งที่ทำให้ฟอร์ติเน็ตโตอย่างรวดเร็วโดยเฉลี่ยทั่วโลกโตปีละ 33% และมีรายได้รวมในปีที่ผ่านมา 252 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะฟอร์ติเน็ตเป็นอินเฮาส์ ซึ่งไม่ต้องซื้อสินค้าจากผู้ผลิตรายอื่น ทำให้มีต้นทุนต่ำในการทำตลาด และสามารถทำราคาได้เหมาะสมกับประสิทธิภาพของสินค้า
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นสินค้าหลักของฟอร์ติเน็ตคือ ฟอร์ติเกต และเริ่มรุกในระบบอุปกรณ์ที่เรียกว่าฟอร์ติเมลเมื่อ 2 ปีที่ผ่าน ซึ่งตลาดนี้เริ่มโตอย่างต่อเนื่อง เพราะมีการใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต โปรโตคอล (ไอพี) มากขึ้น ซึ่งเป็นแนวโน้มของตลาดทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย
“ทุกวันนี้ไอพีจะมีอยู่บนเครือข่ายอุปกรณ์สื่อสารเกือบทุกชนิด ซึ่งผู้ใช้ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีเทคโนโลยีพวกนี้อยู่ จึงทำให้เกิดภัยคุกคามที่หลากหลาย เมื่อก่อนจะมีแค่ไฟร์วอลล์ป้องกัน แต่ขณะนี้ต้องมีระบบรักษาความปลอดภัยให้กับอีเมลด้วย เพราะเมลที่เราไม่ต้องการหรือเมลขยะจะกินแบนด์วิดท์ที่เรามีอยู่”
นายพีระพงศ์กล่าวว่า ขณะนี้ตลาดไฟร์วอลล์เริ่มลดลง แต่ตลาด UTM เริ่มโตขึ้น และปีหน้าเชื่อว่าเกือบทุกองค์กรจะมีการติดตั้งเทคโนโลยี UTM เพราะมีการหลอมรวมเทคโนโลยีระบบความปลอดภัยไว้ในตัวเดียว
ด้าน กลยุทธ์ในการทำตลาดฟอร์ติเน็ตจะให้ความสำคัญกับพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ 1. ตัวแทนจำหน่ายซึ่งขณะนี้มี 3 รายคือ เอสไอเอส, ไอทีดีซี และเดอะ แวลลู ซิสเต็มส์ 2. ประเภทพาร์ตเนอร์ โปรแกรม ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 ระดับคือ โกลด์ ซึ่งมี 3 ราย ซิลเวอร์มี 27 ราย และบลอซ์ 100 ราย ขึ้นอยู่กับลักษณะของการทำตลาดและความเชี่ยวชาญของแต่ละราย
“เราจะให้ความสำคัญกับพาร์ตเนอร์มาก เพราะเป็นช่องทางในการทำตลาดของเรา และเราต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด”
ส่วนลูกค้าของฟอร์ติเน็ตมี ตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ เพราะมีสินค้าครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย แต่ตลาดที่มีขนาดใหญ่จะเป็นขนาดกลางถึงเล็ก แต่จากนี้ไปฟอร์ติเน็ตจะโฟกัสองค์กรขนาดใหญ่มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรประเภทโทรคมนาคม เพราะมีโครงการขนาดใหญ่ และต้องการประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยสูง ส่วนลูกค้าในไทยที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ขณะนี้มี กสท โทรคมนาคม ทรูอินเตอร์เน็ต และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานราชการต่างๆ และอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย
Company Related Link :
Fortinet
ที่มา: manager.co.th